xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพม่าแห่เสี่ยงโชคขุดหาทับทิมโมก๊อก หลังรัฐบาลแก้กฎหมายอุตสาหกรรมเหมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ลึกลงไปใต้ดิน คนงานเหมืองอย่างไม่เป็นทางการหลายพันคนเสี่ยงชีวิตตัวเองเสาะหาอัญมณีสีแดงสดเมื่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้หยิบยื่นโอกาสให้ผู้คนในดินแดนแห่งทับทิมของประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดิ กษัตริย์ หรือผู้นำทหารต่างต่อสู้มาเป็นเวลายาวนานเหนือดินแดนหุบเขาโมก๊อก ในเขตมัณฑะเลย์ ที่หิน “เลือดนกพิราบ” ซุกซ่อนอยู่ใต้ดิน

ทับทิมโมก๊อกมีราคาแพงที่สุดในโลกเนื่องจากมีคุณภาพสูง สร้างรายได้หลายล้านดอลลาร์ให้แก่อุตสาหกรรมที่อื้อฉาวเพราะกฎหมายหย่อนยานแห่งนี้

เป็นเวลานานหลายปี ที่บริษัทเอกชนต่างๆ ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการทำเหมืองในรูปของบริษัทร่วมทุนกับบริษัท Myanmar Gems Enterprise ที่เป็นกิจการของรัฐ แต่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเมื่อไม่นานนี้ ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมบริษัทเหมือง เป็นผลให้ใบอนุญาตดำเนินกิจการจำนวนมากไม่ได้รับการต่ออายุ และเปิดทางให้แก่นักขุดท้องถิ่นเหล่านี้

เนื่องจากไม่มีการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ทำให้คนท้องถิ่นจำนวนมากที่หลายคนเคยเป็นพนักงานของบริษัทเหมืองต่างเข้ามาเสี่ยงโชคในพื้นที่

ในเวลานี้ เพิงพักชั่วคราวที่บางหลังตั้งอยู่ห่างกันเพียงไม่กี่เมตรผุดขึ้นเต็มพื้นที่ พร้อมกับสมาชิกในกลุ่มที่ทำงานกันตลอดเวลาเพื่อยกถังที่เต็มไปด้วยดินขึ้นจากหลุมลึกราว 30 เมตร

หลุมลึกที่นำไปสู่อุโมงค์เขาวงกตที่มีไม้ไผ่ค้ำยัน มีขนาดกว้างพอให้ผู้ชายลงไปได้ พร้อมกับท่อส่งออกซิเจน

“บางครั้งคุณก็ขุดไปชนกับอุโมงค์อื่น” คนงานเหมืองไม่เปิดเผยชื่อ กล่าว ขณะพักอยู่นอกหลุมเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนและมีไฟฉายสวมที่ศีรษะ พร้อมกับวิทยุสื่อสาร

สมาชิกในทีมลากถังไปที่บ่อโคลนเพื่อล้างดินออกและร่อนตะแกรงเพื่อหาหินสีแดงแวววาว

ตำรวจเริ่มออกลาดตระเวนในบางพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่นักสำรวจว่าพวกเขาจะถูกปราบปรามในเร็วๆ นี้

อุโมงค์ถล่มเป็นภัยคุกคามตลอดการช่วงชิงความร่ำรวยของเหล่านักขุดเหล่านี้ และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

แม้จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงและขุดพบเพียงน้อยนิด แต่ประเด็นเรื่องกำไรทำให้ยากที่จะต้านทาน

คนงานรายหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพีว่า ทีมของพวกเขาที่มีอยู่ 5 คน ขุดพบทับทิมเพียง 1 ชิ้นในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งพวกเขาขายได้เงิน 100,000 จ๊าต (ประมาณ 2,000 บาท)

“จนถึงตอนนี้ เราใช้เงินไปแล้วราว 600,000 จ๊าต กับน้ำมันและเครื่องจักร” คนงานกล่าว และว่าพวกเขาไม่สามารถขุดดินลงไปได้ลึกมากพอ

อุตสาหกรรมทับทิมพม่าเติบโตสูงในช่วงกลางทศวรรษ 90 เมื่ออดีตรัฐบาลเผด็จการทหารอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้าดำเนินกิจการได้เป็นครั้งแรก ซึ่งบริษัทเหล่านั้นได้นำวิธีการทางอุตสาหกรรมเข้ามาใช้ แต่การคว่ำบาตรของตะวันตกส่งผลกระทบอย่างหนัก

ในปี 2551 สหรัฐฯ ปิดช่องโหว่ทางกฎหมายที่เปิดทางการนำเข้าอัญมณีจากพม่า เพื่อที่จะทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารขาดเงินทุน หลังจากนั้น มาตรการคว่ำบาตรอย่างเฉพาะเจาะจงได้ถูกยกเลิกไปเมื่อรัฐบาลของนางอองซานซูจีขึ้นบริหารประเทศในปี 2559

แต่อุตสาหกรรมเหมืองยังคงมีมลทินจากเรื่องการทุจริคอร์รัปชัน ความขัดแย้ง และความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับบุคคลที่เชื่อมโยงกับทหารและกลุ่มติดอาวุธ

ทับทิมมูลค่าสูงมักถูกลักลอบข้ามพรมแดนไปยังไทย หรือจีนเพื่อจำหน่ายโดยตรงกับผู้ซื้อหรือทำเป็นเครื่องประดับ ส่วนทับทิมที่เหลืออยู่จำนวนมากจบลงที่ตลาดโมก๊อก ที่บรรดาพ่อค้าใช้ไฟฉายและแว่นขยายตรวจสอบอัญมณี ซึ่งบรรดาพ่อค้าต่างกล่าวว่า ช่วงเฟื่องฟูได้ผ่านพ้นไปแล้ว

“ทุกวันนี้เราเห็นแต่อัญมณีคุณภาพต่ำ” เจ้าของร้านที่อยู่ในธุรกิจมานานกว่า 25 ปี กล่าว.














กำลังโหลดความคิดเห็น