xs
xsm
sm
md
lg

คุยยาวๆ Mig-21 "ควายป่า" อินเดียสุดโบราณสอย F-16 ปากีสถานร่วง เรื่องนี้ใกล้ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Mig-21 กองทัพอากาศอินเดียลำหนึ่งระหว่างการฝึก -- เครื่องบินโบราณรุ่นนี้หรือจะไปสู้กับ F-16? รายงานนี้มีให้ทุกคำตอบ ยกเว้นการยอมรับจากฝ่ายปากีสถาน ที่พยายามปฏิเสธแบบหัวชนฝา ไม่ได้ใช้เครื่องบินรบผลิตในสหรัฐรุ่นนี้โจมตีอินเดียสัปดาห์ที่แล้ว และ ถูกยิงตกไป 1 ลำ แต่ไม่ปริปากเช่นกัน ถ้าไม่ใช่ F-16 แล้วเป็นรุ่นไหนที่ถูก ควายป่า อินเดียไล่ขวิดไส้ทะลัก อินเดียงัดหลักฐานเด็ด 2 ชิ้นมัดปากีสถานอยู่หมัด -- Mig-21 ทัพฟ้าอินเดียมีประวัติโด่งดัง แม้แต่สหรัฐเองยังทึ่ง. Agence France-Presse.

MGR ออนไลน์ -- ถึงวันนี้ก็ผ่านมา 1 สัปดาห์ ฝ่ายปากีสถานยังไม่ออกยอมรับหรือปฏิเสธ เกี่ยวกับเครื่องบิน F-16 ของตนลำหนึ่ง ถูก Mig-21 "ไบซัน" (Bison) กองทัพอากาศอินเดียยิงตก ในเขตชายแดนแคว้นแคชเมียร์ อินเดียกล่าวว่าเครื่องบินรบยุคที่ 4 ของปากีสถาน ถูกยิงร่วงด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศแบบ R-73 จากเครื่องบินรบรุ่นโบราณ ที่ใช้มายาวนานตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม ในเหตุการณ์วันที่ 27 ก.พ.ที่บรรดานักสังเกตการณ์กล่าวว่าเป็นการเคลื่อนกำลังทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดในยุคใหม่ โดยสองฝ่ายใช้เครื่องบินรบรุ่นต่างๆ รวมกันเป็นจำนวนกว่า 30 ลำ

ตามข้อมูลที่รวบรวมได้นั้น ในวันดังกล่าวได้เกิดการพันตูอย่างกระชั้นชิด ระหว่าง Mig-21 ของอินเดีย กับ F-16 ปากีสถาน โดยเครื่องบินรบอินเดียสามารถล็อกเป้าหมายได้ก่อน และ ปล่อยอาวุธนำวิถีออกไป -- แต่ในเสี้ยวนาทีเดียวกัน Mig-21 ก็ถูกยิงตกลงในแดนแดนปากีสถาน นักบินถูกจับเป็นเชลย ก่อนถูกปล่อยตัวในอีก 2 วันต่อมา

รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์อาจจะยังไม่สมบูรณ์ และ ทุกฝ่ายต่างรอคอยฟังการบอกเล่าจากปากของนักบินที่รอดชีวิต ซึ่งพักฟื้นสุขภาพอยู่ที่โรงพยาบาลทหารกรุงนิวเดลี ตลอดหลายวันมานี้

นั่นคือเหตุการณ์ที่เรียกกันทั่วไปว่า "ด็อกไฟ้ต์" หรือ การรบติดพันกระชั้นชิดกลางอากาศระหว่างเครื่องบินรบ ที่เคยเห็นกันในยุคสงครามเย็น รวมทั้งในสงครามเวียดนาม แต่ไม่ได้เห็นมานานในสงครามทางอากาศยุคใหม่ ที่ใช้เครื่องบินรบทันสมัยยิ่งขึ้น ใช้ระบบอาวุธนำวิถีที่ล้ำยุคยิ่งขึ้น สามารถล็อคเป้าหมายที่อยู่ไกล "หลังเส้นขอบฟ้า" มองด้วยตาไม่เห็น และ "ยิงแล้วลืม" หรือยิงแล้วบินกลับไปได้เลย อาวุธจะตามไปทำลายเป้าหมายที่ล็อคไว้ด้วยตัวของมันเอง ซึ่งเป็นการปิดโอกาสสำหรับ "ด็อกไฟ้ต์"

เหตุการณ์พันตูอันเป็นที่เลื่องลือล่าสุดนี้ เกิดเพียงข้ามวันหลังจากอินเดียส่งฝูงบินมิราจ 2000 (Mirage-2000) จำนวน 12 ลำ ข้ามพรมแดนเข้าไปทิ้งระเบิดแหล่งฝึกของกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมแยกดินแดนจาอิช เอ โมฮัมหมัด (Jaish-e-Mohammad) ในแคว้นแคชเมียร์ ที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนปากีสถาน -- ฝ่ายอินเดียกล่าวว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมในการป้องกันตัวเอง ทั้งไม่ใช่การโจมตีเป้าหมายทางทหารหรือเป้าหมายใดๆของปากีสถานอีกด้วย

การโจมตีทิ้งระเบิดเมื่อวันที่ 26 ก.พ. นับเป็นปฏิบัติการทางอากาศครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี ของกองทัพอากาศอินเดีย ตั้งแต่สงคราม "ปากีสถานตะวันออก" (บังกลาเทศ) เป็นต้นมาและมีขึ้นหลังจากกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว อ้างความรับผิดชอบเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพต่อขบวนรถทหารของอินเดียในจัมมุ-แคชเมียร์วันที่ 14 เดือนเดียวกัน ทำให้ทหาร ตำรวจกับอาสาสมัครพลเรือนเสียชิวิต 40 คน และ ทำให้รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ถูกกดดันจากสังคมอย่างหนัก ขณะที่การเลือกตั้งกำลังจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้

.
วิดีโอข้างบนถ่ายไว้โดยประชาชนในท้องถิ่น ที่ยังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ฝ่ายอินเดียนำออกเผยแพร่โดยอธิบายว่า เป็นช่วงหนึ่งของการพันตูในระยะเวลาสั้นๆ ระหว่าง Mig-21 กับ F-16 ลำหนึ่งของปากีสถาน ในตอนเช้า 27 ก.พ.2562 แต่คลิปก็ไม่สามารถบอกเรื่องราวอะไรได้มากกว่านี้.





วิดีโอ 2 ชิ้นข้างบน ถ่ายโดยประชาชนกับทหารท้องถิ่น แสดงให้เห็นนักบิน 2 คนดีดตัวออกจากเครื่องบินลำเดียวกัน ในคลิปมีการพูดถึง "นักบินคนที่ 3" ซึ่งอาจเป็นที่มาของคำแถลง -- ยิงตก 2 จับได้ 1 ในตอนแรกๆ โดยอ้างว่าอีก 1 ลำตกลงทางฝั่งอินเดีย นักบินอีก 2 คนยังหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ -- แต่ต่อมาลดจำนวนเครื่องบินเหลือ 1 นักบินเหลือ 1 และในที่สุดก็ยอมรับว่า มีนักบินปากีสถานเสียชีวิต 1 คน อีก 1 คนรอดและนำตัวส่งโรงพยาบาล.

ฝ่ายอินเดียกล่าวว่าเหตุการณ์วันที่ 27 ก.พ.นั้น ปากีสถานส่งเครื่องบินรบกว่า 20 ลำ ทั้ง F-16, JF-17 กับมิราจ-2000 ปฏิบัติการรุกล้ำน่านฟ้า โดยมีเป้าหมายทิ้งระเบิดที่ตั้งทางทหารแห่งหนึ่งของอินเดีย นัยว่าเป็นการแก้แค้น หรือ "เอาคืน" แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และ ยังสูญเสีย F-16 อีก 1 ลำด้วย มีการโจษจันเรื่องนี้อย่างกว้างขวางในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมทั่วโลก ข้ามสัปดาห์มานี้

อินเดียกล่าวว่า ในวันนั้นปากีสถานใช้กลลวงส่งเครื่องบินรบจำนวนมากขึ้นบินใกล้บริเวณชายแดน หวังสร้างความสับสน ขณะที่อินเดียจับความเคลื่อนไหวต่างๆ ผ่านเครื่องบินตรวจการณ์-แจ้งเตือนล่วงหน้าแบบ EWACS ลำหนึ่ง กับระบบเรดาร์ที่ก้าวหน้า -- ต่อมาปากีสถานใช้ F-16 จำนวน 8 ลำข้ามพรมแดนปฏิบัติการ แต่มีเพียง 1 ลำที่มีโอกาสทิ้งระเบิด และ ไม่ทำให้ที่ตั้งของอินเดียได้รับความเสียหายใดๆ

ปากีสถานตระหนักดีว่าไม่ควรส่ง F-16 ไปเผชิญหน้ากับ Su-30MKI ของอินเดีย ซึ่งมีอัตราเสี่ยงสูงมาก และย่อมทราบดีว่าชายแดนด้านที่ส่ง F-16 ออกปฏิบัติการนั้นไม่มี Su-30 ประจำอยู่ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีเวลาพอทิ้งระเบิดทำลายเป้าหมาย และ บินกลับสู่น่านฟ้าของตนอย่างปลอดภัย -- แต่แล้วทุกอย่างก็พลิกผัน

อินเดียกล่าวว่ามี F-16 เพียงลำเดียว ที่สามารถทิ้งระเบิดลง 3 ลูก หลังจากนั้นก็ถูก Mig-21 (ลำที่ถูกยิงตก) กับ Su-30 อีก 1 ลำเข้าสกัด ต้องล่าถอยกลับไป และ Mig-21 ลำนั้นได้รุกไล่ติดตาม F-16 (ซึ่งเป็นลำที่ถูกยิงตก) ทำ "ด็อกไฟต์" อันลือลั่นที่กล่าวมาแล้ว
.
นี่คือ เคสซิ่ง ห่อหุ้มท่อนเชื้อเพลิงของอาวุธปล่อยนำวิถี AIM-120 AMRAAM ที่อินเดียพบในวันเกิดเหตุ 27 ก.พ.2562 พร้อมซีเรียลนัมเบอร์กับหมายเลขลอตที่จำหน่าย บริษัทเรย์ธีออน (Raytheon) ผู้ผลิตพิมพ์กำกับเอาไว้ทุกลูก ชิ้นส่วนนี้หล่นลงในดินแดนอินเดียหลังปล่อยหัวรบออกไป.
ชิ้นส่วนเดียวกันของ AIM-120 AMRAAM ในจุดที่พบ -- ขยายให้เห็นอักษรกับตัวเลขต่างๆชัดเจนยิ่งขึ้น นำไปเทียบกับเอกสารกระทรวงกลาโหมสหรัฐดู จะพบว่าเป็นลอตที่จำหน่ายให้ปากีสถานเมื่อปี 2549 เป็นหลักฐานสำคัญมัดคอปากีสถานจนดิ้นไม่หลุด แต่ยังปากแข็ง.
.
ทำไมจึงต้องเป็น Mig-21 -- อินเดียอธิบายว่า เนื่องจากเครื่องบินรบลำนั้น กำลังปฏิบัติภารกิจในบริเวณใกล้ที่สุด และ ได้รับคำสั่งให้เข้าสกัด F-16 ของปากีสถานทันที่ ในนาทีต่อมา Mig-21 อีก 2 ลำก็บินขึ้นจากฐานทัพใกล้เคียงไปสนับสนุน ทำให้ F-16 ปากีสถานส่วนใหญ่ต้องหันหัวกลับ -- ก่อนที่ Su-30 อีกหลายลำ จากฐานทัพอากาศอีกแห่งหนึ่ง ที่อยู่ไกลออกไปจะตามไปถึงที่เกิดเหตุ

ข้อมูลทางฟากอินเดียระบุว่า F-16 ของปากีสถานลำที่ Mig-21 ยิงตกนั้น เป็น F-16D ซึ่งเป็นรุ่น 2 ที่นั่ง และ เข้าใจกันว่าเป็น F-16D Block-50 หรือ รุ่นที่อัปเกรดเกือบสูงสุด ข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐแสดงให้เห็นว่า ปากีฯ เคยส่ง F-16 บล็อค 15 กับ บล็อค 30 หลายลำ ไปอัปเกรดช่วงครึ่งอายุการใช้งานในสหรัฐเมื่อหลายปีก่อน -- ให้เป็นบล็อค 50/52 เช่นเดียวกับกองทัพอากาศไทย ที่ทยอยอัปเกรด F-16A/B บล็อค 15 ของตนในช่วงไม่กี่ปีมานี้

สหรัฐใช้คำว่า "บล็อค" (Block) บ่งบอกการพัฒนายกระดับเครื่องบินรบ เรือรบ รวมทั้งอาวุธอีกบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธปล่อยนำวิถีที่ใช้ในเครื่องบินรบกับเรือรบด้วย การอัปเกรดในแต่ละ "บล็อค" นั้น ประกอบด้วยการเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เปลี่ยนระบบเอวิโอนิกส์ หรือ ระบบเรดาร์ หรือระบบควบคุมการยิง แม้กระทั่งการเปลี่ยนชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ หรือติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม เป็นต้น

ข้อมูลในเว็บไซต์บริษัทล็อคฮีดมาร์ติน ซึ่งเป็นผู้ผลิต F-16 ในปัจจุบัน ระบุว่าการอัปเกรดรุ่นทันสมัยในขณะนี้ ไปถึงบล็อค 70/72 เป็น F-16 เวอร์ชั่นดิจิตอลครบวงจร และ สหรัฐยังไม่อนุญาตให้มีการอัปเกรดเป็นบล็อคนี้สำหรับเครื่องบินของชาติพันธมิตรอื่นๆ
.
Contract FA876505C0070 นั่นคือเลขที่สัญญา ลอตที่จำหน่ายให้ปากีสถาน เลขเดียวกันกับที่ปรากฏบนเคสซิ่งของ AIM-120 AMRAAM ที่อินเดียใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า อปว.นำวิถีลูกนั้น ยิงจาก F-16 กองทัพอากาศปากีสถาน 27 ก.พ.ที่ผ่านมา.
เมื่อเริ่มจนมุม 27 ก.พ.ฝ่ายปากีสถานก็เผยแพร่เอกสารเท็จ ที่ระบุว่าลอต FA876505C0070 ดังกล่าวสหรัฐขายให้ไต้หวัน ซึ่งทำให้กระทรวงกลาโหมของจีนไทเปออกตอบโต้ เพราะว่าจู่ๆ ก็ถูกดึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวในความขัดแย้ง ทั้งเผยแพร่หลักฐานการจัดหาของตนออกมา เป็นการมัดคอปากีสถานอีกทางหนึ่ง.
.
กลับไปสู่เหตุการณ์ที่ชายแดนแคว้นแคชเมียร์ -- จนถึงวันนี้ปากีสถานยังไม่ออกปากระแคะระคาย หรือ แชร์ภาพถ่าย-หลักฐานใดๆ เกี่ยวกับว่ามี F-16 ของตนถูกยิงตกหรือไม่ ฝ่ายนี้ปฏิเสธแข็งขันมาตั้งแต่วันแรก แต่ก็ไม่เคยปริปากเช่นกันว่าถ้าหากไม่ใช่ F-16 แล้วเครื่องบินที่ถูกอินเดียยิงตกเป็นแบบใดรุ่นไหน เนื่องจากปากีสถานยังมีอีกหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ JF-17 ที่ผลิตเองภายใต้สิทธิบัตรจากจีนที่มีอยู่ประมาณ 100 ลำ

ไม่เพียงแต่ปฏิเสธและไม่ให้ข้อมูลใดๆ เท่านั้น ระหว่างวันที่ 27-28 ก.พ. ฝ่ายสนับสนุนปากีสถาน รวมทั้งกระทรวงกลาโหมปากีสถานเอง ยัง "เปิดศึกออนไลน์" เข้าห้ำหั่นกันกับฝ่ายอินเดีย -- กล่าวได้ว่าศึกบนไซเบอร์สเปซ หนักหน่วงและรุนแรงยิ่งกว่าศึกเวหาจริงๆ เสียอีก

ฝ่ายปากีสถานพยายามถึงขนาดสร้างเอกสารเป็นหลักฐานเท็จ ใช้คลิปอันเป็นเท็จ รวมทั้งให้ข้อมูลเท็จหลายประการ เพื่อปกปิดการสูญนักบินกับเครื่องบินรบของฝ่ายตน ก่อนจะซาลงไปเอง เมื่อจำนนด้วยหลักฐานที่ฝ่ายอินเดียนำออกตีแผ่ โดยโฆษกกองทัพอากาศอินเดีย นำออกแสดงให้สื่อทั่วโลกได้เห็น ในการแถลงข่าววันที่ 28 ก.พ.

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่องจากว่า ปัจจุบันมีเพียง F-16 F-15 และ F-18 ของสหรัฐเท่านั้นที่ใช้ AIM-120 AMRAAM ได้ โดยไม่นับรวมเครื่องบินยุคที่ 5 ทั้งสองรุ่น และ ชิ้นส่วนที่อินเดียยึดได้ ก็ระบุข้อมูลเอาไว้ชัดเจนว่าเป็นลอตที่บริษัทเรย์ธีออน (Raytheon) แห่งสหรัฐ ขายให้แก่ปากีสถานเมื่อปี 2549 -- วัตถุอีกชิ้นหนึ่งที่ปากีสถานพบในแหล่งเครื่องบินตกและนำออกเผยแพร่อย่างไม่รู้ตัว ก็ได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญมัดคอตัวเองชัดเจน ตอกย้ำว่า F-16 ถูกยิงตก

นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.เป็นต้นมา สถานการณ์พลิกผันทำให้ปากีสถานตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ F-16 ไปใช้ในการโจมตีอินเดียนั้น เป็นการละเมิดข้อตกลงทั่วไปกับสหรัฐ และ กำลังถูกสหรัฐกดดันให้ต้องคายความจริงออกมา

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ลูกค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐหลายชนิด รวมทั้งเครื่องบินรบ เรือรบกับระบบอาวุธปล่อยนำวิถีต่างๆ ไม่สามารถนำอาวุธที่มีอยู่ในครอบครองไปใช้โจมตีประเทศเพื่อนบ้านหรือโจมตีฝ่ายใดได้ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสหรัฐ -- ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการใช้งาน เพื่อป้องกันตนเอง
.
กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ -- AIM-120 AMRAAM ไม่สามารถยิงหรือ ปล่อย จากเครื่องบินรบของชาติอื่นได้ นอกจากเครื่องบินรบของสหรัฐ รวมทั้ง F-14 F-15 F-16 กับ F-18 ด้วย และในย่านนั้นมีปากีสถานประเทศเดียวที่ใช้ F-16.
.
*ไม่มีอะไรทดแทน F-16 ได้*

ปากีสถานเป็นชาติอิสลามที่เคยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐ และ เป็นลูกค้าสำคัญของอาวุธยุทโธปกรณ์หลายชนิดที่ผลิตในสหรัฐ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ปากีสถานเคยจัดหา F-16 จากสหรัฐหลายครั้ง จำนวนหลายฝูง ก่อนที่ความสัมพันธ์จะเสื่อมทรามลง นำไปสู่เอ็มบาร์โกโดยสหรัฐที่กล่าวหาว่าปากีสถานให้กลุ่มก่อการร้ายอิสลามจีฮาดใช้ดินแดนเป็นแหล่งซ่องสุม ส่งผลให้แผนการจัดหา F-16 หยุดชงักมาหลายครั้ง รวมทั้งครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในขั้นตอนส่งมอบด้วยซ้ำ

คงจำกันได้ว่าสหรัฐใช้เวลาหลายปีค้นหาตามล่านายอุสซามะ บิน ลาดีน ผู้ต้องหาอยู่เบื้องหลังการโจมตีอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก กับ อาคารกระทรวงกลาโหมสหรัฐในวอชิงตันดีซี ในที่สุดก็ตามแกะรอยจนพบและส่งกำลังเข้าปากีสถานแบบลับๆ บุกเข้าจับตัวและสังหารจอมบงการคาบ้านพัก เรื่องนี้ตกเป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วโลก

ความสัมพันธ์ดีขึ้นมาในระยะหลัง เมื่อปากีสถานให้ความร่วมมือต่อสหรัฐกับพันธมิตรดียิ่งขึ้นในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย ที่ข้ามไปปฏิบัติการในอัฟกานิสถานที่มีชายแดนติดกัน ทำให้การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์เริ่มเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง

ประมาณกันว่าปัจจุบันกองทัพอากาศปากีสถาน มี F-16 บล็อคต่างๆ อยู่ราว 70 ลำ และมี JF-17 สายพันธุ์จีนผลิตเองอีกราว 100 ลำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่มีเครื่องบินรบรุ่นใดสามารถเทียบชั้น เครื่องบินรบกองทัพอากาศอินเดียได้เลย จะมีก็เพียง F-16 นอกจากนั้นปากีสถานเองไม่สามารถจัดหาเครื่องบินรบรุ่นอื่นๆ จากแหล่งอื่นใดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรปที่ตราหน้าปากีสถานเป็นหลังอิงของกลุุ่มก่อการร้าย

นอกจากซื้อ F-16 จากสหรัฐโดยตรงแล้ว หลายปีก่อนโน้นปากีสถานเคยซื้อ F-16 Block 15 ใช้แล้วจากประเทศจอร์แดนอย่างน้อย 2 ครั้ง รวม 2 ฝูง หลายปีมานี้ปากีสถานพยายามอย่างหนัก ที่จะซื้อ F-16 Block 50-52 อีก 1 ฝูงจากสหรัฐ ท่ามกลางเสียงคัดค้านและต่อต้านจากอินเดีย ที่เริ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและกลายเป็นลูกค้าอาวุธสหรัฐอีกรายหนึ่งเช่นเดียวกัน

ในปี 2559 คณะบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้เซ็นอนุมัติโครงการขาย F-16 บล็อค 50/52 จำนวนหนึ่งให้แก่ปากีสถาน โดยรัฐบาลสหรัฐสนับสนุนราคาให้เป็นเงินงบประมาณกว่า 600 ล้านดอลลาร์ แต่โครงการถูก "บล็อค" โดยวุฒิสภา ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลใช้เงินภาษี ไปอุดหนุนการซื้อเครื่องบินรบของต่างชาติ ถึงแม้จะอ้างช่วยสนับสนุนการต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศนั้นก็ตาม

เมื่อถูกขัดขวางจากรัฐสภาสหรัฐ ปากีสถานจึงบ่ายหน้ากลับไปเจรจาซื้อ F-16 บล็อค 15/30 ที่จอร์แดนจะปลดระวาง อีกจำนวนหนึ่ง แต่จะเป็นไม่ได้อีกเช่นกัน หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากสหรัฐ


.
นักรบไซเบอร์ฝั่งปากีสถาน ยังคงพยายามดิ้นรน ยืนยันว่านี่เป็นชิ้นส่วนของ Mig-21 อินเดีย.
.
สำนักข่าว ANI ของอินเดีย ตอบโต้โดยงัดภาพ เคสซิ่ง ของเครื่องยนต์ F-16 ให้ดูชัดๆ ทำให้อีกฝ่ายเงียบลง และ เริ่มหมดมุข.
ดูใกล้ๆอีกที นี่คือเคสซิ่งของเครื่องยนต์ F-16 เมื่อมองจากด้านใน กลายเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ แสดงให้เห็นว่า ลำนี้ออกปฏิบัติการโจมตีอินเดียในวันที่ 27 ก.พ.2562 และ ถูก ควายป่า ทัพฟ้าอินเดียยิงตก -- ปากีสถานยังไม่ปริปากให้รายละเอียดใดๆ.
ชมใกล้ๆ อีกทีเคสซิ่งของเครื่องยนต์  AF110-GE โดยเจเนอรัลอิเล็กทริคส์ สำหรับ F-16 รุ่นปี 1986 -- ไม่เฉพาะ F-16D เท่านั้น ยังรวมทั้ง F-16C ด้วย.
.
อย่างไรก็ตาม วุฒิสภาสหรัฐประกาศว่าถึงแม้จะขัดขวางโครงการของรัฐบาลโอบามา แต่ก็ไม่ได้คัดค้านหากปากีสถานจะซื้อ F-16 ในราคาเต็ม -- เป็นการเปิดประตูนำไปสู่การเจรจากับบริษัทล็อคฮีดมาร์ติน ผู้ผลิตในเวลาต่อมา -- แต่ถ้าหากมีการนำ F-16 ไปใช้โจมตีอินเดียจริงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ความยุ่งยากก็จะติดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากนั้นสำคัญพอๆ กันก็คือเรื่องหน้าตา -- ปากีสถานย่อมรู้สึกเสียหน้าอย่างยับเยิน เมื่อเครื่องบินรบยุคที่ 4 ราคาแพง ถูกเครื่องบินรบยุคที่ 3 ลำละไม่กี่ล้านดอลลาร์ยิงตก ด้วยอาวุธปล่อยฯ ราคาถูกๆ ที่ใช้มานานแต่ยุคสงครามเย็น สหรัฐเองก็ต้องรู้สึกหงุดหงิดมากเอาการ นักการทูตอเมริกันในกรุงนิวเดลี ให้สัมภาษณ์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังแสวงหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

*เพราะจำนนต่อหลักฐาน*

หลักฐานสำคัญที่ฝ่ายอินเดียนำออกยืนยันให้เห็นว่า ปากีสถานใช้ F-16 ในการโจมตีเมื่อวันที่ 27 ก.พ.นั้น ประกอบด้วย 2 ชิ้นดังที่กล่าวมาแล้ว กับชิ้นที่ 3 เป็นหลักฐานเอกสาร ที่เสนอโดยกองทัพอากาศไต้หวัน หลังจากถูกฝ่ายปากีสถานดึงเข้าไปเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ด้วย

1. อินเดียพบซาก อวป.นำวิถี AIM-120 AMRAAM ที่ตกลงในเขตแดนของฝ่ายตน เป็นการยืนยันว่าปากีสถานใช้ F-16 ออกปฏิบัติการทิ้งระเบิดฐานทัพของอินเดียในแคว้นจัมมุ-แคชเมียร์ กระทรวงกลาโหมในกรุงนิวเดลีนำซากชิ้นส่วนสำคัญนี้ออกแถลงข่าว ซึ่งปรากฎให้เห็นซีเรียลนัมเบอร์ของ AIM-120 ลอตนี้อย่างชัดเจน และ ข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐระบุชัดเจนเช่นเดียวกันว่า เป็นลอตที่เรย์ธีออนขายให้แก่ปากีสถาน -- ไม่ใช่ไต้หวัน ตามที่ฝ่ายปากีสถานสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาแพร่ในโลกออนไลน์ในช่วงวันที่ 27-28 ก.พ.

วันที่ 1 มี.ค.กระทรวงกลาโหมไต้หวันได้นำเอกสารสัญญาซื้อขายโพสต์ในเฟซบุ๊ก กลายเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ที่มัดปากีสถานอย่างแน่นหนา

ก่อนหน้านั้นอินเดียมีเพียงคลิป 2-3 ชิ้นที่ราษฎรกับทหารในพื้นที่ถ่ายไว้ แสดงให้เห็นนักบิน 2 คนดีดตัวเองจากเครื่องบิน ซึ่งฝ่ายอินเดียกล่าวว่า นั่นคือนักบิน F-16D แบบ 2 ที่นั่ง ทั้งสองคนทิ้งร่มลงในดินแดนปากีสถาน เสียงในคลิปยังแสดงให้เห็นชาวบ้านพูดถึง "นักบินคนที่ 3" ซึ่งอินเดียกล่าวว่านั่นคือนักบิน Mig-21 ที่ถูกควบคุมตัว ก่อนจะส่งตัวให้ในอีก 2 วันต่อมา

2. ภาพถ่ายกับภาพเคลื่อนไหวโดยกระทรวงกลาโหมปากีสถาน ที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นซาก Mig-21 จากแหล่งที่ถูกยิงตก แต่ก็มีการเสนอภาพอีกภาพหนึ่งอย่างบังเอิญ โดยอาจจะเข้าใจว่านั่นเป็นชิ้นส่วนของมิกอินเดีย แต่ภาพดังกล่าวเป็นแผ่นโลหะที่ใช้ห่อหุ้มเครื่องยนต์ของ F-16 จึงได้กลายเป็นหลักฐานมัดปากีสถานอีกชิ้นหนึ่ง ทั้งมีผลต่อการกล่าวอ้างเรื่อง จำนวนเครื่องบินอินเดียที่ถูกยิงตก กับจำนวนนักบินที่ถูกควบคุมตัวอีกด้วย

วันที่ 27 ก.พ. กระทรวงกลาโหมปากีสถานประกาศในเฟซบุ๊กที่เป็นทางการว่า ยิงเครื่องบินรบของอินเดียรุกล้ำน่านฟ้าตกไป 3 ลำ ควบคุมตัวนักบินได้ 3 คน (เท่ากับจำนวนนักบินในคลิปของฝ่ายอินเดีย) มี 1 คนเสียชีวิต (เวลาต่อมาปากีสถานระบุชื่อ และ กลายเป็นนักบินของฝ่ายตน) นอกจากนั้นยังนำคลิปนักบินที่ถูกจับออกเผยแพร่ แสดงให้เห็นเชลยที่มีแผลบนหัวคิ้ว กำลังถูกสอบปากคำ แต่เพียงไม่นานก็รีบลบคลิปนั้นออกจากเฟซบุ๊ก เพราะอาจเป็นการละเมิดสนธิสัญญาเจนีวาว่าด้วยเรื่องเชลยศึก

ต่อมาโฆษกของปากีสถานได้ลดจำนวนเครื่องบินที่ถูกยิงตกลงเหลือ 2 ลำ พร้อมกับเผยแพร่คลิปจากแหล่งเครื่องบินตก และ แพร่คลิปนักบินที่ถูกควบคุมตัวขณะดื่มน้ำชา (ให้สอดคล้องกับสนธิสัญญากรุงเจนีวา) ต่อมาก็ได้ประกาศใหม่ว่า สามารถยิงเครื่องบิน "ข้าศึก" ตก 1 ลำ จับนักบินเป็นเชลยได้ 2 คน หนึ่งคนถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล (ซึ่งกลายเป็นนักบินปากีฯ คนที่รอดชีวิตนั่นเอง)

นายกรัฐมนตรีปากีสถานอิมราน ข่าน (Imran Khan) ประกาศทางโทรทัศน์ว่า ฝ่ายตนยิง "เครื่องบินมิก" อินเดียตก 2 ลำ นักบิน (ทั้งสอง) ถูกควบคุมตัว -- แต่ในช่วงค่ำวันเดียวกันผู้นำรัฐบาลได้ออกให้ตัวเลขใหม่เป็นว่า มีนักบินอินเดียถูกควบคุมตัวเพียงคนเดียว และ ไม่ได้กล่าวอย่างเจาะจงเกี่ยวกับจำนวน "เครื่องบินมิก" อีก

ในช่วงหนึ่งฝ่ายปากีสถานถึงกับออกข่าวลวงว่า บริษัทล็อคฮีดมาร์ตินเตรียมยืนฟ้องรัฐบาลอินเดีย ที่ให้ข้อมูลเป็นเท็จว่า ยิง F-16 ตก เดือดร้อนถึงสำนักงานบริษัทฯ ของสหรัฐประจำกรุงนิวเดลี ต้องออกแถลงแก้ข่าว ที่ปล่อยโดยฝ่ายปากีสถาน

อินเดียเชื่อว่าฝ่ายปากีสถานอาจไม่ได้ตั้งใจปล่อยข้อมูลอันสับสนดังกล่าว แต่อาจเป็นไปได้ที่ได้รับข้อมูลผิดเพี้ยนจากต้นทาง เนื่องจากต้องผ่านสายบังคับบัญชาอันสลับซับซ้อนหลายระดับชั้น
.
ตามไปดูใกล้ๆ ถึงโรงซ่อมบำรุง.
ตามเข้าไปดูถึงข้างในโรงซ่อม.
.

*"ด็อกไฟต์" ประวัติศาสตร์ Mig-21 vs F-16*

ดังที่กล่าวมาแล้ว เช้าตรู่วันที่ 26 ก.พ.2562 อินเดียส่งฝูง Mirage-2000 เข้าโจมตีฐานฝึกกำลังอาวุธของกลุ่มก่อการร้ายแยกดินแดน จาอิช เอ โมฮัมหมัด โดยใช้ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ความแม่นยำสูงรุ่นหนึ่ง ที่จัดหาจากประเทศอิสราเอล ในตอนสายวันถัดมาคือ 27 ก.พ. ปากีสถานก็ออกปฏิบัติการ "เอาคืน" กลายเป็นข่าวครึกโครม

โฆษกกระทรวงกลาโหมปากีสถาน ได้ออกข้อมูลที่สับสนมาตั้งแต่วันที่ 27 จนถึงเช้าวันที่ 28 ก.พ. ทั้งเคยประกาศในช่วงหนึ่งว่า ปากีสถานยิงเครื่องบินอินเดียตกไป 2 ลำ ลำหนึ่งตกลงในดินแดนแคชเมียร์ อีก 1 ลำตกลงในฝั่งอินเดีย และ ในอีกช่วงหนึ่งถึงกับประกาศ "ชัยชนะ" อย่างเป็นทางการผ่านเฟซบุ๊ก แต่ในที่สุดก็เงียบหายไป โดยไม่มีการชี้แจงเพิ่มเติมใดๆ จนกระทั่งบัดนี้

ในเวลาต่อมา การกลับเป็นว่า 1 คนคือนักบินชาวอินเดียที่ถูกควบคุมตัวเป็นเชลยศึก อีก 2 คน เป็นนักบินปากีสถาน และ ในนั้นเสียชีวิตไป 1 คนในจุดที่ร่มลงถึงพื้น อีก 1 คนถูกนำส่งโรงพยาบาลในเขตยึดครองแคชเมียร์

สำหรับอินเดีย เหตุการณ์นี้ได้ทำให้ชื่อ น.ท.อภินันดัน วารทามาน (Abhinandan Varthaman) นักบิน Mig-21 โด่งดังขึ้นมาในเวลาเพียงข้ามวัน เขาปรากฎตัวในคลิปที่ปากีสถานนำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 และ 28 ก.พ. ในสภาพที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว และ มีรอยยิ้มบนใบหน้าตลอดเวลาแม้อยู่ในท่ามกลางศัตรู เขาได้รับการแซ่ซร้องจากชาวอินเดียนับล้านๆ และ ชาวออนไลน์นับแสนๆได้กล่าวต้อนรับ เขากลับบ้านเยี่ยงวีรบุรุษในอีก 2 วันถัดมา

ไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่น ปากีสถานต้องปล่อยตัว น.ท.อภินันดัน และ ส่งนักบินคนนี้คืนให้แก่อินเดีย ตามสนธิสัญญาเจนีวาฯ ถึงแม้นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน จะประกาศในรัฐสภาว่า รัฐบาลตัดสินใจจะส่งคืนนักบินคนนี้แก่อินเดีย เพื่อแสดงให้เห็นจิตใจที่ใฝ่สันติก็ตาม

ต่อไปนี้เป็นลำดับเหตุการณ์วันที่ 27 ก.พ.2562 โดยละเอียด รวบรวมจากแหล่งข่าวกลาโหมโดยสื่ออินเดีย และ จากโลกออนไลน์ของทั้งสองฝ่าย:

09:52 F-16 ปากีสถานจำนวน 8 ลำบินขึ้นจากฐานทัพแห่งหนึ่ง ในเวลาไล่เรียกัน JF-17 กับ Mirage 2000 อีกอย่างน้อย 16 ลำ บินขึ้นจากฐานทัพอากาศ 3 แห่งในบริเวณใกล้เคียง ทั้งหมดถูกตรวจจับโดยข่ายเรดาร์ กองบัญชาการป้องกันทางอากาศภาคเหนือ F-16 ทั้ง 8 ลำรวมตัวเข้าฝูง บินอยู่ใกล้เขตยึดครองแคชเมียร์ของปากีสถาน เครื่องบินลำอื่นๆ ทยอยบินบ่ายหน้าลงใต้ ในความพยายามลวงอีกฝ่ายหนึ่ง และในที่สุดก็เหลือ F-16 จำนวน 3 ลำที่บ่ายหน้าข้ามพรมแดน ด้านศรีนาการ์ (Srinagar) รัฐปัญจาบ (Panjab) เพื่อทิ้งระเบิดที่ตั้งทางทหารของอินเดีย

09:54 อินเดียส่ง มิก-21 "ไบซัน" 3 ลำจากฐานทัพอากาศศรีนาการ์ กับ Su-30MKI อีก 4 ลำ จากฐานทัพอากาศที่อยู่ไกลออกไป ขึ้นติดตามสกัดเครื่องบินของปากีสถาน

09:58 อินเดียส่งสัญญาณเตือนปากีสถานครั้งแรก ให้ทราบว่าเขากำลังจะล้ำน่านฟ้าอินเดีย และ แจ้งให้เปลี่ยนทาง

09:59 ฝ่ายอินเดียแจ้งเตือนเป็นครั้งที่สอง แต่ฝ่ายปากีสถานไม่ตอบรับใดๆ

10:00 เอฟ-16 ปากีสถานทั้ง 3 ลำ บินล้ำน่านฟ้าอินเดียเข้าไปราว 7 กม. แปรขบวนเตรียมเข้าโจมตีเป้าหมาย

10:01 อินเดียยิงต่อต้านด้วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขณะที่ มิก-21 และ Su-30 ใกล้ถึงจุดเกิดเหตุ ทำให้ เอฟ-16 จำนวน 2 ลำ บ่ายหน้ากลับน่านฟ้าปากีสถาน

10.02 เอฟ-16 ลำหนึ่งทิ้งระเบิดสิ่งปลูกสร้าง ที่พวกเขาอาจเข้าใจว่าเป็นคลังน้ำมัน ในที่ตั้งของกองพลน้อยกองทัพบกอินเดียแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ

10:03 มิก-21 (โดย น.ท.อภินันดัน) ที่บินปฏิบัติการอยู่ในเขตใกล้เคียงที่สุด ไปถึงบริเวณเกิดเหตุการณ์ก่อนและตรงเข้าสกัด F-16 ขณะพยายามหันหัวกลับ โดยมี Su-30 ลำแรกตามไปถึง สมทบในเวลาไล่เรี่ยกัน แต่ได้ปลีกไปทำหน้าที่บินคุ้มกันที่ตั้งทางทหารแห่งนั้นแทน

จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดในช่วงเริ่มต้น เกิดขึ้นและดำเนินไปภายในเวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการพันตู หรือ "ด็อกไฟต์" เหนือน่านฟ้าของอินเดีย เศษชิ้นส่วนของ AIM-120 AMRAAM ที่พบหล่นลงในดินแดนของฝ่ายตน บอกให้ทราบว่ามีการยิงจาก F-16 แต่พลาดเป้าหมาย

(สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันอาทิตย์ 3 มี.ค. อ้างแหล่งข่าวทางทหารในกรุงอิสลามาบัด ที่ระบุว่าเครื่องบินของปากีสถาน -- ที่ไม่ได้เจาะจงรุ่น/ชนิด -- เพียง "ล็อคเป้าหมาย" อันหมายถึงเครื่องบินของอินเดีย เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของฝ่ายตน แล้วก็ปล่อย (AIM-120) ลงสู่พื้นเบื้องล่าง ที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างและไม่ทำให้ผู้ใดได้รับอันตราย)
.
ชิ้นส่วนของ Mig-31 ที่ปากีสถานนำออกเผยแพร่ แต่ไม่ยอมแชร์ ไม่ยอมเปิดเผย ภาพเครื่องบินของฝ่ายตนโดนสอยร่วง มีการประกาศชื่อนักบินเคราะห์ร้าย แต่ไม่ยอมปริปากพูดถึงว่าเป็นเครื่องบินรบรุ่นใดที่ถูกยิงตก -- หลักฐานของฝ่ายอินเดียแสดงให้เห็นว่า F-16 และ สหรัฐกำลังหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้.
.
เวลานั้นนับเป็นช่วงรอยต่อสำคัญ ที่มิก-21 ของ น.ท.อภินันดัน ทำ "ฮอท เพอร์สูท" (Hot Pursuit) หรือไล่ติดตาม F-16 ลำดังกล่าวแบบติดพันกระชั้นชิด จนกระทั่งล้ำเข้าสู่น่านฟ้าปากีสถาน -- เขาสามารถล็อคเป้าได้สำเร็จ และปล่อยให้ R-73 ทำหน้าที่ของมัน

อีโคโนมิกส์ไทม์ส (อินเดีย) รายงานอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวกองทัพว่า หลังล็อคเป้าหมาย และปล่อยอาวุธ R-73 ได้เพียงเสี้ยวนาที มิก-21 ของเขาก็ถูกยิง ขณะทำ "บาร์เรล โรล" (Barrel Role) หรือ หมุนตัวไต่เพดานขึ้นสูง เพื่อหันหัวกลับสู่น่านฟ้าอินเดีย แต่ทั้งนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นการยิงจากระบบป้องกันทางอากาศภาคพื้นดิน หรือ ถูกล็อคเป้าโดย F-16 ลำอื่น หรือ เป็นการล็อคเป้าโดยเครื่องบินรบลำใดลำหนึ่งของฝ่ายปากีสถาน

รายละเอียดทั้งหลายทั้งปวงของเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นห้วงเวลาและการพันตูกับฝ่ายปากีสถาน รวมทั้งชนิดเครื่องบิน กับอาวุธที่ทั้งสองฝ่ายใช้นั้น น.ท.อภินันดัน ย่อมสามารถให้ข้อเท็จจริงได้ หลังจากการตรวจร่างกายและพักฟื้นตัว ที่โรงพยาบาลกองทัพอากาศแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี

*Mig-21 สอย F-16 ได้จริงหรือ*

ปี 2562 เป็นปีที่ 60 ปีพอดี นับตั้งแต่ Mig-21 ลำแรกขึ้นบินในน่านฟ้าสหภาพโซเวียต ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีคำถามขึ้นมาว่า เครื่องบินแสนจะโบราณรุ่นนี้สามารถยิง F-16 ได้จริงๆ หรือ ขณะที่คู่ต่อสู้เป็นเครื่องบินรบยุคที่ 4 ระบบเอวิโอนิกส์กับเรดาร์ดีกว่า บินเร็วกว่าและทันสมัยกว่าในเกือบจะทุกด้าน

Mig-21 บินในน่านฟ้าโซเวียตกับมิตรประเทศมาเป็นเวลา 20 ปี ก่อน F-16 ลำแรกจะก่อกำเนิดออกมา พร้อมเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่า แทบจะเรียกได้ว่า "ใหม่ทั้งตัว" นอกจากนั้น F-16 ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง หากได้รับการพัฒนายกระดับมาหลายครั้ง เป็นหลาย "บล็อค" ดังที่กล่าวมาแล้ว -- เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ Mig-21 โบราณจะประมือเครื่องบินรบยุคที่ 4 อย่าง F-16 ได้หรือ?

คำตอบสำหรับคำถามนี้มีมานานแล้วคือ "ได้" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Mig-21 กองทัพอากาศอินเดีย ที่ผ่านการพัฒนามาสู่รุ่นสูงสุดในปัจจุบัน พร้อมติดตั้ง "กระเปาะอิเล็กทรอนิกส์" รบกวนสัญญาณเรดาร์ (Radar Jamming Pod) คุณภาพสูงรุ่นหนึ่งที่ผลิตโดยอิสราเอล
.
กระเปาะ Jamming Pod ของอิสราเอล เป็นเครื่องมือสำคัญทำให้ Mig-21 ของอินเดียกลายเป็น ควายป่าล่องหน สหรัฐเองได้รับรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2547 ระหว่างการฝึกร่วมกับฝ่ายอินเดีย คราวนั้น F-15 เจอกับ Mig-21 แบบตัวต่อตัวถึง 2 ครั้งสองหน.
.
ถึงแม้ว่าดีไซน์ดั้งเดิมของโซเวียตจะถูกมองว่าโบราณ และ ล้าสมัยก็ตาม แอร์เฟรมของ Mig-21 ก็ยังถูกใช้ต่อมาอีก 60 ปี และ ตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา มีการผลิตออกมาเป็นหลายรุ่น จากหลายแหล่งผลิต ผ่านการกระบวนการพัฒนาต่างๆ มาต่อเนื่อง รวมทั้งติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นใหม่ ระบบเรดาร์ใหม่ ระบบเอวิโอนิกส์ใหม่ ระบบควบคุมการยิงใหม่มาเป็นระยะ ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีกลาโหม

จากการก่อเกิดเป็นเครื่องบินรบยุคที่ 2 พัฒนามาเป็นยุคที่ 3 ผ่านศึกมามากมายในทั่วโลก รวมทั้งสงครามชายแดนอินเดีย-ปากีสถานในทศวรรษ 1960-1970 สงครามเวียดนาม สงครามในคาบสมุทรเกาหลี สงครามในยุโรปตะวันออก ในแหลมบัลข่าน จนถึงสงครามอิหร่าน-อิรัก ยิว-อาหรับ อียิปต์-ลิเบีย สงครามอ่าวเปอร์เซีย และ สงครามซีเรียเมื่อไม่กี่ปีมานี้่

เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ Mig-21 มีใช้ในหลายสิบประเทศ ใน 4 ทวีปทั่วโลก เคยทำสถิติเป็นเครื่องบินซูเปอร์โซนิคที่ผลิตออกมามากที่สุดในโลก ปัจจุบันยังมีประจำการในกองทัพอากาศกว่า 10 ประเทศ โดยผ่านการอัปเกรด เช่นเดียวกับของทัพฟ้าอินเดีย ซึ่งในวันนี้เป็นผู้ใช้รายใหญ่ที่สุด ถัดจากโซเวียตเมื่อก่อน

อินเดียบรรจุ Mig-21 รุ่นแรกที่ซื้อจากโซเวียตเมื่อปี 2507 เป็นเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียงรุ่นแรกของกองทัพ ต่อมาซื้อสิทธิบัตรไปผลิตเองในประเทศ โดยเริ่มในทศวรรษที่ 1980 เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นด้านกลาโหมกับโซเวียต ที่ดำเนินมาจนถึงยุครัสเซียในปัจจุบัน -- แต่นั้นมาอินเดียได้ผลิตเวอร์ชั่นต่างๆ ออกมาจำนวนหลายร้อยลำ สายการผลิตดำเนินมาจนถึงปี 2556 ปีที่อินเดียประกาศจะทยอยปลดเครื่องบินรบรุ่นนี้ และบรรจุ "เทจาส" (Tejas) เครื่องบินโจมตีเบาผลิตเองในประเทศแทน
.

.
ถึงแม้ว่า Mig-21 จะสร้างความประทับใจให้แก่กองทัพอากาศมากมาย นับตั้งแต่ออกปฏิบัติการครั้งแรกในสงครามย่อมๆ ตามแนวชายแดนกับปากีสถานเมื่อปี 2508 กับอีกครั้งหนึ่งในสงคราม "ปากีสถานตะวันออก" (บังกลาเทศ) แต่ Mig-21 อินเดียก็มีสถิติสูญเสียสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดอุบัติเหตุ ที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุด แต่ปัญหาดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดของคนเป็นหลัก นั่นคืออินเดียไม่สามารถผลิตนักบิน ให้ทันจำนวนเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ทำให้รัฐบาลต้องลงทุนเรื่องนี้อย่างมากมายในช่วงปีหลังๆ
.
อวป.นำวิถีระยะสั้น R-73 ปล่อยออกจากใต้ปีก Su-27 ลำหนึ่ง เป็นอาวุธประสิทธิภาพสูงอีกรุ่นหนึ่ง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการพันตูทางอากาศ เช่นเหตุการณ์วันที่ 27 ก.พ.2562.
.
ตามข้อมูลในนิตยสาร Military Watch นั้นมี Mig-21 อินเดียจำนวน 125 ลำ ผ่านการอัปเกรดแบบ Deep Upgrade ซึ่งเป็นการพัฒนายกระดับแบบ "หัวจดท้าย" จากโรงงานโซโคล (Sokol) ของมิโกยัน ในแคว้นนิซนี น็อฟกอร็อด (์Nizhny Novgorod) กลายเป็น "ควายป่า" Mig-21-83 และ ต่อมาเป็น Mig-21-93 เวอร์ชั่นล่าสุด

ตัวเลขที่สามารถสืบค้นได้บ่งชี้ว่า จนถึงปีนี้ .. 2562 กองทัพอากาศอินเดียยังมี Mig-21-93 เหลืออยู่ 113 ลำ และ ถ้าหากตัวเลขนี้เป็นจริง หลังเหตุการณ์วันที่ 27 ก.พ. จำนวนก็จะลดลงเหลือเพียง 112

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ Mig-21-93 ติดตั้งเครื่องยนตร์ดีที่สุด ระบบเรดาร์และเอวิโอนิกส์รุ่นใหม่ทันสมัยที่สุดจากรัสเซีย สำหรับเครื่องบินรบระดับเดียวกัน พร้อมระบบควบคุมการยิงใหม่ ที่สามารถใช้ อวป.นำวิถีระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะไกล ในตระกูล Vympel ได้ทุกรุ่น ซึ่งได้แก่ R-27, R-37, R-73, R-77 และ R-27ER ที่เพิ่มระยะยิงให้ไกลขึ้นอีก รวมทั้ง อวป.นำวิถีอื่นๆ อีกหลายรุ่น

อุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่เพิ่มความดุดันให้ "ควายป่า" อินเดีย ก็คือ "แจมมิ่งพ็อด" EW El/L8222 ที่ผลิตโดยกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน IAI (Israel Aerospace Industries) แห่งอิสราเอล กระเปาะตัวนี้ช่วยให้แอร์เฟรมที่มีขนาดเล็กเพรียว และหลบเลี่ยงเรดาร์ได้มากอยู่แล้ว สามารถอำพรางตัวเองแบบ "ล่องหน" (Stealthy) จากระยะไกลได้ดียิ่งขึ้น
.
น.ท.อภินันดัน วารทามาน นักบิน Mig-21 ที่จุดผ่านแดนแห่งหนึ่ง ขณะถูกส่งตัวให้แก่อินเดียคืนวันที่ 1 มี.ค. เขากลายเป็นวีรบุรุษ เป็นผู้สร้างประวัติกาล และ ได้รับฉายาจากชาวเน็ตให้เป็น ฟัลคอน สเลเย่อร์ (Falcon Slayer) หรือ มือสังหารเหยี่ยวผยอง ซึ่งหมายถึง Fighting Falcon อันเป็นสมญาของ F-16 -- แบบเดียวกับ ดรากอน สเลเย่อร์ (Dragon Slayer) เหล่าอัศวินนักล่ามังกรในตำนาน.
.
เคยมีผู้เชี่ยวชาญในวงการหลายคน เขียนถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2547 ในการฝึก COPE India ประจำปีระหว่างอินเดียกับสหรัฐ ซึ่ง Mig-21 ของเจ้าภาพสามารถพรางตัวเข้าใกล้ F-15C/D ของสหรัฐได้อย่างน่าประหลาดใจด้วยพ็อด EW El/L8222 ที่ทำให้ Mig-21 อินเดียกลายเป็น "ควายป่าล่องหน" จากระยะไกล ทำให้เรดาร์ที่ก้าวหน้ากว่าของ F-15 บอดใบ้ และ เรื่องนี้สร้างความฉงนให้แก่ฝ่ายสหรัฐ ที่ไม่คาดคิดมาก่อน เว็บไซต์กลาโหมปากีสถานเอง ก็เขียนถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

นิตยสาร Military Watch เขียนถึงเรื่องเดียวกันนี้ อีกครั้งหลังเกิดการ "ด็อกไฟต์" 27 ก.พ.2562 เป็นการเฉลยคำตอบอีกรอบหนึ่ง

การที่เครื่องบินรบลำหนึ่งมีขีดความสามารถทำ "สงครามอิเล็กทรอนิกส์" อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถฝ่าการตรวจจับของเรดาร์ จนเข้าใกล้เครื่องบินรบฝ่ายตรงข้ามได้ ในระยะที่มองเห็นด้วยตา หรือ Within Visual Range (WVR) นั้น เป็นจุดเริ่มต้นของอันตรายทั้งหลายทั้งปวงที่จะตามมา รวมทั้งการพันตูกระชั้นชิดกลางอากาศ ซึ่งฝ่ายที่ล็อคเป้าได้ก่อนย่อมได้เปรียบ

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ในเวลาต่อมาสหรัฐติดตั้งอุปกรณ์แบบเดียวกันนี้ บนเครื่องบินรบหลายรุ่นและจำนวนหลายฝูง ทั้ง F-16, F-15 และ F-18 ทั้งพ็อด EW El/L8222 และ อุปกรณ์รุ่นอื่นๆ ที่มีฟีเจอร์กับขีดความสามารถทัดเทียมกัน

และ ดูเหมือนว่าพ็อด EW El/L8222 ได้แสดงฤทธิ์เดชให้ปรากฎอีกครั้ง ในเหตุการณ์วันที่ 27 ก.พ. เพียงแต่ครั้งนี้เหยื่อกลับกลายเป็นเครื่องบินรบที่ผลิตในสหรัฐเสียเอง
.
Mig-21 สอย F-16 ได้จริงหรือ มีคำตอบแล้ว -- ได้ ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ และ จะต้องจารึกการทำ ด็อกไฟ้ต์ ในวันที่ 27 ก.พ.2562 เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์.
.

*เหตุการณ์นี้ไม่ไกลตัว*

ยังไม่มีการยอมรับเป็นทางการจากฝ่ายปากีสถานว่า F-16 ของตนถูกยิงตกไป 1 ลำ และ อาจจะไม่มีการยืนยันเรื่องนี้ออกมาจากฝ่ายโน้นเลยก็เป็นได้ ถึงแม้อินเดียจะมีหลักฐานแน่นหนา จนกระทั่งปากีสถานต้องหยุดการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องนี้ลงอย่างสนิทก็ตาม วงการทั่วโลกต่างมีความหวังว่า สักวันหนึ่งสหรัฐอาจจะเปิดเผยผลการสอบสวนหาข้อเท็จจริง หรือ อาจมีมาตรการใดๆออกมาต่อปากีสถาน ที่ส่อให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการหลายคน รวมทั้งบรรณาธิการนิตยสาร Aviationist ที่ได้รับความเชื่อถือมานานเป็นเวลานานในอุตสาหกรรมอากาศยาน ต่างลงความเห็นว่ากรณีล่าสุดได้ช่วยยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า เครื่องบินที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ย่อมทำให้มีโอกาสได้เปรียบ แต่ตัวแปรที่สำคัญพอๆ กันก็คือนักบิน -- นักบินขับไล่ที่มีประสบการณ์สามารถใช้เครื่องบินที่ประสิทธิภาพด้อยกว่า เอาชนะฝ่ายศัตรูที่เหนือกว่าได้

ด็อกไฟต์หักปากกาเซียนอินเดีย-ปากีสถาน ยังทำให้ฝ่ายที่เชื่่อมั่นว่า ตนเองมีระบบอาวุูธที่ทันสมัยกว่าย่อมมีประสิทธิภาพเหนือกว่าฝ่ายอริ จะต้องทบทวนความคิดความเชื่อใหม่ และ หันมาเอาใส่ต่อการฝึกฝนคนที่ใช้มัน ให้มากยิ่งกว่าเดิม

สำหรับชาวไทยทั่วไป Mig-21 ไม่ใช่สิ่งไกลตัวเลยแม้แต่น้อย เพราะอย่างน้อยทื่สุดก็เคยมีประจำการในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง รวมทั้งกองทัพอากาศ สปป.ลาว นอกจากนั้น Mig-21 ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งในช่วงปลายสงครามเวียดนาม ยิงเครื่องบินรบ เครื่องบินลำเลียงกองทัพอากาศสหรัฐตกไปนับร้อยลำ ทำให้เกิด "เสืออากาศ" ในกองทัพรวม 12 คน -- ส่วน Mig-21 ของกัมพูชาเสื่อมสภาพไปทั้งหมดแล้ว และ ไกลออกไปกองทัพอากาศอินโดนีเซียได้ปลดประจำการทั้งหมดแล้วเช่นกัน
.
Su-30MKI ของอินเดียติด อวป.นำวิถีครอบครัววีมเพล (Vympel) ได้หลากหลายรุ่นรวมทั้ง R-73 ด้วย และ จะมีอันตรายมากยิ่งขึ้นหากเป็น R-37 หรือ R-77 ยิงจากระยะไกลสู่เป้าหมายที่อยู่ หลังเส้นขอบฟ้า และ ยิงแล้วลืม -- ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยมีอาวุธเหล่านี้.
.
เมื่อพูดถึง อวป.นำวิถี R-73 ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวอีกเช่นกัน เพราะมีใช้อยู่ในกองทัพเพื่อนบ้านย่านนี้หลายประเทศ "MGR ออนไลน์" เคยนำเสนอเมื่อหลายปีก่อน เกี่ยวกับกองทัพอากาศมาเลเซียจัดหา อวป.นำวิถีอากาศสู่อากาศระยะปานกลาง-ระยะไกล R-77 ในครอบครัว "วิมเพล" (Vympel) ที่ผลิตในโซเวียต/รัสเซีย เพื่อใช้กับฝูง Su-30MKM และ Mig-29 อีกฝูงหนึ่งที่ยังใช้งานได้อยู่หลายลำในปัจจุบัน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถครั้งสำคัญสำหรับการรบทางอากาศ

ส่วน F-16 กับ AIM-120 AMRAAM เป็นเรื่องในบ้านของเราเอง เนื่องจากเป็นเครื่องบินรบกับอาวุธคู่กาย ใช้เป็นกำลังหลักของกองทัพอากาศไทยตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้

เหตุการณ์พันตูระหว่างเครื่องบินรบอินเดีย-ปากีสถานสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ช่วยทำให้เห็นอีกครั้งว่า อาวุธของโซเวียต/รัสเซีย ที่ใช้งานมายาวนานหลายทศวรรษ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ผ่านสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน ยังสามารถทำอันตรายคู่ต่อสู้ได้จริง และ ยังเป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุดสำหรับชาวไทย เพราะมีใช้อยู่ในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงโดยรอบ

สถานการณ์อาจจะพลิกผันยิ่งกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เป็นได้ ถ้าหาก อวป.รุ่นนั้นเป็น R-27 หรือ R-77 ที่ปล่อยจากระยะไกล "หลังเส้นขอบฟ้า" ปล่อยจากเครื่องบินรบรุ่นใหม่ทันสมัยกว่า Mig-21 ไม่ว่าจะเป็น Mig-29 หรือ Su-30.
กำลังโหลดความคิดเห็น