เอเอฟพี - อองซานซูจี ผู้นำพม่า เรียกร้องให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศที่เป็นชายขอบสุดท้ายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เตือนว่าทรัพยากรของประเทศไม่ได้เปิดให้แสวงหาประโยชน์จนทำให้ประชาชนต้องได้รับผลกระทบ
ซูจี เดินทางเยือนหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียในช่วงหลายเดือนนี้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ ที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า จะขยายตัว 7% ในปีหน้า
แต่กฎหมายการลงทุนที่ไม่ชัดเจน ค่าเงินอ่อนค่าตัว อัตราเงินเฟ้อสูง การทุจริตคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง และความขัดแย้ง กระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หวังว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นหลังรัฐบาลพลเรือนของซูจีเริ่มบริหารประเทศในปี 2559
ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของซูจีในฐานะผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนต้องด่างพร้อยจากวิกฤตโรฮิงญา
ในการกล่าวยังที่ประชุมทางธุรกิจในสิงคโปร์ ก่อนการประชุมสุดยอดระดับภูมิภาค ซูจีไม่ได้กล่าวถึงวิกฤตโรฮิงญาที่ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนต้องอพยพข้ามแดนไปบังกลาเทศ และบดบังแง่ดีในบางแง่มุมเกี่ยวกับอนาคตของพม่า
“พม่าเป็นตลาดชายขอบสุดท้ายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีที่ดิน มีประชากรวัยทำงานที่ดี เรามีทรัพยากรที่ยังไม่ได้สำรวจ แต่เราต้องลงทุนเพื่อประโยชน์ต่อการสร้างความยึดเหนี่ยวทางสังคม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว” ซูจี อ้างถึงพื้นที่ตามชายแดนของประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรแต่ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง
โครงการขนาดยักษ์ของจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในพม่าจากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการยึดที่ดิน และเพิ่มหนี้สินให้รัฐบาล ทำให้การชุมนุมประท้วงต่อต้านโครงการของจีนเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ
เมื่อสัปดาห์ก่อน พม่าเจรจาลดขนาดโครงการท่าเรือที่จีนสนับสนุนได้สำเร็จจาก 10,000 ล้านดอลลาร์ เหลือ 1,300 ล้านดอลลาร์ ที่เมืองจอก์พยู ของรัฐยะไข่
ซูจี กล่าวว่า พม่าต้องการความช่วยเหลือจากนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภูมิภาคเอเชีย เพื่อนำพาพม่าก้าวไปข้างหน้าหลังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารหลายปี และเรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ ลองผจญภัยในประเทศ
พม่าอาจเผชิญกับแรงกดดันเกี่ยวกับการจัดการวิกฤตโรฮิงญาในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้.