MGR ออนไลน์ -- มีการเปิดตัวหนังสือฉบับภาษาอังกฤษที่เขียนโดยเฮง สัมริน (Heng Samrin) ประธานรัฐสภากัมพูชา และ ประธานกิติมศักดิ์พรรคประชาชนกัมพูชาเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้นำได้ให้ข้อมูลที่หาได้ยากเกี่ยวกับความขัดแย้งในระบบเขมรแดง ความขัดแย้งระหว่างทหารจากโซนตะวันออกกับกองกำลังหลักรัฐบาล ที่เริ่มขึ้นหลังขับไล่รัฐบาลนายพลลอนนอลที่มีสหรัฐหนุนหลัง ยึดอำนาจได้สำเร็จในเดือน เม.ย.2518 ได้ส่งผลให้ฝ่ายแรกแปรพักตร์หันไปขอความช่วยเหลือจากเวียดนาม โค่นล้มระบอบเขมรแดงของโปล โป้ท เอียงสารี เคียว สมพร ในอีก 3 ปีต่อมา
นี่คือประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมือง ทำให้รัฐคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิวัฒน์จากกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) ไปเป็นสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (People's Republic of Kampuchea) และ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข -- ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) ในปัจจุบัน
หนังสือเล่มใหม่ฉบับภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า The Peopl's Struggle: Cambodia Reborn (การต่อสู้ของปราชาชน : การเกิดใหม่ของกัมพูชา) จัดพิมพ์ในประเทศสิงคโปร์ โดย EDM Book จะมีการจำหน่ายไปทั่วโลกผ่าน Amazon.Com ในราคาเล่มละ 28.50 ดอลลาร์ สำนักข่าวของทางการรายงาน
การแนะนำหนังสือเล่มนี้มีขึ้นเนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ 40 ปีการก่อตั้งแนวร่วมสามัคคีเพื่อพัฒนาแผ่นดินมาตุภูมิกัมพูชา (Solidarity Front for the Development of Cambodian Motherland) 2 ธ.ค.2561 หรือ อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการต่อสู้กับระบอบเขมรแดงอย่างเป็นทางการ โดยกลุ่มนายทหารกองบัญชาการโซนตะวันออก ที่เป็นส่วนหนึ่งของเขมรแดงเองในขณะนั้น
เฮง สัมริน หรือ "สมเด็จอัครมหาบุญญาจักรีเฮงสัมริน" (Samdech Akka Moha Ponhea Chakrei Heng Samrin) เกิดปี 1934 (พ.ศ.2477) เป็นผู้ก่อตั้ง SFDCM ที่กลายมาเป็นแนวร่วมสามัคคีแห่งชาติเพื่อกู้ชาติกัมพูชา (United Front for the National Salvation of Kampuchea) โดยเปิดการประชุมใหญ่เป็นครั้งแรก ใน จ.กระแจ๊ะ (Kratie) 2 ธ.ค.2521 ซึ่งมีการประกาศแผนการ 11 ข้อในการโค่นล้มระบอบโปลโป้ท
ข้ามเดือนต่อมา -- หลังการยึดอำนาจประสบความสำเร็จในเดือน ม.ค.2522 ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพเวียดนาม เฮง สัมริน ได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (President of the State Council of the People’s Republic of Kampuchea) ซึ่งก็คือ ตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมกับตำแหน่งเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติขะแมร์ (Khmer People’s Revolutionary Party) ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์สายโซเวียต -- จากเดิมที่เป็นพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (Communist Party of Kampuchea/เขมรแดง) ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์นิยมการปฏิวัติโดยชาวนาแบบเหมาเจ๋อตง
.
.
ผ่านไป 40 ปีในวันนี้ -- เฮง สัมริน เป็นเพียงหนึ่งในผู้ก่อตั้งแนวร่วมญไม่กี่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งรวมทั้งนางแมน ซัมออน (Men Saman) รองนายกรัฐมนตรีหญิงเพียงคนเดียว นายรส สมัย (Ros Samay) ที่ปรึกษารัฐบาล/รัฐมนตรีอาวุโส กับ นายจัน แวน (Chan Ven) อดีตเลขาธิการรัฐสภา
มีรายละเอียดมากมายใน "บันทึกความทรงจำ" เล่มนี้ บางเนื้อหาเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยเปิดเผยกันมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งภายในกองทัพกัมพูชา ที่ร่วมกันต่อสู้โค่นล้มระบอบลอนนอลมาด้วยกัน จนสำเร็จในเดือน เม.ย. 2518 -- แต่ศูนย์การนำในกรุงพนมเปญไม่เคยไว้วางใจกองบัญชาการทหารภาคตะวันออก (ครอบคลุมตั้งแต่ จ.กระแจ๊ะ ลงไปจนถึงเปรย์แวง) ที่ถูกกล่าวหาว่าใกล้ชิดกับเวียดนาม คอมมิวนิสต์สายโซเวียต ที่เป็นศัตรูทางอุดมการณ์กับระบอบเขมรแดงสายจีน
บันทึกของเฮง สัมริน ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการสังหารโส พิม (So Phim) ผู้บัญชาการทหารภาคตะวันออก ที่หลบหนีจากกัมปงจาม ไปยัง จ.เปรย์แวง (Prey Veng) ถัดลงไปทางใต้ และ พยายามหนีข้ามแดนเข้าสู่ดินแดนเวียดนาม แต่ถูกกองกำลังที่ภักดีต่อโปลโป้ทซุ่มโจมตี เขาเสียชวิตพร้อมภรรยา ลูกอีก 2 คน และ หน่วยคุ้มกัน พร้อมผู้ติดตามทั้งหมด
"เขาอยู่ในสภาพที่สิ้นหวัง" เฮง สัมริน เล่าเกี่ยวกับการเดินทางจากกัมปงจาม ไปพบโส พิม ในเปรย์แวงในปลายปี 2521 (หรือ 3 ปีหลังการยึดอำนาจจากลอนนอล) -- โดยก่อนหน้านั้น โส พิม เขียนจดหมายไปแจ้งให้ทราบว่าภัยใกล้มาถึงตัว ทุกคนต้องเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นทุกรูปแบบ และ ขอให้ทุกคนยืนหยัดต่อสู้ต่อไป ยอมสละชีพเพื่อภารกิจกู้ชาติ ยอมตายอย่างสมเกียรติ ไม่อยู่นิ่งเฉย รอวันถูกเข่นฆ่า
เฮง สัมริน ซึ่งในขณะนั้นมีกำลังภายใต้การบัญชา 300 นาย สั่งให้ทหาร 1 หมวด จำนวน 10 คน อาวุธครบมือ ไปคุ้มกันโส พิม กับครอบครัว ในการหลบหนีข้ามแดนจาก อ.สันทร (Santhor) เปรย์แวง แต่ไม่สำเร็จ ทุกคนเสียชีวิตจากการซุ่มโจมตีโดยทหารของโปลโป้ท ที่มีกำลังมากกว่า -- ในเวลาต่อมา มีระดับนำของกองบัญชาการทหารภาคตะวันออกถูกสังหารอีกหลายนาย
.
.
รัฐบาลในพนมเปญส่งเครื่องบินโปรยใบปลิว ประกาศว่า โส พิม กับพลพรรคเป็น "ผู้ทรยศ"
นั่นคือในช่วงปีที่ระบอบเขมรแดงขัดแย้งกับเวียดนามอย่างหนัก มีการปะทะตามแนวชายแดนหลายครั้ง -- โดยระบอบในพนมเปญกล่าวหาว่าเวียดนามล้ำแดน แต่ในช่วงหลังเวียดนามได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า ทหารของระบอบโปลโป้ท ได้ข้ามแดนเข้าไปหลายจุดทางจังหวัดในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง เผาทำลายหมู่บ้านหลายแห่ง เข่นฆ่าประชาชน ซึ่งรวมทั้งเด็กๆ และสตรี ทางการเวียดนามก่อสร้างสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นมาหลายแห่งในจุดที่เกิดเหตุ รำลึกถึงความโหดร้ายป่าเถื่อนของทหารเขมรแดง เมื่อครั้งกระโน้น
หนังสือเล่มใหม่ ยังเปิดเผยให้เห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกรุงพนมเปญ หลังการยึดอำนาจใหม่ๆ ในเดือน เม.ย.2518 ระหว่างทหารกองทัพภาคตะวันออก กับ กองกำลังภายใต้บัญชาการของตา ม๊อก (Ta Mok) ผู้บัญชาการกองทัพภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่ได้รับการไว้วางใจจากรัฐบาลมากที่สุด
[ตา ม๊อค เป็นผู้นำทหารที่มีชื่อเสียงโด่งดังภายใต้ระบอบโปลโป้ท ได้รับฉายาจากสื่อตะวันตกเป็น "คนฆ่าสัตว์" (The Butcher) -- แม้ว่าฝ่ายเขมรแดงจะยอมวางอาวุธแล้ว ตา ม๊อค ยังคงนำการต่อสู้กับรัฐบาลฮุนเซ็นจนวาระสุดท้าย โดยตั้งมั่นอยู่ที่ อ.อันลองแวง (Anlong Veng) จ.อุดรมีชัย (Oddor Meanchey) -- เอกบุรุษนักรบขาเดียว ถูกจับกุมขณะป่วยหนัก ถูกนำไปคุมขังในเมืองหลวง และถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร แต่เสียชีวิตลงเสียก่อน ที่โรงพยาบาลพระเกษมาลา เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2549 รวมอายุ 81 ปี -- ญาติๆ นำศพกลับไปอันลองแวง จัดฌาปนกิจที่นั่น -- บก.]
ก่อนโส พิม ถูกสังหารนั้น เม.ย.2518 มีทหารจากกองทัพภาคตะวันออกสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยนับสิบนาย ขณะรักษาการณ์อยู่ในเมืองหลวง และ ในฐานะผู้บัญชาการฯ โส พิม เขียนจดหมายด้วยลายมือให้ผู้บังคับการกรมคนหนึ่งนำส่งตาม๊อคกับมือ และ ไปพบเจรจาเรื่องนี้กับ ผบ.ทหารภาคตะวันตกเฉียงใต้ ใน อ.บาตี (Bati) จ.ตะแกว (Takeo) ทางตอนใต้กรุงพนมเปญ -- ตา ม๊อคปฏิเสธไม่รู้เห็น อธิบายแต่เพียงว่า "เราจับกุมเฉพาะศัตรูเท่านั้น"
.
.
ความตึงเครียดระหว่างทหารจาก 2 โซนทวีขึ้น ถึงขึ้นยิงถล่มกันด้วยปืนครกในเขตแปร็กอัมเบล (Prek Ambel) ทางตอนใต้ของเมืองหลวง นับเป็นจุดสูงในความขัดแย้ง
เฮง สัมริน ยังบอกเล่าอีกว่าความตึงเครียดระหว่างทหารกองทัพภาคตะวันออก กับ กองทัพภาคตะวันตกเฉียงใต้นำโดยตา ม๊อคนั้น เริ่มมาตั้งแต่วันแรกๆ ที่ยึดอำนาจได้สำเร็จ-- ทหารจากโซนตะวันตกเฉียงใต้ เตือนไม่ให้ทหารจากโซนตะวันออกข้ามเขตแดน ให้อยู่ฝั่งตะวันออกของถนนมุนีวงศ์ (Monivong Boulevard) -- เคยมีทหารของโซนตะวันออกสังกัดกรม 126 ถูกจับกุม และ ถูกคุมขังไว้ข้ามคืนโดยไม่ให้น้ำและอาหาร เพราะว่าพวกเขาละเมิดข้อห้าม ข้าม "เส้นแบ่งสีขาว" ไปยังอีกฝั่งหนึ่งของถนน ตนเองต้องเข้าเจรจาจึงมีการปล่อยตัว
กองกำลังจากกองบัญชาการทหารภาคตะวันออก ทำหน้าที่รักษาการณ์ในเมืองหลวงเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ก็มีคำสั่งให้ถอนตัว โดยรัฐบาลกลางส่งกองกำลังส่วนกลางเข้าไปแทน ตนจึงสั่งกำลังถอยไปตั้งอยู่บริเวณตลาดจบาร อัมปาว (Chbar Ampov) ทางฝั่งตะวันออกของสะพานสะพานมุนีวงศ์ ในเขตเกียนสวาย (Kien Svay) ก่อนถอนออกจากเมืองหลวงในที่สุด ท่ามกลางตรวจตราอย่างรัดกุมของทหารส่วนกลาง
"กระทั่งแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ใครมีสองอันจะถูกยึดไป โชคดีที่พวกเขาไม่ยึดพลั่ว ของพวกเรา" เฮง สัมริน เขียนในตอนหนึ่ง
ตามรายงานของสำนักข่าวทางการ บันทึกความจำฉบับภาษาอังกฤษนี้ แปลเรียบเรียงจากฉบับภาษาเขมรโดยเฮง สัมริน ภายใต้ชื่อเดียวกัน และ วางจำหน่ายในร้านหนังสือชั้นในกรุงพนมเปญตั้งแต่กลางเดือน ส่วนฉบับภาษาอังกฤษคาดว่าจะมีจำหน่ายผ่านอาเมซอนด็อทคอมในเดือน ธ.ค.นี้.