xs
xsm
sm
md
lg

เจรจากว่า 3 ปี รัฐบาลกัมพูชาส่งคืนที่ดินสัมปทานต่างชาติให้ชนเผ่าพื้นเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - กัมพูชาได้คืนที่ดินซึ่งยึดไปจากชนเผ่าพื้นเมืองเมื่อ 10 ปีก่อนเพื่อให้บริษัทต่างชาติทำสวนยาง สัญญาณที่แสดงให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติกำลังเผชิญกับการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามการระบุของนักวิเคราะห์วันนี้ (27)

ผู้ว่าราชการจังหวัดรัตนคีรี พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ได้ร้องขอให้กระทรวงเกษตรถอนพื้นที่ 64 แห่ง ออกจากที่ดินสัมปทาน ซึ่งรวมทั้งผืนป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ฝังศพ ซึ่งเคยเป็นของชุมชนคนพื้นเมืองนับสิบชุมชน

การตัดสินใจดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการยอมรับอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนถึงสิทธิที่ดินของชนพื้นเมืองเหนือผลประโยชน์ทางธุรกิจในกัมพูชา ตามการระบุของกรรมการบริหารสมาคมคนที่ราบสูง องค์กรสิทธิชนพื้นเมืองใน จ.รัตนคีรี

“ในขณะที่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นชัยชนะสำคัญ แต่ชุมชนต่างๆ ยังต้องการการชดเชยและการช่วยเหลือฟื้นฟูที่ดินและทางน้ำของพวกเขา” กรรมการบริหารสมาคมคนที่ราบสูงระบุในคำแถลง

นับตั้งแต่ต้นยุค 2000 กัมพูชาได้มอบที่ดินขนาดใหญ่เป็นสัมปทานให้แก่บริษัทต่างชาติสำหรับทำเหมือง โรงไฟฟ้า และฟาร์ม เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำจัดความยากจน แต่ข้อตกลงเหล่านั้น ซึ่งครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 1 ใน 10 ของที่ดินทั้งหมดของประเทศภายในปี 2555 ทำให้ประชาชนต้องพลัดถิ่นมากกว่า 770,000 คน

หลังการประท้วงและแรงกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน นายกรัฐมนตรีฮุนเซนประกาศยุติการให้สัมปทานใหม่ชั่วคราวในปี 2555 และให้คำมั่นว่าจะทบทวนสัมปทานเก่าด้วย

แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิที่ดิน กล่าวว่า การพิจารณาทบทวนไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อ 10 ปีก่อน รัฐบาลกัมพูชาให้ที่ดินราว 118,750 ไร่ ที่เป็นของหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมือง 12 หมู่บ้าน ให้แก่บริษัทฮว่าง แอ็ง ซา ลาย (HAGL) ของเวียดนามเพื่อปลูกยาง

ในปี 2557 ชนพื้นเมืองได้ยื่นคำร้องถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงต่อบรรษัทการเงินระหว่างประเทศของธนาคารโลก (IFC) ที่ลงทุนในกองทุนซึ่งเป็นทุนสนับสนุนการลงทุนของบริษัท HAGL ในกัมพูชาและลาว

หลังจากนั้น ได้มีการตั้งกระบวนการแก้ไขข้อพิพาท และบริษัท HAGL เห็นชอบที่จะยุติการแผ้วถางที่ดินต่อ และหนึ่งปีต่อมา บริษัท HAGL ได้เห็นชอบที่จะคืนที่ดินซึ่งยังไม่ได้เพาะปลูกหรือแผ้วถางและลดสัมปทานของบริษัทลงมากกว่า 60%

สำหรับการตัดสินใจของทางการกัมพูชาเมื่อวันอังคารเป็นการคืนที่ดินอีกราว 4,637 ไร่ ตามการระบุของสมาคมคนที่ราบสูงและหน่วยงานเอ็นจีโอที่เป็นตัวแทนของชนเผ่าพื้นเมือง

“แม้ต้องใช้เวลาเจรจามากกว่า 3 ปี แต่นี่เป็นปัญหาสำคัญที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองและสิทธิดั้งเดิมต่อที่ดินของพวกเขา” เอง วุทธี เจ้าหน้าที่จากองค์กร Equitable Cambodia กล่าว

“นักลงทุนต่างชาติต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดและผลกระทบเมื่อพวกเขาเพิกเฉยกระบวนการซึ่งรวมถึงการปรึกษาหารือกับชุมชนต่างๆ และการได้รับความยินยอมจากคนเหล่านั้น” เอง วุทธี กล่าว

การลงทุนข้ามพรมแดนในภูมิภาคกำลังขยายตัว และข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อปีก่อน เกษตรกรชาวกัมพูชาที่กล่าวว่าพวกเขาถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่ดินตัวเองเพื่อทำไร่อ้อย ได้ยื่นฟ้องบริษัทน้ำตาลไทย.
กำลังโหลดความคิดเห็น