MGR ออนไลน์ -- นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน ได้นำเอาภาพเก่าแก่กว่า 30 ปีภาพหนึ่งเผยแพร่ในเฟซบุ๊กข้ามวันมานี้ เป็นภาพครอบครัวของตนเองในช่วงปีที่ขับไล่ระบอบเขมรแดงได้สำเร็จไม่นาน และเข้าจัดตั้งรัฐบาลในกรุงพนมเปญ ผู้นำได้เขียนบรรยายย้ำเตือนให้ชาวกัมพูชาทุกคนตระหนักในคุณค่าของสันติภาพ กับความสงบสันติของสังคม ที่นำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน
ภาพที่ถ่ายเมื่อปี 2525 หรือ 3 ปีหลังการยึดอำนาจจากระบอบโปลโป้ท เอียง สารี เคียว สมพร โดยมีกองทัพเวียดนามหนุนหลัง แสดงให้เห็นตัวผู้นำ กับท่านผู้หญิงกิตติพฤฒิบัณฑิตบุน รานี ภริยา กับลูกสาววัยประมาณ 2 ขวบคนหนึ่ง ซึ่งเข้าใจกันว่าคือ คุณหญิงฮุน มะนา ธิดาคนโตในปัจจุบัน นั่งบนโต๊ะอาหาร ทั้งครอบครัวอยู่ในสภาพขัดสนอย่างเห็นได้ชัด
แร้นแค้น.. ขัดสน.. แต่มีสวลเสเฮฮา และ บนใบหน้าเต็มมีรอยยิ้มอย่างเปี่ยมสุข
ภาพที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ถ่ายจากบ้านพักของทางการ ในช่วงปีที่ฮุนเซนมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของระบอบใหม่ ที่มีชื่อว่า "สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา" (People's Republic of Kampuchea) ซึ่งเปลี่ยนไปจาก "กัมพูชาประชาธิปไตย" (Democratic Kampuchea) หรือ ระบอบเขมรแดงเมื่อก่อน
เป็นภาพที่แสดงให้เห็นความขาดแคลนกับความแร้นแค้นของทั่วทั้งสังคมทุกระดับในช่วงปีดังกล่าว แต่ในบรรยากาศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสันติภาพ และเสรีภาพ ที่ขาดหายไปเป็นเวลาเกือบ 4 ปี (เม.ย.2518-ม.ค.2522) ภายใต้ระบอบโปลโป้ท เอียง สารี เคียว สมพร
ทันทีอำนาจรัฐใหม่เข้าบริหารประเทศใหม่ องค์การสหประชาชาติได้โหวตลงมติไม่ให้การรับรอง เนื่องจากเป็นระบอบที่จัดตั้งขึ้นโดยต่างชาติคือ กองทัพเวียดนาม และ ในทางกลับได้ลงมติรับรอง "รัฐบาลผสม (สามฝ่าย) กัมพูชาประชาธิปไตย" (Coalition Government of Democratic Kampuchea) ที่มีเขมรแดงเป็นแกนนำ
.
.
รัฐบาล CGDK จัดตั้งขึ้นในกลางปี 2525 โดยนำ "เจ้าสีหนุ" ในขณะนั้นไปดำรงตำแหน่งประมุข เพื่อทำให้ภาพพจน์ออกมาดี ด้วยการผลักดันของไทยกับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งในขณะนั้นมีสมาชิกเป็นชาติเริ่มการก่อตั้งเพียง 5 ชาติ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ โดยมีจีนสนับสนุนอีกทางหนึ่ง
ระบอบใหม่ในกรุงพนมเปญถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ถูกปล่อยให้จมอยู่กับซากปรักหักพังที่ตกทอดจากระบอบเขมรแดง ประชาชนนับล้านๆ มีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นแสนสาหัส อดอยากยากจนซ้ำสอง หลังได้รับอิสรภาพ -- ซึ่งก็ไม่ต่างกับบรรดาผู้นำ -- ชาวเขมรอีกนับหมื่นๆ ได้ทยอยหลบหนีข้ามแดนมาเข้าไทยอีกระลอกหนึ่ง เพราะว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพใกล้ตัวเพียงแห่งเดียว
ก่อนหน้านี้ได้มีการโพสต์ภาพรถประจำตำแหน่งของ รมว.การต่างประเทศ ซึ่งบางคนบอกว่าเป็นโตโยต้าโคโรน่า "มาร์ค 2" ปี 1968 ผลิตในญี่ปุ่น เป็นของขวัญจากรัฐบาลเวียดนาม ในขณะนี้ถูกนำไปเก็บรักษาที่ "หอแสดงวิน-วิน" กรุงพนมเปญ ซึ่งจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค.นี้ รำลึก 20 ปีแห่งสันติภาพภายใต้ "สมเด็จฯฮุนเซน"
อีกภาพหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ที่ รมว.ต่างประเะทศในขณะนั้น นั่งรถประจำตำแหน่ง แต่สวมรองเท้าแตะฟองน้ำ นำของขวัญห่อเล็กๆ ไปร่วมงานวิวาห์ของญาติคนหนึ่ง -- ทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นความแร้นแค้นและขาดแคลนสรรพสิ่ง ตั้งแต่ระดับบนสุดลงไปจนถึงประชาชนพื้นฐาน
.
.
นรม.กัมพูชาชี้ให้เห็นสภาพความยากลำบากในช่วงปีโน้น ทั้งเตือนให้แฟนๆ จำนวนนับล้านๆคน ที่ติดตามทางเฟซบุ๊กให้ตระหนักว่า สันติภาพเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งสำหรับทุกคน กัมพูชาได้มีสันติอย่างเต็มเปี่ยมต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่กำลังพลเขมรแดงชุดสุดท้ายออกจากป่า (วางอาวุธ) เข้าร่วมชายคาเดียวกันกับประชาชนทั่วไป ในปลายปี 2541 ภายใต้นโยบาย "Win-win Policy" ของทางการ
พรรคประชาชนกัมพูชาซึ่่งเป็นพรรครัฐบาล ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างท่วมท้นเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ปีนี้ ด้วยคะแนนเสียงกว่า 82.4% ถึงแม้ว่าจะไม่มีพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดเข้าร่วมก็ตาม แต่คะแนนที่ออกมาสะท้อนให้เห็นความเรียกร้องต้องการของชาวกัมพูชา 17 ล้านคนได้อย่างชัดเจน
นักวิเคราะห์ที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลชี้ว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของชาวเขมร ที่ต้องการความสงบสันติอันเป็นนโยบายธงที่พรรครัฐบาลใช้หาเสียง -- ต่างจากช่วงหลังการเลือกตั้งครั้งก่อน ที่พรรคฝ่ายค้านแนวประชาธิปไตยเสรีนิยมตะวันตกได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น และก่อความปั่นป่วนขึ้นทุกหัวระแหง มีการเดินขบวนแทบจะเป็นรายวัน ประท้วงในแทบจะทุกเรื่อง ท้องถนนเมืองหลวงไม่เคยมีความสงบ
ฮุนเซนเขียนในเฟซบุ๊กว่า สังคมที่มีความสงบ ประเทศที่มีสันติภาพ และ การเมืองมีความมั่นคงเท่านั้น จึงจะพัฒนาต่อไปได้ ต่างชาติมีความเชื่อมั่นเข้าไปลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ
.
.
ก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งประมาณ 1 เดือน เฟซบุ๊กของ นรม.กัมพูชาได้เผยแพร่วิดีโอชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดยสำนักนายกรัฐมนตรี บอกเล่าประวัติการต่อสู้เมื่อ 39 ปีก่อน ครั้งที่ผู้บังคับกองพันหนุ่มวัย 20 ปีเศษแห่งกองบัญชาการทหารภาคตะวันออก ตัดสินใจแปรพักตร์จากระบอบเขมรแดง ลอบข้ามแดนไปขอความช่วยเหลือจากเวียดนามอย่างสิ้นหวัง
"พ.ต.ฮุนเซน" เขียนจดหมายไปร่ำลาภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์บุตรคนที่ 2 (คนแรกเสียชีวิตที่โรงพยาบาล -- ผู้นำกล่าวว่าแพทย์เขมรแดงตั้งใจทำลูกชายของตนที่เพิ่งคลอดให้หล่นหลุดจากมือ) ขอไปทำภารกิจกู้ชาติ ซึ่งชีวิตนี้อาจจะไม่ได้พบกันอีก
หลายตอนในวิดีโอแสดงให้เห็นทั้งนายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิงฯ เล่าไป ร่ำไห้ เช็ดน้ำตาไปด้วย -- แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่าทั้งหมดเป็นเรื่องจริง มีบุคคลที่เกี่ยวข้องออกให้สัมภาษณ์ครบถ้วน และ วิดีโอชิ้นนี้กลายเป็นหลักฐานที่มีคุณค่ายิ่งในทางประวัติศาสตร์ของประเทศ ก่อนจะเข้าสู่ยุคที่มีสันติภาพ
"สันติภาพยังทำให้คนหลายคนที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในทุกเรื่อง ได้มีโอกาสจนสามารถสร้างฐานะของตนเองให้ร่ำรวยขึ้นมาได้ในขณะนี้อีกด้วย" นรม.กัมพูชา เขียนในตอนหนึ่งในเฟซบุ๊ก ช่วงข้ามวันที่ผ่านมา.