xs
xsm
sm
md
lg

จนท.สหประชาชาติหวั่นเกิดวิกฤตครั้งใหม่ หากบังกลาเทศย้ายโรฮิงญาไปอยู่เกาะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ผู้สอบสวนสิทธิมนุษยชนในพม่าของสหประชาชาติ แสดงความวิตกกังวลอย่างลึกซึ้งในวันนี้ (11) เกี่ยวกับแผนของบังกลาเทศที่จะย้ายถิ่นฐานผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 23,000 คน ไปยังเกาะห่างไกลในเดือน เม.ย. โดยระบุว่า เกาะดังกล่าวอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้ และอาจก่อให้เกิด “วิกฤตครั้งใหม่”

บังกลาเทศ ระบุว่า การย้ายผู้ลี้ภัยไปยังเกาะบาซานชาร์ ที่ชื่อเกาะมีความหมายว่า “เกาะลอยน้ำ” จะช่วยบรรเทาความแออัดยัดเยียดในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซาร์ ที่มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ราว 730,000 คน สหประชาชาติกล่าวว่า ชนกลุ่มน้อยมุสลิมหลบหนีการสังหารหมู่และการข่มขืนที่เกิดขึ้นระหว่างการปราบปรามของทหารในรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือน ส.ค.2560

กลุ่มมนุษยธรรมบางกลุ่มได้วิพากษ์วิจารณ์แผนการย้ายถิ่นฐานว่า เกาะในอ่าวเบงกอลมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากไซโคลน

“มีหลายสิ่งที่ฉันยังไม่ทราบแม้หลังจากการเยือน การย้ายถิ่นฐานที่วางแผนไม่ดี และการย้ายถิ่นฐานโดยผู้ลี้ภัยไม่ได้เห็นชอบ สิ่งเหล่านี้มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดวิกฤตครั้งใหม่” ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยพม่า ที่เยือนเกาะในเดือน ม.ค. กล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ

ชาห์ คามาล รัฐมนตรีกระทรวงการจัดการภัยพิบัติของบังกลาเทศ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังหารือกับหน่วยงานของสหประชาชาติเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้

“หน่วยงานต่างๆ ได้ตกลงเห็นชอบกันแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นสุดท้ายถึงวิธีที่จะย้ายผู้ลี้ภัยและปัจจัยต่างๆ ทั้งหมด ทุกอย่างพร้อมแล้ว...ที่อยู่อาศัย ไฟฟ้า การดูแลสุขภาพ การสื่อสาร แนวกั้นคลื่นซัดฝั่ง ศูนย์หลบภัยไซโคลน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ทั้งหมด” ชาห์ คามาล กล่าวกับรอยเตอร์ในกรุงธากา

“ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องวิตกเกี่ยวกับน้ำท่วมเพราะเราได้สร้างเขื่อนกั้น และไม่มีใครถูกย้ายไปที่นั่นโดยขัดกับความต้องการของพวกเขา” ชาห์ คามาล กล่าว

ลี ที่ถูกรัฐบาลพม่าห้ามเดินทางเยือนกล่าวในที่ประชุมว่า มีพลเรือนมากถึง 10,000 คน รายงานว่าหลบหนีออกจากบ้านตัวเองในรัฐยะไข่ของพม่าตั้งแต่เดือน พ.ย. เนื่องจากความรุนแรงและการขาดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

“เป็นเวลาหลายทศวรรษ เราเผชิญกับการล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบในพม่า พวกเขายึดสิทธิการเป็นพลเมืองของพวกเรา ที่ดินของเรา พวกเขาทำลายมัสยิดของเรา” โมฮิบ บุลเลาะห์ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา กล่าวกับคณะมนตรี

“ชาวโรฮิงญากว่า 120,000 คน ยังคงอาศัยอยู่ในค่ายกักกันในพม่า คนอื่นๆ ที่อยู่ข้างนอกมีชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัว เราต้องการที่จะกลับบ้านในพม่า พร้อมสิทธิของเรา ความเป็นพลเมืองของเรา และความมั่นคงระหว่างประเทศ” บุลเลาะห์ กล่าว

ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติกล่าวเมื่อปีก่อนว่า การปราบปรามของทหารในปี 2560 ที่ผลักดันชาวโรฮิงญาออกจากประเทศ ดำเนินการด้วยเจตนาล้างเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ทางการพม่าได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการสังหารหมู่และข่มขืน และกล่าวว่า การปราบปรามนั้นเป็นการตอบโต้อย่างถูกกฎหมายต่อภัยคุกคามของผู้ก่อความไม่สงบ

ลี เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติยื่นเรื่องการกระทำโหดร้ายที่ถูกกล่าวหาในพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และสนับสนุนให้ย่างกุ้งยอมรับขอบเขตอำนาจของศาล

แต่เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีอำนาจเหนือพม่า

“พม่ามุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะรับรองความรับผิดชอบหากมีหลักฐานน่าเชื่อถือของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่” จ่อ โม ตุน กล่าว

ภารกิจรีบด่วนที่สุดคือการมุ่งเน้นไปที่การเริ่มต้นอย่างรวดเร็วในการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ เอกอัครราชทูตพม่ากล่าว โดยไม่ใช้คำว่าโรฮิงญา.
กำลังโหลดความคิดเห็น