xs
xsm
sm
md
lg

ภาพชุดตระการตา รถถัง T-34 จากลาวไม่เจอหิมะมา 30 ปีรัสเซียเริ่มปรับสภาพทั้ง 30 คัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ขบวนรถทรานส์ไซบีเรีย นำ T-34-85 ทั้ง 30 คันไปถึงโนโวสิเบิร์สค์ ตอนกลางของประเทศ 16 มค. และไปถึงที่หมายในอีก 5 วันต่อมา วีรบุรุษสงคราม จากแดนลาวกลับคืนสู่บ้านเกิด นี่คือรถถังเจ้าแห่งตำนานที่ช่วยกอบกู้ผืนแผ่นดินแม่ให้พ้นจากนาซีเมื่อ 75 ปีก่อน ตั้งแต่นั้นมา T-34 รุ่นต่างๆ ได้กระโจนเข้าสู่สงครามกับความขัดแย้งในหลายทวีปทั่วโลกนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งในเหตุการณ์พิพาทพรมแดนบ้านร่มเกล้า 2530-2531 ด้วย.
[Accompanying Photos Courtesy Ministry of Defence of the Russian Federation]

MGR ออนไลน์ -- กระทรวงกลาโหมรัสเซียเริ่มปรับสภาพรถถังเจ้าแห่งตำนานจำนวน 30 คันที่ "ได้รับบริจาค" จาก สปป.ลาว และ ส่งถึงบ้านแห่งใหม่ใกล้กับกรุงมอสโกเมืองหลวงสัปดาห์ปลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้งานในสภาพอากาศหนาวเย็นของท้องถิ่นได้ หลังจากไม่เคยได้เจอหิมะมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ รวมทั้งติดตั้งระบบทำความอบอุ่นในห้องโดยสาร และ ระบบพรีฮีตสำหรับเครื่องยนต์ด้วย

การปรับสภาพรถถัง T-34-85 ทำขึ้นภายในที่ตั้งอันเป็นบ้านถาวรแห่งใหม่คือ กองพลยานเกราะแคนเตมิรอฟสกายา (Kantemirovskaya) ในเขตมอสโก (Moscow Oblast) ซึ่งเป็นหน่วยรบยานเกราะที่มีประวัติการสู้รบมาโชกโชน ทั้งในประวัติศาสตร์ช่วงสงครามต้านการรุกรานของนาซีเยอรมัน การบุกยึดนครเดรสเด็น เยอรมนี มาจนถึงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ซึ่งรวมทั้งสงครามเวียดนาม กับสงครามแยกดินแดนในเช็คเนียทั้งสองรอบอีกด้วย

ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมรัสเซียการปรับสภาพ T-34 ที่ประจำการในกองทัพประชาชนลาวมานาน 31 ปี จะต้องกระทำในหลายจุด เพื่อให้สามารถใช้การได้เมื่ออยู่ในรัสเซีย ในชั้นต้นนี้ผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น กำลังศึกษาทดลองและทดสอบโดยใช้มากกว่า 20 วิธีการ -- รถถังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ยังขับเคลื่อนด้วยระบบกลไกทั่วไป จะต้องดัดแปลงเพื่อให้มีความปลอดภัย สำหรับการใช้งานในปัจจุบันอีกด้วย

สิ่งที่จะต้องดัดแปลงปรับปรุงทั่วไปมีกว่า 10 รายการ รวมทั้งการติดตั้งระบบ "แอนตี้ฟรีซ" ป้องกันใม่ให้ของเหลวต่างๆ แข็งตัว ติดตั้งเครื่องมือชนิดนี้ในหม้อน้ำ ติดตั้งระบบทำความอบอุ่นในห้องโดยสาร ติดอุปกรณ์ระบบ "พรี-ฮีท" เพื่อช่วยอุ่นเครื่อง (ระบบ "เผาหัว" ที่ใช้ในเครื่องยนต์ดีเซลเมื่อก่อน -- บก.) นอกจากนั้นกระทรวงฯ ได้จัดส่งเชื้อเพลิงกับสารหล่อลื่นที่ใช้กับรถถัง T-34 โดยเฉพาะไปสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อให้ระบบต่างๆ สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพดีที่สุด

การปรับปรุงและซ่อมบำรุงทั้งหมด ดำเนินการโดยทีมช่างของกองพลเอง ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บังคับกองพันในสังกัด กระทรวงกลาโหมกล่าว

เวียเชสลาฟ ฮาลิตอฟ รองผู้อำนวยการใหญ่บริษัทอูราลวากอนซาว็อด (Uralvagonzavod) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตรถถังชั้นนำของรัสเซียในปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า ได้รับคำสั่งจากกระทรวงกลาโหมให้เข้าช่วยเหลืองานปรับปรุง T-34 ทั้งหมด ให้มีสภาพดีเยี่ยม โดยเชื่อว่าคงไม่มีการแก้ไขในเชิงลึกอะไรมากมาย เนื่องจากทั้ง 30 คันมีสภาพดีอยู่แล้ว
.



.

*เดินทางไกลหมื่นกิโลเมตร*

รถถังจากลาวไปถึงวลาดิวอสต็อกเมื่อวันที่ 9 ม.ค. จากนั้นได้ขึ้นรถไฟสายทรานไซบีเรีย เดินทางต่อไปจนถึงเมืองนาโร-โฟมินสค์ (Naro-Fominsk) เขตมอสโกในวันที่ 20 -- วันเดียวกันกับที่กองทัพประชาชนลาว จัดเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 70 การก่อตั้ง ซึ่งมี T-72B1 กับเครื่องบิน Yak-130 ที่ได้รับมอบจากรัสเซียเพียง 1 เดือนก่อนหน้านั้น เข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง

ทั้ง 30 คันที่ยังคงติดตราสัญลักษณ์กองทัพประชาชนลาว เดินทางต่อไปจากวลาดิวอสต็อกโดยได้แวะจอดตามจุดสำคัญรายทางจำนวน 4 แห่ง ซึ่งในทุกแห่งรัสเซียได้จัดพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรติ ราวกับต้อนรับวีรบุรุษที่เดินทางกลับจากสงคราม -- โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปถึงเมืองมูรอม (Murom) วันที่ 19 ม.ค.นั้น ชาวเมืองได้ออกไปต้อนรับขบวนของ T-34 ที่สถานีรถไฟอย่างคับคั่ง สื่อของทางการเล่าว่าเมื่อครั้งสงครามกับนาซี ชาวเมืองนี้ได้ช่วยกันบริจาคทรัพย์สมบัติทุกชิ้นที่มีอยู่ เพื่อสนับสนุนการผลิต T-34 ในเขตอูราล และจัดส่งไปยังแนวหน้า

การจัดส่งรถถังระหว่างลาวกับรัสเซีย ดำเนินไปอย่างเงียบๆ นอกจากนั้นยังมีขึ้นในช่วงเดียวกันกับที่ T-72B1 ล็อตแรกจากรัสเซีย ถูกส่งถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ราวกับว่าสองฝ่ายดำเนินการเรื่องนี้พร้อมกัน คือ T-72B1 ส่งถึงท่าเรือนครด่าหนังในเวียดนาม และ T-34 ก็ถูกส่งสวนทางกันไปลงเรือที่ท่าเรือแห่งเดียวกันนี้ ก่อนออกทะเลเป็นระยะทางอีกกว่า 4,000 กิโลเมตร

เป็นอันว่า T-34 เดินทางจากที่ตั้งกองพันใหญ่ยานเกราะ ที่อยู่รอบๆเมืองหลวงของลาว ไปถึงบ้านแห่งใหม่ ที่ตั้งแห่งใหม่ ที่อยู่ห่างจากกรุงมอสโกราว 70 กม. โดยใช้เวลาเดือนทางกว่า 1 เดือน รวมระยะทางเกือบ 1 หมื่นกม.

การขนส่งรถถังของสองฝ่ายที่มีลักษณะ "หมูไปไก่มา" เช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายเข้าใจว่า เป็นการ "เอาของเก่าไปแลกของใหม่" ระหว่างรถถังเก่ายุคสงครามโลก กับรถถังยุคใหม่คือ T-72 ที่ยังไม่ทราบจำนวนทั้งหมดในขณะนี้ แต่กระทรวงกลาโหมรัสเซียกล่าวว่า T-34-85 ทั้ง 30 คันเป็นการ "บริจาค" โดย สปป.ลาว เพื่อนำไปใช้ในพิธีสวนสนามใหญ่ครบรอบ 74 ปีชัยชนะเหนือนาซีเยอรมันที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ค.ศกนี้
.

.
ไม่กี่ปีมานี้ได้มีการสร้างภาพยนตร์เรืองยาว และภาพยนตร์สารดคีเกี่ยวกับรถถัง T-34 ในแง่มุมต่างๆ หลายต่อหลายเรื่อง T-34-85 จาก สปป.ลาว กำลังจะเข้าร่วมในภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อีกเรื่องหนึ่ง กับภาพยนตร์ชุดแนวประวัติศาสตร์ ที่จะออกอากาศทางโทรทัศน์อีกซีรีส์หนึ่ง ซึ่งรัสเซียดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ยังไม่มีฝ่ายใดออกแถลงรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่รัสเซียกล่าวว่ารถถัง T-34 ที่ได้รับจากลาวทั้ง 30 คัน เป็นไปตามความตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างสองฝ่าย ที่สามารถบรรลุได้ระหว่าง พล.อ.ชเรเก โชยกู รมว.กลาโหมไปเยือน สปป.ลาว เป็นเวลา 1 วันในเดือน ม.ค.ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2561 โทรทัศน์ "ดาวแดง" (Zvezda TV) ของกระทรวงกลาโหมได้จัดรายการพิเศษ แสดงให้เห็น T-34-85 ที่ยังมีสภาพดีเยี่ยม และยังใช้งานได้ปรกติในลาว ทั้งสัมภาษณ์ พ.อ.คำฟอง มูนมะนีวง ผู้บังคับกองพันใหญ่ยานเกราะต้นสังกัด ที่ระบุว่าทั้งหมดเป็นรุ่นปี พ.ศ.2487 และ ส่งถึงลาวในปี 2530 (ไม่ทราบปีที่ผลิต) นั่นคือ อยู่ในลาวมาเป็นเวลา 31 ปีก่อนเดินทางกลับถิ่นฐานเดิม

นายทหารลาวคนเดียวกันเปิดเผยด้วยว่า T-34-85 เคยได้เข้าร่วมในเหตุการณ์ปะทะกัน ในกรณีพิพาทพรมแดนกับไทยระหว่างปี 2530-2531 (กรณีบัานร่มเกล้า ชายแดน จ.อุตรดิตถ์-แขวงไซยะบูลี -- บก.) ด้วย

นายฮาลิตอฟ ผู้บริหารโรงงานอูราลวากอนซาว็อดยืนยันเช่นกันว่า T-34 จากลาวเป็นรุ่นปรับปรุงที่เริ่มสายการผลิตในปี 2488 -- และ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 75 ปีพอดี นับตั้งแต่คันแรกถูกนำออกใช้งาน
.
ข้ามทะเลกว่า 4,000 กม.จาก สปป.ลาวไปถึงวลาดิวอสต็อก 9 ม.ค. ต่อไปอีก 5,000 กม. โดยพักจุดสำคัญ 3 แห่ง ทุกแห่งจัดพิธีต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษ ก่อนถึงจุดหมายปลายทางในเขตมอสโกในวันที่ 20 -- สัปดาห์นี้รัสเซียเริ่มปรับปรุงและปรับสภาพแล้ว ก่อนมอบหมายภารกิจใหม่.


.

.

.

.

.
การส่ง T-34-85 จากลาวไปยังรัสเซียเป็นข่าวไปทั่วโลก หลายคนยกให้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องราวความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัสเซียกับลาวเท่านั้น หากเป็นประวัติการณ์ในระดับโลก หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ของสหรัฐ และ ข่ายโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ต่างรายงานเรื่องนี้เช่นกัน

**มือพิฆาต "ไทเกอร์-แพนเซอร์"**

รัสเซีย -- เช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตในอดีต มีความผูกพันล้ำลึกกับ T-34 ถึงแม้จะยังไม่ใช่ยานเกราะที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ก็อาวุธที่สำคัญยิ่งยวดในการต่อกรกับการรุกรานของนาซีเยอรมัน จนกระทั่งนำมาสู่ชัยชนะ แม้จะต้องแลกกับการสูญเสียมากมายก็ตาม --เพราะฉะนั้น การจัดพิธีต้อนรับรถถังจากลาวอย่างเคร่งขรึม และอย่างเป็นพิธีการตลอดรายทางในช่วงเดือนที่ผ่านมา จึงเข้าใจได้ไม่ยาก

ตามประวัติความเป็นมาที่เผยแพร่ในรายงานพิเศษโดยสำนักข่าวทาสส์เมื่อไม่นานมานี้ T-34 ออกแบบระหว่างปี 2480-2483 เปิดสายการผลิตระหว่างปี 2483 จนถึงปี 2501 ผลิตรุ่นต่างๆออกมารวม รวม 84,070 คัน เป็น T-34 ติดปืนใหญ่ 76.2 มม. 35,120 คัน และ T-34-85 ติดปืนใหญ่ 85 มม.อีก 48,950 คัน ยังไม่นับรวมอีกนับร้อยคันที่จีนนำต้นแบบจากโซเวียตไปลอกเลียนแบบผลิตเอง และรู้จักกันในชื่อ Type-58

รุ่นล่าสุดที่ใช้อยู่ในหลายประเทศจนถึงทุกวันนี้ ยังคงเป็นรถถังขนาดกลางไม่ต่างกันกับรุ่นแรก คือหนักเพียง 26.5 ตันเท่านั้น เทียบกับ 48-60 ตันหรือกว่านั้น สำหรับรถถังหลัก (Main Battle Tank) ทั่วไปในยุคใหม่

T-34 ได้ชื่อในความแคล่วคล่องว่องไว ออกแบบดี หุ้มเกราะแข็งแกร่ง มีปืนใหญ่ที่ทรงพลัง แต่ต้นทุนการผลิตต่ำ ถูกใช้งานเป็นรถถังหลักของกองทัพสหภาพโซเวียตต่อมาจนถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 และ มีใช้ในกองทัพอีก 38 ประเทศทั่วโลก
.



.
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นในปี 2484 แผ่นดินใหญ่รัสเซียตกเป็นเป้าหมายการครอบครองของฝ่ายอักษะ คือนาซีเยอรมันที่นำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กับ ระบอบฟาสซิสต์เบนิโต มุสโสลินีแห่งอิตาลี ซึ่งทำให้ T-34 มีบทบาทสำคัญที่สุดใน "สงครามรักชาติที่ยิ่งใหญ่" (The Great Patriotic War) ของโซเวียต/รัสเซีย

T-34 รุ่นแรกได้รับคำชมจากนาซีผู้รุกรานทั้งในด้านการออกแบบที่สวยงามล้ำสมัย ด้านหน้าลาดเอียง หุ้มเกราะเหล็กกล้ากับทังสเตน ยากที่กระสุนชนิดใดจะเจาะทะลุได้ ไม่มีรถถังรุ่นใดของนาซีทั้งไทเกอร์และแพนเซอร์ในยุคเดียวกัน สามารถต่อกรได้เลย

ตามข้อมูลของโซเวียต เมื่อต้องเจอการต่อต้านจาก T-34 ครั้งแรกในปี 2484 นายพลเยอรมันที่ชื่อ พอล ลุดวิก เอวาลด์ วอน ไคลส์ (Paul Ludwig Ewald von Kleist) เรียกมันเป็น "รถถังดีที่สุดในโลก"

แต่เพียงไม่นานนาซีก็เรียนรู้จาก T-34 ที่จับยึดได้จากสมรภูมิยุโรปตะวันออก แล้วนำไปผลิตเป็น T-34 ในเวอร์ชั่นของตนเองออกมาสู้กับ T-34 โซเวียต โดยหุ้มเกราะแน่นหนาดีขึ้น ติดปืนใหญ่คุณภาพดีขึ้น และ ยังติดเครื่องยนต์ดีเซลที่ทันสมัยกว่า -- นาซียังใช้ข้อดีของ T-34 ในการผลิตรถถังแพนเซอร์รุ่นหลังที่นำออกใช้เป็นหัวหอกในการบุกตีดินแดนโซเวียตในปีต่อมา

ในช่วงปีที่ 2-3 ของสงครามโลกนั้น T-34 ไม่สามารถรับมือรถถังแพนเซอร์รุ่นใหม่ได้เลย ปืนใหญ่ 85 มม.ไม่สามารถยิงทะลุเกราะด้านหน้าของรถถังนาซีที่ผ่านการพัฒนามาอย่างดี แม้กระทั่งยิงด้านข้างก็ยังทะลุได้ยาก นอกจากนั้นปืนใหญ่ก็มีระยะยิงหวังผลเพียง 800 ม. การเข้ายิงระยะประชิดเกือบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปืนรถถังแพนเซอร์มีระยะยิงไกลกว่า ทำให้ T-34 ตกเป็นเป้าหมายจากระยะไกลอย่างง่ายดาย
.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.
อย่างไรก็ตามเรื่องราวในตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์มีอยู่ว่า โซเวียตไม่มีทางเลือกอื่น ต้องเร่งการผลิต T-34-85 ให้ได้มากที่สุดเป็นจำนวนกว่า 1 พันคันต่อวัน เพื่อนำไปใช้รุมรถถังของนาซีด้วยจำนวนที่เหนือกว่า ซึ่งส่งผลทำให้นาซีพ่ายแพ้ในทุกแนวรบ แต่ฝ่ายโซเวียตสูญเสีย T-34 เป็นจำนวนมากในยุทธการดังกล่าว ตัวเลขของฝ่ายรัสเซียมีกว่า 3,000 คัน แต่ตัวเลขของนาซีสูงกว่านั่้นกว่าเท่าตัว

ตามรายงานของสำนักข่าวทาสส์ T-34 เป็นยานเกราะหลักของกองทัพโซเวียตมาจนถึงทศวรรษที่ 1960 เมื่อมีการผลิตรถถังรุ่นใหม่ออกมา -- ปัจจุบันในรัสเซียมี T-34 รุ่นแรกยังวิ่งได้อยู่เพียงไม่ถึงสิบคัน และ T-34-85 ที่มีสภาพดีใช้งานได้จริงเหลืออยู่เพียง 1 คันเท่านั้น รถถังจาก สปป.ลาวจึงเป็นสิ่งล้ำค่า

นอกจากจะผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอย่างโชกโชน และ มีเกียรติประวัติที่สูงเด่นแล้ว T-34 ยังเข้าไปมีบทบาทในสงครามยุคใหม่เกือบจะทุกทวีปทั่วโลก ตั้งแต่สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามในตะวันออกกลางยิว-อาหรับ และ สงครามกลางเมืองในแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ T-34-85 จากสายการผลิตในประเทศเชโกสโลวะเกีย ที่ใช้มาต่อเนื่องยาวนานที่สุด

ข้อมูลของฝ่ายรัสเซียระบุว่า ปัจจุบันยังมี T-34-85 ที่ใช้งานได้ปรกติอยู่ในกองทัพอีก 9 ประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติแอฟริกา รวมทั้งคิวบา เกาหลีเหนือ จนถึงเวียดนามที่เคยมีอยู่ประมาณ 300 คัน และ ยังใช้งานได้อยู่ราว 45 คัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น