รอยเตอร์ - ศิลปวัฒนธรรมการร่ายรำสวมหน้ากากที่มีอายุเก่าแก่หลายศตวรรษของกัมพูชา เกือบสูญหายไปจากประเทศในยุคการปกครองของเขมรแดง แต่ศิลปินจำนวนหนึ่งพยายามรักษาศิลปะการร่ายรำนี้ให้คงอยู่กับประเทศ และเวลานี้พวกเขากำลังส่งต่อศิลปวัฒนธรรมของชาติสู่คนรุ่นใหม่
ปู่และพ่อของสัน ริทธี ต่างเป็นนักแสดงละครโขน แต่การปกครองของเขมรแดงห้ามการเรียนการสอนศิลปะการร่ายรำนี้ ปัจจุบัน สัน ริทธี อายุ 48 ปี เป็นผู้นำคณะละครโขนที่เหลืออยู่ไม่กี่คณะในประเทศ ที่มีนักแสดงและนักเรียนราว 20 คน อายุระหว่าง 6-15 ปี สำหรับเขา การสอนคนรุ่นใหม่คือเรื่องของความอยู่รอดของศิลปวัฒนธรรม
“ผมไม่ต้องการให้ละครโขนสูญสิ้นไป” สัน ริทธี กล่าว
ละครโขนกัมพูชาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโกเมื่อไม่นานนี้
ในกัมพูชา รูปแบบศิลปะยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนให้ฟื้นคืนจากเขมรแดง การปกครองที่คร่าชีวิตประชาชนไปอย่างน้อย 1.7 ล้านคน ซึ่งรวมทั้งศิลปิน นางรำ และนักเขียน ที่ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากความอดอยาก ทำงานหนัก เจ็บป่วย ถูกทรมานและถูกสังหาร
“ในช่วงการปกครองของเขมรแดง ผมยังเป็นเด็กและพวกเขาไม่ให้สอนการร่ายรำ ละครโขนถูกทำลาย” สัน ริทธี กล่าว และเล่าว่าเขาเริ่มเรียนรู้การร่ายรำเมื่ออายุได้ 14 ปี หลังเขมรแดงถูกขับออกจากอำนาจ
ที่โรงละครสร้างใหม่ของคณะละครโขนวัดสวายอันเด็ต นอกกรุงพนมเปญ นักเรียนกำลังยืดแขนขาก่อนการฝึกซ้อม
พุม พอก อายุ 49 ปี กล่าวว่า ลูกชายอายุ 11 ปี ของเขาได้เข้าร่วมชั้นเรียนการรำนี้
“ผมต้องการให้ลูกฝึกรำเพื่อว่าในอนาคตศิลปะโบราณของเราจะไม่สูญหายไป” พุม พอก กล่าว
รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์กัมพูชา กล่าวว่า ละครโขนจำเป็นต้องอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนและเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมนี้
“นักแสดงอาวุโสพยายามที่จะอนุรักษ์ละครโขนวัดสวายอันเด็ตแห่งนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขาจะรับความรู้จากผู้สูงอายุหรือไม่” รัฐมนตรีกัมพูชา กล่าว.