xs
xsm
sm
md
lg

ผลการศึกษาชิ้นใหม่ระบุเมืองพระนครค่อยๆ ล่มสลาย หลังชนชั้นนำย้ายชุมชนใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ผลการศึกษาของคณะนักโบราณคดีและนักภูมิศาสตร์ชาวกัมพูชาและชาวออสเตรเลียพบว่า เมืองพระนคร (Angkor) เมืองหลวงโบราณของอาณาจักรขอม ดูเหมือนว่าจะเผชิญกับการค่อยๆ ล่มสลายลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าที่จะเป็นการล่มสลายลงอย่างย่อยยับ ตามรายงานที่เผยแพร่วานนี้ (25)

นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ต่างพยายามแสวงหาคำอธิบายกันมาเป็นเวลายาวนานว่าเหตุใดเมืองพระนครถึงถูกทิ้งร้างไปในศตวรรษที่ 15 ที่หลายคนเสนอว่าเป็นเพราะการรุกรานของกองกำลังอยุธยาในปีพ.ศ. 1974

แดน เพนนี จากวิทยาลัยธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมศึกษา ที่ผลงานได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) กล่าวว่า บันทึกทางประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 15 ที่เมืองพระนครนั้นว่างเปล่า

“ไม่มีบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่จะบอกเราได้ว่าพวกเขาทิ้งเมืองไปเพราะเหตุใด เมื่อไหร่ อย่างไร ทุกสิ่งที่เหลือรอดคือสิ่งที่ถูกสลักอยู่บนหิน” เพนนี กล่าว

สำหรับการศึกษานี้ ทีมวิจัยได้ตรวจสอบตัวอย่างแท่งตะกอนขนาดลึก 70 เซนติเมตร ที่เก็บมาจากคูน้ำรอบนครธม เมืองหลวงของอาณาจักรขอม

เพนนี กล่าวว่า แท่งตะกอนเหล่านี้เป็นดั่ง “หนังสือประวัติศาสตร์ตามธรรมชาติที่บันทึกความเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและสภาพภูมิอากาศ และการเจริญเติบโตของพืชที่ผ่านไปในแต่ละปี

ที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่ จะทิ้งร่องรอยของการใช้ไฟ การสึกกร่อนของหน้าดินจากการเกษตรและพืชรุกราน และเมื่อผู้คนจากไป สภาพต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลง

เพนนีกล่าวว่า ในช่วงหลายสิบปีแรกของศตวรรษที่ 14 จะเริ่มเห็นการลดลงของการใช้ที่ดินและการเผาไม้ พืชถูกทำลายลดลง การสึกกร่อนของหน้าดินลดลง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 คูน้ำทางใต้ของนครธมมีพืชขึ้นรก ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่าการจัดการหยุดชะงักลง

“เมืองพระนครไม่ได้ถูกทิ้งร้างไปอย่างสิ้นเชิง แต่กลุ่มชนชั้นนำย้ายออกไปจากเมืองพระนคร ย้ายไปยังชุมชนใหม่แห่งอื่นที่มีโอกาสทางการค้ามากกว่า” เพนนี กล่าว

“นี่ไม่ใช่การล่มสลาย แต่เป็นทางเลือกที่แน่วแน่เพื่อเปลี่ยนจุดโฟกัสไปจากเมืองพระนคร” เพนนี ระบุ

“ขณะที่ความล้มเหลวของเครือข่ายการจัดการน้ำของเมืองพระนคร ที่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 และต้นศตวรรษที่ 15 แสดงถึงการสิ้นสุดของเมืองพระนครในฐานะถิ่นฐานที่อยู่อาศัยได้ แต่ข้อมูลของเราชี้ว่า การสิ้นสุดของเมืองพระนครมีลางมาจากจำนวนประชากรที่ลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน” ผลการศึกษา ระบุ

“สิ่งนี้เพิ่มความเป็นไปได้ที่ชนชั้นนำของเมืองไม่ได้ออกจากเมืองพระนครเพราะโครงสร้างพื้นฐานล้มเหลวตามที่เสนอกัน แต่ว่าโครงสร้างพื้นฐานล้มเหลว (หรือขาดการบำรุงรักษา) เพราะชนชั้นนำในเมืองได้ย้ายออกไป”

“การไม่มีอยู่ของชนชั้นปกครองของเมืองพระนครในปลายศตวรรษที่ 14 ทำให้เกิดแนวคิดที่ต่างไปต่อการยึดครองเมืองของอยุธยาตั้งแต่ปีพ.ศ. 1974 และเรื่องเล่าของชาวกัมพูชาที่เน้นถึงความสูญเสียด้วยฝีมือของรัฐใกล้เคียง” งานศึกษา ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น