xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพม่าถกเถียงปัญหาเสียงรถแห่เทศกาลศาสนา เปิดลำโพงดังกระหึ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - เสียงที่ดังอึกทึกผสมปนเประหว่างเสียงดนตรีสมัยใหม่กับธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาในเทศกาลตาซองได (Tazaungdaing) ที่เป็นเทศกาลประจำปีของพม่า กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงในหมู่ชาวพุทธพม่าเวลานี้ ทั้งในแบบเสียงบ่นของชาวบ้าน ไปจนถึงภาพขำขันล้อเลียนบนโลกออนไลน์ ที่ใช้รูปพระพุทธเจ้าวิงวอนชายผู้มาพร้อมลำโพงให้หยุดส่งเสียง

ประชาชนชาวพม่ามากกว่า 90% เป็นชาวพุทธ และในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. จะเต็มไปด้วยการบริจาคทานหลังออกพรรษา ซึ่งฤดูกาลทางศาสนานี้จะปิดท้ายด้วยเทศกาลตาซองได ที่สิ้นสุดลงในวันพฤหัสฯ ที่มาพร้อมกับงานรื่นเริงและการเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก

แต่ชาวพม่าบางส่วนในนครย่างกุ้งต้องการให้ลดเสียงลง ด้วยทั้งเสียงสวดมนต์ เสียงเทศน์ และเสียงร้องขอการบริจาคผ่านเครื่องขยายเสียงดังแข่งกับเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ แร็ปภาษาพม่า และเสียงดังเอะอะยามค่ำคืน

“ผมไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าจะต้องการสิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้ารักความเงียบสงบและสันติสุข” นาย มัต พนักงานธนาคาร อายุ 28 ปี กล่าว และเสริมว่า น้องสาวของเขาต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการอ่านหนังสือเรียนเพราะเสียงรบกวนเหล่านี้

แต่ในพม่า ประเทศที่เจ้าหน้าที่ต้องต่อสู้กับบรรดาชาวพุทธชาตินิยมสุดโต่ง และความเชื่อที่ฝังลึกในสังคม มีเพียงไม่กี่คนที่กล้าออกมาร้องขอให้เกิดความสงบ

ในปี 2559 นักท่องเที่ยวชาวดัตช์ถูกจับกุมตัวในเมืองมัณฑะเลย์ และถูกจำคุก 3 เดือน หลังถอดสายไฟเครื่องขยายเสียงที่เปิดเสียงบทสวดในเวลากลางคืน

“หลายคนบ่นเรื่องนี้ แต่เพราะเป็นช่วงเทศกาลทางศาสนาเลยเป็นเรื่องยากที่จะร้องเรียน หรือรายงานกับตำรวจ ฤดูกาลนี้เต็มไปด้วยการทำบุญ แต่เราส่วนใหญ่รู้สึกว่าเสียงดังรบกวน” มิน ซอ อายุ 22 ปี ที่ทำงานในร้านค้ากะกลางคืน กล่าว

นอกเหนือไปจากเสียงบ่นของชาวบ้าน ยังพบว่าในโลกออนไลน์มีหลายคนแสดงความไม่พอใจเสียงที่ดังอึกทึกเช่นกัน เช่น รูปวาดที่เผยให้เห็นพระพุทธเจ้ายืนอยู่ในป่าในอิริยาบถกุมพระหัตถ์ และตรัสว่า “ได้โปรดหยุดเสียงเถิด” ขณะที่ชายคนหนึ่งวิ่งเข้าหาพระองค์พร้อมลำโพงจำนวนมาก

ศิลปินท้องถิ่นอีกรายหนึ่งได้ปรับแต่งภาพวาด “The Scream” ผลงานชื่อดังของเอ็ดเวิร์ด มุงค์ จิตรกรชาวนอร์เวย์ แทนที่ด้วยรูปพระพุทธเจ้าที่ใช้พระหัตถ์ปิดพระกรรณเพราะหวาดกลัวเสียงที่ได้ยิน

ภาพล้อเลียนจำนวนมากถูกส่งต่อกันทั่วสื่อสังคมออนไลน์ในพม่า ซึ่งส่วนใหญ่ชื่นชอบแต่ก็มีบางคนที่รู้สึกไม่พอใจ

“เราเผชิญกับปัญหาเสียงดังอยู่ทุกวัน แต่หลายวันนี้แย่กว่าเก่า แม้ผมจะรักประเพณีนี้ แต่เสียงเช่นนี้ก็ไม่ดีเลยสำหรับผู้คน” เมียว จ่อ อายุ 35 ปี กล่าว

ตัน วิน แกนนำชุมชนในเขตลันมะดอ นครย่างกุ้ง ยอมรับว่าเสียงดังในระดับสูง แต่ด้วยเป็นหนึ่งในเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ประจำปี ธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาที่เกิดขึ้นทั้งหมดควรได้รับความเคารพ

“เรายังได้ยินเสียงดังจากมัสยิดในตอนเย็น และถ้าคุณอาศัยอยู่ใกล้โบสถ์ คุณก็สามารถได้ยินเสียงดังของพวกเขาด้วยเช่นกัน” ตัน วิน กล่าว.




กำลังโหลดความคิดเห็น