รอยเตอร์ - ในขณะที่ภาคการบินของเวียดนามกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในอัตราตัวเลข 2 หลัก สายการบินแบมบูแอร์เวย์ส (Bamboo Airways) สายการบินท้องถิ่นน้องใหม่ล่าสุดของประเทศกำลังหวังให้กีฬากอล์ฟเป็นแนวทางใหม่ที่สร้างความโดดเด่นและแตกต่างให้แก่สายการบินในตลาดที่หนาแน่นแห่งนี้
การแข่งขันระหว่างสายการบินต่างๆ ในเวียดนามทวีความร้อนแรงขึ้นนับตั้งแต่แบมบูแอร์เวย์สเริ่มให้บริการในเดือน ม.ค. ขณะที่บริษัทแอร์เอเชีย กรุ๊ปของมาเลเซียเพิ่งยกเลิกแผนเข้ามาดำเนินกิจการในตลาดเวียดนาม การจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นกำลังสร้างแรงกดดันต่อโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้งานมานานของเวียดนาม
แต่ผู้บริหารระดับสูงของสายการบินแบมบู นายจีง วัน เกวียต มั่นใจว่าเขาสามารถหลีกหนีคู่แข่งอย่างสายการบินเวียดเจ็ท (VietJet) ที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ และสายการบินเวียดนาม (Vietnam Airlines) ซึ่งเป็นสายการบินของรัฐ ด้วยการใช้สายการบินของตัวเองเชื่อมกอล์ฟรีสอร์ตของเขา กับเมืองต่างๆ ในเวียดนาม และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
“แม้แต่สายการบินระหว่างประเทศก็ไม่มีอีโคซิสเต็มแบบสายการบินแบมบู” จีง วัน เกวียต ประธานบริษัท FLC ที่เป็นเจ้าของกอล์ฟรีสอร์ต 5 แห่งทั่วประเทศ และเป็นบริษัทแม่ของสายการบินแบมบู กล่าว
สโลแกนของสายการบินคือ “เป็นมากกว่าเที่ยวบิน”
“เรามีห้องพักและชุดแพกเกจสำหรับผู้โดยสาร พวกเขาสามารถเที่ยวเวียดนาม พักโรงแรมและเล่นกอล์ฟได้ฟรี” เกวียต กล่าวกับรอยเตอร์ในการให้สัมภาษณ์จาก FLC รีสอร์ตในอ่าวฮาลอง
เกวียตกำลังคาดหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งเป็นปลายทางของเส้นทางบินระหว่างประเทศกลุ่มแรกๆ ของสายการบินแบมบู
โฆษกของบริษัทกล่าวว่า สายการบินแบมบูสามารถจำหน่ายแพกเกจภายในประเทศในช่วงฤดูร้อนนี้ได้หมดเกลี้ยง
แพกเกจของบริษัทเป็นเที่ยวบินจากนครโฮจิมินห์ไปยังรีสอร์ตของบริษัทในภาคเหนือของประเทศในราคาเพียง 500 ดอลลาร์ ซึ่งถูกกว่าการจ่ายค่าเครื่องบินและค่าธรรมเนียมเล่นกอล์ฟแยกกัน โฆษกบริษัท กล่าว
การท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ที่เดินทางไปเวียดนามเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจากแดนโสมในเดือน ม.ค. ถึงเดือน เม.ย.ปีนี้ เพิ่มขึ้น 23.3% จากปีก่อนหน้าที่ 1.45 ล้านคน ตามการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
“ผมไม่เคยได้ยินเรื่องสายการบินแบมบูมาก่อน ผมหาข้อมูลเรื่องนี้ระหว่างเดินทางมาที่นี่” คิม ยอง-จิน นักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ที่ชื่นชอบการเล่นกอล์ฟ ที่เพิ่งพัตลูกลงหลุม 11 ในรีสอร์ตอ่าวฮาลอง กล่าว
คิมเดินทางมาเวียดนามด้วยสายการบินเวียดนาม แต่ระบุว่า เขาสนใจแพกเกจของสายการบินแบมบู
เจ้าหน้าที่ของบริษัทแปซิฟิกแอร์เอเจนซี่ในกรุงโซล ที่สายการบินแบมบูว่าจ้างให้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ดึงดูดลูกค้าในเกาหลีใต้ ระบุว่า พวกเขาคาดว่าความต้องการของนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น
“นั่นจะช่วยให้สายการบินแบมบูสามารถขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศได้” เจ้าหน้าที่ กล่าว โดยแปซิฟิกแอร์เอเจนซี่วางแผนที่จะเริ่มโปรโมตแบมบูในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้
นอกจากเสนอแพกเกจให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว สายการบินยังหวังที่จะใช้กอล์ฟดึงดูดนักบินด้วยเช่นกัน
ในประกาศโฆษณาตำแหน่งงานทางออนไลน์ สายการบินระบุว่า นักบินเครื่องบินโบอิ้ง 787 จะสามารถใช้บริการออกรอบที่ FLC รีสอร์ตได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ในช่วงต้นเดือน พ.ค. รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคมเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า กระทรวงของเขาได้รับเรื่องร้องเรียนจากสายการบินเวียดนาม ที่เป็นสายการบินของรัฐ ว่ากำลังเสียนักบินของสายการบินให้แก่สายการบินแบมบู
“มันเป็นการทำงานของตลาด และรัฐก็ไม่สามารถแทรกแซงเรื่องนี้ได้มากนัก” รัฐมนตรีช่วยกล่าวในที่ประชุม ตามการรายงานบนเว็บไซต์ของรัฐบาลเวียดนาม
สายการบินเวียดนาม ที่รัฐถือหุ้นมากกว่า 80% ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น
เกือบ 1 ใน 3 ของนักบินประจำเครื่องบินโบอิ้ง 787 ของสายการบินเวียดนาม ลาออกจากสายการบินในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้สายการบินแห่งชาติเข้าสู่สถานการณ์ขาดแคลนนักบิน สถานีโทรทัศน์ของรัฐรายงานเมื่อวันที่ 9 พ.ค. นอกจากนั้น เงินเดือนที่สายการใหม่เสนอให้ยังสูงกว่าสายการบินเวียดนามอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้นักบินไม่สามารถต้านทานได้
แม้จีดีพีของประเทศเพิ่มสูงและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่สายการบินแบมบูอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งที่จะก้าวไปถึงจุดที่ทำกำไร ตามการวิเคราะห์ของซูกอร์ ยูซอฟ จากบริษัท Endau Analytics ที่ให้คำปรึกษาด้านอากาศยาน
“ยังมีโอกาสที่สายการบินสามารถทำกำไรได้หากสายการบินทนรับต่อภาวะขาดทุนได้ในช่วง 2-3 ปีแรก” ยูซอฟ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จีง วัน เกวียต กล่าวกับรอยเตอร์ว่า เขาคาดหวังให้แบมบู ที่มีเส้นทางบินภายในประเทศ 20 เส้นทาง และกำลังวางแผนที่จะให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศไปยังเมืองต่างๆ ให้มากถึง 40 เมือง จะสามารถทำกำไรได้อย่างเร็วที่สุดในปีหน้า
บริษัท FLC รายงานผลกำไรสุทธิของปีที่ผ่านมาที่ 470,000 ล้านด่ง (ราว 20.13 ล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 22% จากปี 2560
แม้เครื่องบินทั้ง 10 ลำของแบมบูจะเป็นแบบสัญญาเช่า แต่สายการบินได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัทโบอิ้งและแอร์บัสจัดซื้อเครื่องบินหลายสิบลำ โดยเครื่องบินโบอิ้ง 787 ลำแรกของแบมบูมีกำหนดส่งมอบในไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า และแอร์บัส A321 ลำแรก จะส่งมอบในปี 2565
เกวียต กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ทุนที่ใช้ในการจัดซื้อเครื่องบินมาจากบริษัทแบมบู บริษัท FLC และเงินกู้ยืมจากธนาคารเวียดนาม และธนาคารต่างประเทศ
จากทนายความสู่นักธุรกิจ เกวียต ระบุว่า เขาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้บริษัท FLC และภายในปี 2559 เขากลายเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์คนที่สองของเวียดนาม และเริ่มมุ่งความสนใจมาที่เครื่องบินนับแต่นั้น.