คลิปไปชมภาพทั้งหมดที่ https://www.newsvl.ru/vlad/2019/04/13/179786/
MGR ออนไลน์ -- รัสเซียได้แสดงความชื่นชมการไปเยือนนครวลาดิวอสต็อก (Vladivostok) ของเรือรบราชนาวีไทยจำนวน 2 ลำที่มีขึ้นในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมานี้ ซึ่งเป็นการเยือนเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี และฝ่ายเจ้าภาพกล่าวว่า แสดงให้เห็นสายสัมพันธ์สองฝ่ายที่พัฒนารุดหน้าไป เช่นเดียวกับความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างสองมิตรประเทศ ที่มีสายสัมพันธ์ต่อกันมายาวนานกว่า 100 ปี
นี่คือเหตุการณ์สำคัญที่เริ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ -- ภาพที่เผยแพร่โดยสื่อท้องถิ่นนครวลาดิวอสต็อก แสดงให้เห็นเรือหลวงนเรศวร (421) กับเรือหลวงบางประกง (456) โดดเด่นเป็นสง่าขณะทอดสมออยู่ในอ่าวโกลเดนฮอร์น (Golden Horn Bay) -- "ในจุดตำแหน่งดีที่สุด ที่สามารถมองเห็นนครศูนย์กลางของภาคตะวันออกไกลรัสเซียได้ทุกด้าน"
สื่อรัสเซียอีกหลายสำนัก ได้ติดตามเหตุการณ์นี้โดยนำเสนอทั้งเนื้อหาและภาพสวยงามเป็นจำนวนมาก กระทรวงกลาโหมรัสาเซียเองรายงานในเว็บไซต์เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ระบุว่า "เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่มีกองเรือรบแห่งราชอาณาจักรไทยเดินทางเยือนวลาดิวอสต็อกอย่างเป็นทางการ โดยเรือหลวงบางปะกงกับเรือหลวงนเรศวร เข้าจอดในนครศูนย์กลางแคว้นปริมอร์เย่ (Primorye) ในตอนบ่าย"
กระทรวงกลาโหมรัสเซียยังได้รายงานเกี่ยวกับการจัดพิธีต้อนรับอันเคร่งขรึม และ ด้วยประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน นั่นก็คือผู้ไปเยือนจะได้รับประทานขนมปังกับเกลือ อันเป็นส่วนหนึ่งในพิธีการ รวมทั้งมีพิธีชักธงขึ้นสู่ยอดเสาและบรรเลงเพลงชาติของทั้งสองประเทศ
วิดีโอที่เสนอโดยสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารเรือ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมอสโก ซึ่งทำหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่การไปเยือนครั้งนี้ แสดงให้เห็นการบรรเลงโดยวงดุริยางค์ผสมของกองทัพเรือแปซิฟิกของรัสเซีย ในระหว่างพิธีการต้อนรับเรือรบกับคณะของราชนาวีไทย -- สื่อทางการรัสเซียรวมทั้งสถานเอกอัครรัฐทูตรัสเซียประจำกรุงเทพฯ ได้นำวิดีโอชิ้นนี้ไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊กด้วย
.
พล.ร.ต.วาเลอรี คาซาคอฟ ในฐานะตัวแทนกองทัพเรือแปซิฟิก ระบุในระหว่างกล่าวต้อนรับฝ่ายไทยว่า การเยือนครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันระหว่างสองประเทศ และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ขณะที่ พล.ร.ต.ชนินทร์ ผดุงเกียรติ รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ และ ผู้บัญชาการหมู่เรือฝึกนักเรียนนายเรือ ที่ประกอบด้วยเรือรบทั้งสองลำ กล่าวขอบคุณการต้อนรับอันอบอุ่นของฝ่ายเจ้าภาพ
ตามรายงานของสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารเรือฯ นั้น การเยือนของเรือรบราชนาวีไทยได้รับความสนใจจากประชาชนในท้องถิ่นจำนวนมาก
เว็บไซต์วลาดนิวส์รายงานขณะเดียวกันว่า การเยือนของเรือราชนาวีไทยมีขึ้นในเทศกาลขึ้นปีใหม่ประเพณีของชาวไทย ซึ่งเป็นนิมิตรที่ดี และในโอกาสนี้ลูกเรือไทยได้ทำพิธีสรงน้ำพระ -- ในปริมอร์เย่ -- เป็นการเฉลิมฉลองเทศกาล
.
.
.
.
.
.
เรือหลวงนเรศวรกับเรือหลวงบางปะกงแล่นลอด "สะพานรัสเซีย" (Russky Bridge/Russia Bridge) ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของนครวลาดิวอสต็อก เข้าสู่อ่าวโกลเด้นฮอร์น เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. 13 เม.ย. -- ระหว่างการเยือนเมืองหลวงของภาคตะวันออกไกลรัสเซีย ที่ดำเนินมาจนถึงวันพุธ 17 เม.ย.นี้
คณะของราชนาวีไทยได้ประชุมหารือกับคณะฝ่ายเจ้าบ้านเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต และ มีกิจกรรมอื่นๆ อีกจำนวนมาก
ฝ่ายไทยได้เข้าวางพวงมาลาที่อนุสรณ์สถานเปลวไฟอันเป็นนิรันดร (Eternal Flame Memorial Complex) ในวลาดิวอสต็อก เพื่อสดุดีดวงวิญญาณนักรบผู้สละชีพในสงครามรักชาติอันยิ่งใหญ่ (The Great Patricotic War) ซึ่งหมายถึงสงครามต่อสู้การครอบครองของนาซีเยอรมันกับสงครามเอเชียบูรพาญี่ปุ่น กับผู้สละชีพในการป้องกันประเทศ ตลอดเวลากว่า 280 ปีในประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือแปซิฟิก
เวลาต่อมาคณะของไทยได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กองทัพเรือ กับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในนครวลาดิวอสต็อก
.
ทีมราชนาวีไทยฟอร์มดี แต่สำนักข่าวทาสส์รายงานว่า พ่ายทีมทัพเรือแปซิฟิกรัสเซียไป 4 ประตูต่อ 1 ในแม็ทช์เชื่อมสัมพันธ์. |
ตามรายงานของสำนักข่าวทาสส์ วันที่ 15 เม.ย.ทีมฟุตบอลราชนาวีไทย ได้ลงสนามในแม็ทช์เชื่อมสัมพันธ์กับทีมกองทัพเรือแปซิฟิก ซึ่งปรากฏว่าฝ่ายเจ้าบ้านชนะไป 4 ประตูต่อ 1 นอกจากนั้่นฝ่ายรัสเซียยังชนะในการแข่งชักเย่อ (Tug-of-War) เชื่อมสัมพันธ์อีกด้วย
ทาสส์ยังรายงานอีกว่าวันอังคาร 16 เม.ย. ฝ่ายไปเยือนได้เปิดให้สาธารณชนทั่วไป ขึ้นชมเรือหลวงนเรศวรกับเรือหลวงบางปะกง เป็นเวลา 1 วันเต็ม ซึ่งฝ่ายรัสเซียกล่าวว่าได้รับความสนใจจากทั้งทหารเรือและประชาชนชาววลาดิวอสต็อกเป็นอย่างมาก
รล.นเรศวร กับ รล.บางปะกง กำลังตระเวณเยือนเมืองท่าสำคัญหลายแห่งเป็นเวลา 2 เดือนในฐานะหมู่เรือฝึก รวมทั้งได้แวะเยือนเมืองท่าโยโกสุกะในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฐานทัพเรือสำคัญอีกแห่งหนึ่งของสหรัฐ -- แต่วลาดิวอสต็อก เป็น "ปลายทางขาขึ้น" ไกลที่สุดสำหรับกองเรือราชนาวี และ เป็นการ "อวดธง" ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
.
การฝึกส่งของกลางทะเลระหว่างเรือรบทั้งสองลำ ขณะแล่นจากฐานทัพโยโกสุกะ ในญี่ปุ่น มุ่งหน้าไปยังวลาดิวอสต็อก สำหรับการเยือนครั้งประวัติศาสตร์. |
การเยือนรัสเซียของเรือรบไทยได้รับความสนใจจากสื่อภาษารัสเซียเป็นอย่างมาก ทั้งสื่อทางการ กึ่งทางการ และสื่อเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเว็บไซต์ข่าวกลาโหม ที่ให้ความสนใจและเผยแพร่รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเรือฟริเกตติดอาวุธปล่อยนำวิถีของราชนาวีไทย ให้สาธารณชนได้รับทราบ -- บางสำนักระบุว่านี่เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
ภาพที่เผยแพร่จำนวนหนึ่ง แสดงให้เห็น รล.นเรศวร จอดเคียงข้างเรือคอร์แว็ตใหม่เอี่ยมทั้งสองลำ ของกองทัพเรือแปซิฟิกรัสเซีย คือ เรือโซเวอร์เชนนียี (Sovershennyy - 333) กับเรือกร็อมคี (Gromky- 335) -- เป็นภาพที่สวยงามยิ่ง ผู้อ่านเฟซบุ๊กหลายคนเขียนชื่นชมว่า แสดงให้เห็นมิตรภาพระหว่างสองชาติที่เป็นเพื่อนมิตรมายาวนาน แม้จะไม่มีเส้นพรมแดนติดกันก็ตาม
เรือ 333 กับ เรือ 335 เป็นเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีขนาด 2,200 ตัน ชั้นสเตเรกุชชี (Steregushchy) เป็นเรือรบรุ่นแรกสำหรับกองทัพเรือแปซิฟิก ที่ต่อออกมาในช่วง 30 ปีนับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย มีความโดดเด่นอันสำคัญคือการใช้เทคโนโลยี "สเตลธ์" ผสมผสานช่วยในการหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ ปัจจุบันมีเรือชั้นเดียวกันนี้อีก 5 ลำถูกบรรจุประจำกองทัพเรือภาคเหนือ (ทะเลบัลติก) และกำลังต่ออีก 3 ลำ
เรือโซเวอร์เชนนียีบรรจุเข้ากองทัพเรือแปซิฟิกในช่วงกลางปี 2560 ส่วนเรือกร็อมคีเป็นลำล่าสุด เพิ่งบรรจุเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันกำลังต่ออีก 3 ลำ
.
.
.
.
.
.
.
สื่อของทางการรัสเซียรายงานก่อนหน้านี้ว่า ภายในปี 2566 กองทัพเรือแปซิฟิก จะมีเรือคอร์แว็ตชั้นสเตเรกุชชีรวมทั้งสิ้น 8 ลำ กำหนดบรรจุที่ฐานทัพวลาดิวอสต็อกแห่งนี้ ระหว่างปี 2562-2563 และ ตั้งแต่ลำที่ 4 เป็นต้นไปเรือชั้นนี้ทุกลำ จะติดระบบอาวุธปล่อยนำวิถีแบบคาลิเบอร์ (Calibre) ที่รัสเซียเคยใช้ยิงโจมตีเป้าหมาย กลุ่มก่อการร้ายไอซิสในซีเรียอย่างได้ผล ดังที่ได้เห็นกันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
สำหรับวลาดิวอสต็อกเป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันเป็นทั้งท่าเรือพาณิชย์สำคัญ และ เป็นศูนย์กลางของการประมงในภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย นอกจากนั้นยังเป็นต้นทางของรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ที่เชื่อมเอเชียกับยุโรป -- จากสถานีวลาดิวอสต็อกสามารถโดยสารตัดผ่านใจกลางประเทศไปจนถึงกรุงมอสโก และ นครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก
สำคัญอย่างยิ่งในทางยุทธศาสตร์ก็คือ วลาดิวอสต็อกเป็นศูนย์กลางและที่ตั้่งกองบัญชาการกองทัพเรือแปซิฟิก ในแคว้นเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของกองทัพอากาศภาคพื้นแปซิฟิก ที่ตั้งกองกำลังทางบกและนาวิกโยธินอีกด้วย
.
.
ในยุคสหภาพโซเวียตวลาดิวอสต็อกเคยเป็นเมืองปิด เนื่องจากเป็น "เขตทหาร" ปัจจุบันเมืองเล็กๆ หลายเมืองที่ตั้งอยู่รายรอบหรือเรียงรายอยู่ตามชายฝั่งแหลมโกลเด้นฮอร์น ก็ยังเป็นเมืองปิด เนื่องจากเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารเรือ กระทั่งอู่จอดเรือรบชนิดต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2517 วลาดิวอสต็อกได้เป็นเวทีสำหรับการพบปะสุดยอด ระหว่างนายเลโอนิด เบรสเนฟ ผู้นำสูงสุดของโซเวียตกับ ประธานาธิบดีเจอรัลด์ฟอร์ด สหรัฐ ในการเจรจาระหว่างสองอภิมหาอำนาจ เกี่ยวกับการจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์ หรือ "SALT" (Strategic Arms Limitation Talks)
วลาดิวอสต็อกพัฒนารุดหน้ารวดเร็วมากในยุคสมัยรัสเซีย รวมทั้งการก่อสร้างสะพานรุสสกี ที่เริ่มขึ้นในปี 2552 จนแล้วเสร็จในปี 2555 และ กลายเป็นสะพานขึง (Cable-stayed Bridge) ยาวที่สุดในโลกมาจนกระทั่งบัดนี้ คือ ระยะสะพานยาว 1,885 เมตร ยาวทั้งระบบ 3,100 ม. มี 4 ช่องจราจร กว้าง 29.5 ม. -- ยังมีสิ่งปลูกสร้างผุดขึ้นมาอีกจำนวนมาก เพื่อเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ APEC ครั้งที่ 24 ปี 2555
หลังการประชุมสำคัญดังกล่าว ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ออกรัฐดำรัสฉบับหนึ่งยกระดับวลาดิวอสต็อก ขึ้นเป็นนครศูนย์กลางบริหารของภาคตะวันออกไกล (Primorsky) แทนนครคาบารอฟส์ (Khabarovsk) และ เป็นศูนย์กลางของแคว้นปริมอร์เย่ ตามการเสนอของฝ่ายบริการท้องถิ่นเดิม.