xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ชื่นมื่น เวียดนามเซ็นข้อตกลงด้านการบินกว่า $21,000 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ (ซ้าย) สัมผัสมือกับนายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุ้ก ของเวียดนาม ที่ทำเนียบรัฐบาลในกรุงฮานอย วันที่ 27 ก.พ. -- Agence France-Presse/Saul Loeb.

เอเอฟพี - สายการบินของเวียดนามได้ลงนามข้อตกลงด้านการบินกับบริษัทของสหรัฐฯ รวมมูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์ ในวันนี้ (27) ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พบหารือกับผู้นำระดับสูงของเวียดนามในกรุงฮานอยก่อนการประชุมซัมมิตกับคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ

ทรัมป์ได้เรียกร้องให้ฮานอยลดช่องว่างทางการค้ากับวอชิงตัน ที่เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย ‘อเมริกามาก่อน’ และเรียกร้องให้เวียดนามซื้อสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ ให้มากขึ้น

ภาคการบินของเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลางที่ความต้องการในการเดินทางทางอากาศกำลังเติบโต

สายการบินของเวียดนาม 3 ราย ได้ลงนามข้อตกลงหลายฉบับสำหรับการจัดซื้อเครื่องบิน เครื่องยนต์ และการบำรุงรักษา ขณะที่ทรัมป์พบหารือกับผู้นำระดับสูงของประเทศในกรุงฮานอย ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตครั้งที่ 2 กับผู้นำคิมที่จะเกิดขึ้นในเย็นวันเดียวกันนี้

สายการบินเวียดเจ็ท (Vietjet) สายการบินต้นทุนต่ำของเวียดนาม ได้ลงนามข้อตกลงสำหรับการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 จำนวน 100 ลำ มูลค่า 12,700 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับสัญญาการฝึกอบรมและการสนับสนุน ตามการเปิดเผยของสายการบิน

“เรามีความยินดีที่จะขยายความเป็นหุ้นส่วนของเรากับเวียดเจ็ทและสนับสนุนการเติบโตที่น่าประทับใจด้วยเครื่องบินใหม่ประสิทธิภาพสูง” เควิน แมคอัลลิสเตอร์ ซีอีโอบริษัทโบอิ้ง กล่าวในคำแถลงจากสายการบิน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวกล่าวว่า สายการบินต้นทุนต่ำจะจัดซื้อเครื่องยนต์ 215 เครื่อง ที่ผลิตโดยบริษัท CFM ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท GE Aviation ของสหรัฐฯ และบริษัท Safran Aircraft Engines ของฝรั่งเศส

ด้านสายการบินแบมบู (Bamboo Airways) สายการบินน้องใหม่ของเวียดนาม ที่เพิ่งเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไปเมื่อเดือนก่อน จะจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 787 Dreamliners จำนวน 10 ลำ ในความมุ่งหวังที่จะขยายฝูงบินของบริษัทและขยายเส้นทางบินไปยังปลายทางต่างประเทศ

“ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเส้นทางบินตรงระหว่างสองประเทศจึงมีความสำคัญ” จีง วัน เกวียต ประธานกลุ่มบริษัท FLC ที่เป็นบริษัทแม่ของสายการบินแบมบู กล่าว

แบมบูระบุว่า สายการบินต้องการที่จะเริ่มให้บริการเส้นทางบินตรงไปยังสหรัฐฯ ในปลายปีนี้ หรือต้นปี 2563

ปัจจุบันเวียดนามยังไม่มีเที่ยวบินตรงกับสหรัฐฯ แม้ว่าสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (FAA) ได้จัดอันดับมาตรฐานด้านการบินให้เวียดนามอยู่ใน Category 1 ซึ่งเป็นการปูทางสำหรับการเดินทางแบบไม่หยุดพักระหว่างทั้งสองประเทศ

ในขณะเดียวกันสายการบินเวียดนาม (Vietnam Airlines) ได้ลงนามสัญญาการบำรุงรักษา มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์กับบริษัท Sabre Corporation

การลงนามข้อตกลงเหล่านี้ได้รับการยกย่องจากทำเนียบขาว ที่ยังเรียกร้องให้อดีตศัตรูสงครามจัดซื้ออุปกรณ์ทางทหารเพิ่มเติมอีกด้วย

“ข้อตกลงเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนตำแหน่งงานชาวอเมริกันมากกว่า 83,000 ตำแหน่ง และเพิ่มความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือให้กับนักเดินทางระหว่างประเทศชาวเวียดนาม” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาว กล่าวหลังการลงนามข้อตกลง

ภาคการบินของเวียดนามเติบโตสูงในช่วงหลายปีมานี้ ด้วยจำนวนผู้โดยสารที่พุ่งขึ้นจาก 25 ล้านคนในปี 2555 เป็น 62 ล้านคนในปี 2561

แต่นักวิเคราะห์ระบุว่า การเติบโตดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากเผชิญกับขีดความสามารถของสนามบินที่แออัดขึ้นเรื่อยๆ และการแข่งขันอย่างรุนแรงทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสายการบินต้นทุนต่ำเช่น แอร์เอเชีย และไทเกอร์แอร์.



ประธานาธิบดีทรัมป์ (ซ้าย) สัมผัสมือกับประธานาธิบดีเหวียน ฝู จ่อง ของเวียดนาม. -- Reuters/Luong Thai Linh.

ผู้นำสหรัฐฯ และเวียดนาม ร่วมเป็นพยานในพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างนางเหวียน ถิ เฟือง ถาว ซ๊อีโอบริษัทเวียดเจ็ท (ขวา) และนายเควิน แมคอัลลิสเตอร์ ซีอีโอบริษัทโบอิ้ง. — Reuters/Luong Thai Linh.


นายจีง วัน เกวียต ประธานสายการบินแบมบูแอร์เวย์ส (ขวา) ลงนามข้อตกลงกับนายเควิน แมคอัลลิสเตอร์ ซีอีโอบริษัทโบอิ้ง. -- Reuters/Luong Thai Linh.





กำลังโหลดความคิดเห็น