xs
xsm
sm
md
lg

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยกำชับพม่าให้เร่งดำเนินการโน้มน้าวโรฮิงญากลับประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - พม่าจะต้องแสดงผลลัพธ์ที่จะช่วยโน้มน้าวผู้ลี้ภัยโรฮิงญาให้เดินทางกลับประเทศ ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันศุกร์ (24) หลังเสร็จสิ้นภารกิจเดินทางเยือนพม่าครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาในปี 2560

การปราบปรามอย่างรุนแรงของทหารในรัฐยะไข่ บังคับให้ชาวโรฮิงญากว่า 740,000 คน ต้องอพยพข้ามพรมแดนไปฝั่งบังกลาเทศ เวลานี้มีชาวโรฮิงญาราว 1 ล้านคน ที่อพยพหลบหนีจากการกดขี่ข่มเหงในพม่าหลายระลอก อาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ

ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติเรียกร้องให้นายพลระดับสูงของพม่าถูกดำเนินคดีจากการล้างเผ่าพันธุ์ และศาลอาญาระหว่างประเทศได้เริ่มกระบวนการการสืบสวนเบื้องต้นแล้ว

ระหว่างการเยือนพม่า กรันดี ได้พูดคุยกับทั้งชาวโรฮิงญาและชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่ในเมืองหม่องดอ และบุติด่อง ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของความรุนแรง และยังได้พบหารือกับเจ้าหน้าที่ในกรุงเนปีดอ รวมทั้งนางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนของประเทศ ที่ระบุว่า การหารือทั้งหมดเป็นไปอย่างสร้างสรรค์

“ข้อความของผมคือได้โปรดเร่งความเร็วขึ้นเพราะการดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างเชื่องช้าในช่วงปีแรกนี้ เราต้องการให้แสดงผลลัพธ์” กรันดี กล่าวให้สัมภาษณ์ในนครย่างกุ้ง

“สิ่งนี้ยังไม่เพียงพอที่จะโน้มน้าวให้ผู้คนเดินทางกลับมา” กรันดี กล่าวย้ำ

กรันดีได้เดินทางเยือนค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศเมื่อเดือน เม.ย. โดยทั้งสองประเทศได้ลงนามข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผู้ลี้ภัยแม้แต่รายเดียวเดินทางกลับ เนื่องจากวิตกกังวลถึงประเด็นความปลอดภัยและไม่เชื่อว่าจะได้รับสิทธิพลเมือง

พม่าตราชาวโรฮิงญาว่าเป็นเบงกาลี ที่หมายถึงผู้ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และชุมชนชาวโรฮิงญาถูกลิดรอนสิทธิมาเป็นเวลาหลายสิบปี

การเข้าถึงอย่างอิสระในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่เป็นเรื่องยากลำบาก ที่ทั้งนักข่าว ผู้สังเกตการณ์ และนักการทูต ได้รับอนุญาตให้ลงพื้นที่ได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ และอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

กรันดี ยังกล่าวปกป้องการมีส่วนร่วมของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในแผนของรัฐบาลบังกลาเทศที่จะย้ายผู้ลี้ภัย 100,000 คน ไปอาศัยอยู่บนเกาะ Bhashan Char ที่อยู่ในอ่าวเบงกอลซึ่งเสี่ยงเกิดน้ำท่วมและเผชิญต่อพายุไซโคลน

กลุ่มสิทธิมนุษยชนคัดค้านโครงการดังกล่าวที่จนถึงเวลานี้ชาวโรฮิงญาก็ปฏิเสธแผนการกันอย่างกว้างขวาง

หน่วยงานผู้ลี้ภัยจำต้องเกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อมูลจำเป็นเพื่อที่จะแสดงจุดยืนต่อปัญหาได้ กรันดี กล่าว

“เราอยู่ในขั้นตอนนั้น ไม่มีมากไปกว่านั้น” กรันดี กล่าว

กรันดี ยังเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยใกล้เมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ที่ชาวโรฮิงญาเกือบ 130,000 คน ถูกกักตัวตั้งแต่เหตุรุนแรงครั้งก่อนหน้าในปี 2555

พม่าประกาศที่จะปิดค่ายต่างๆ แต่หลายคนแสดงความสงสัยว่าผู้พลัดถิ่นเหล่านี้จะได้รับเสรีภาพมากขึ้นหรือไม่

กรันดี กล่าวว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติจะทบทวนบทบาทของหน่วยงานเกี่ยวกับการจัดหาบริการต่างๆ หากสภาพเงื่อนไขไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“เช่นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงค่ายพัก การปรับปรุงบ้านพัก เป็นต้น แต่การปล่อยให้พวกเขาอยู่ในสถานการณ์เดิมๆ จะไม่เป็นการแก้ไขปัญหา” กรันดี กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น