xs
xsm
sm
md
lg

พม่าเดินหน้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจ ชาวบ้านโอดประโยชน์ไม่ถึงท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (Thilawa) พื้นที่อุตสาหกรรมแห่งแรกของพม่า ที่ตั้งอยู่ห่างจากนครย่างกุ้งทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 23 กิโลเมตร รัฐบาลมีคำสั่งย้ายชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อปี 2556 พร้อมคำมั่นสัญญาทั้งการจ้างงานและค่าแรงที่ดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่าหลายอย่างไม่เป็นไปตามนั้น

ครอบครัวของตัน เอ เป็นหนึ่งใน 68 ครอบครัว ที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานตามคำสั่งของรัฐ เพื่อเปิดทางให้กับการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าแต่ละครอบครัวจะได้บ้านหลังใหม่ที่อยู่ห่างออกไปจากจุดเดิมไม่กี่สิบกิโลเมตร หรือเงินจำนวนหนึ่งและที่ดินเพื่อปลูกบ้าน รวมทั้งตำแหน่งงานในโรงงานใหม่ที่มีค่าแรงดี

แต่ 6 ปีต่อมา ตัน เอ และชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิมเผยว่า รายได้ของพวกเขาน้อยลงกว่าแต่ก่อน และเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างจำกัด หลายครอบครัวเลือกที่จะขายบ้านและออกไปอยู่ที่อื่นหลังจากเงินเก็บร่อยหรอ

“ไม่มีที่ดินให้ปลูกผักหรือเลี้ยงไก่ ที่ที่เราอยู่ไม่ใกล้กับการคมนาคมหรือตลาด สามีของฉันได้งานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหลังจากย้ายบ้านมาแล้ว 2 ปี ก่อนหน้านั้นเราต้องกู้หนี้ยืมสิน และตอนนี้ก็ยังต้องใช้หนี้อยู่” ตัน เอ เปิดเผยกับสื่อ หน้าบ้านขนาด 1 ห้องในหมู่บ้านมายธายา

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาเช่นพม่า ที่เพิ่งหลุดพ้นจากการถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจนานหลายสิบปีในปี 2554 หลังจากทหารยอมก้าวถอยจากการควบคุมประเทศโดยตรง เขตเศรษฐกิจพิเศษถูกมองว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและสร้างงานให้คนในประเทศ

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาสร้างขึ้นตามมาตรการการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่รวมทั้งการได้รับความยินยอมจากประชาชนและการเสนอค่าชดเชยที่เหมาะสม

แต่สำหรับผู้ที่วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นจริงในเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นแตกต่างออกไป ตามการระบุของ ไมค์ กริฟฟิธ นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยนโยบายทางสังคมและความยากจนของพม่า สถาบันคลังสมองที่มีสำนักงานในนครย่างกุ้ง

“พวกเขาไม่เพียงแค่มีรายได้ในระดับต่ำลงกว่าเดิม แต่มีแนวโน้มอย่างมากที่ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น อัตราหนี้สูงขึ้น และอัตราการจ้างงานที่น้อยลง” กริฟฟิธระบุในรายงานเมื่อปีก่อนเกี่ยวกับครัวเรือนที่ย้ายถิ่นฐาน

ต้นแบบสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พม่าและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคหวังที่จะเลียนแบบคือจีน ที่ในทศวรรษ 1980 จีนตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ขึ้นราว 6 แห่ง เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปตลาดของประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ที่ธนาคารโลกประเมินไว้ในปี 2558 ว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้มีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของจีดีพีประเทศ

จากตัวอย่างของจีน รัฐบาลของประเทศต่างๆ ตั้งแต่อนุภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮาราไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำแนวทางเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวมาปรับใช้ แต่นักวิเคราะห์ระบุว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษประสบความสำเร็จแตกต่างกันไป

“ต้นแบบของจีนผ่านช่วงเวลาที่เหมาะสมไปแล้ว และเจ้าหน้าที่ชักช้าที่จะทำความเข้าใจ แม้กระทั่งจากมุมมองทางเศรษฐกิจก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ส่วนใหญ่รัฐเจ้าภาพเป็นผู้รับผิดชอบ” ชาร์ลี เธม ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ กล่าว

ในชาติที่ยากจนกว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษล้มเหลวอย่างหนักที่จะจัดหางานที่เหมาะสมหรือก่อให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น” ชาร์ลี เธม กล่าว และเสริมว่ากฎหมายในประเทศและกรอบการลงทุนระหว่างประเทศส่วนใหญ่แล้วล้มเหลวที่จะปกป้องผู้ที่ได้รับผลกระทบ

เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ จะครอบคลุมที่ดินราว 15,000 ไร่ ผู้ผลิตหลายสิบรายที่ส่วนใหญ่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกกำลังดำเนินการอยู่ที่นั่นแล้ว

ติลาวา เป็นเพียงเขตเศรษฐกิจพิเศษเพียงแห่งเดียวที่สามารถใช้งานได้ในประเทศ ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในเขตตะนาวศรี ทางภาคใต้ของประเทศ ยังคงหยุดชะงักหลังก่อสร้างไปบางส่วน ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งที่ 3 ที่วางแผนไว้ซึ่งลงทุนโดยจีน ตั้งอยู่ในเมืองจอก์พยู รัฐยะไข่

พื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาถูกระบุในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารว่าเพื่อใช้ในเชิงอุตสาหกรรม แต่แผนเดิมนั้นยกเลิกไป และเมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศที่จะเริ่มพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ขึ้นอีกครั้งเมื่อ 6 ปีก่อน เจ้าหน้าที่กล่าวว่านับตั้งแต่ที่ดินตกเป็นของรัฐบาล ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีสิทธิได้รับการชดเชยแค่สำหรับพืชผลของพวกเขาเท่านั้น

“ไม่มีชาวบ้านคนใดที่ย้ายออกจากพื้นที่ได้รับการปรึกษาหารือถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือสังคมจากการพัฒนาโครงการ” มา หล่าย สมาชิกกลุ่มพัฒนาสังคมติลาวา กลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนชาวบ้าน กล่าว

“เรายังได้คำสัญญาเรื่องการฝึกอบรมและตำแหน่งงาน แต่มีแค่ไม่กี่คนที่ได้งานทำ แต่ถึงอย่างนั้น ก็เป็นเพียงแค่คนทำความสะอาดและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย” มา หล่าย กล่าว

ด้านโฆษกโครงการพัฒนาติลาวาพม่า-ญี่ปุ่น ที่ดูแลดำเนินการโซน 1 ของเขตเศรษฐกิจพิเศษกล่าวว่า การเข้าครอบครองที่ดินดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่า และผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับข้อเสนอโอกาสการทำงานในหลายตำแหน่ง

ห่างออกไปราว 600 กิโลเมตร ทางภาคใต้ของพม่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายหยุดชะงักลงตั้งแต่ปี 2556 หลังเกิดการชุมนุมประท้วงและประสบปัญหาด้านเงินทุน โครงการนี้เป็นโครงการร่วมทุนของรัฐบาลไทยและพม่าซึ่งรวมทั้งถนนยาว 140 กิโลเมตร ไปยังชายแดนไทย ท่าเรือ โรงไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ และนิคมอุตสาหกรรม

ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระยะแรก ปฏิเสธที่จะย้ายไปอาศัยในบ้านใหม่เกือบ 500 หลัง ที่สร้างขึ้นห่างจากจุดเดิมไปหลายกิโลเมตร

“ไม่มีใครบอกเราว่าโรงงานแบบใดจะถูกสร้างขึ้นหรือผลกระทบจากสิ่งเหล่านั้นคืออะไร” ชาวบ้านที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ กล่าว

ชาวบ้านในเมืองทวายวิตกว่าการก่อสร้างในโครงการที่หยุดชะงักแห่งนี้จะกลับมาดำเนินการต่อ แม้ปฏิกริยาต่อต้านเขตเศรษฐกิจพิเศษกำลังขยายตัวขึ้นก็ตาม

การชุมนุมประท้วงปะทุขึ้นในเวียดนามเมื่อปีก่อนเกี่ยวกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ ส่วนโครงการจอก์พยูของพม่านั้น รัฐบาลได้ปรับลดขนาดโครงการลงเนื่องจากความวิตกเรื่องกับดักหนี้

ย้อนกลับไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา การก่อสร้างในเฟสที่ 2 ใกล้จะเริ่มขึ้น และจะได้เห็นการย้ายถิ่นฐานของผู้คนอีกมากกว่า 800 ครอบครัว เอ ข่าย วิน แกนนำชุมชน กล่าว

“รัฐบาลระบุว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษได้สร้างสิ่งดีๆ ไว้หลายอย่าง แต่เราสูญเสียที่ดินของเรา เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้” แกนนำชุมชน กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น