รอยเตอร์ - พม่าลงนามข้อตกลงกับบริษัท CITIC Group ของจีน วานนี้ (8) เพื่อเริ่มการทำงานในโครงการท่าเรือน้ำลึกทางภาคตะวันตกของประเทศ หลังเจรจาต่อรองลดขนาดโครงการเฟสแรกจากความวิตกเรื่อง “กับดักหนี้”
เซ็ต อ่อง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงวางแผนและการคลังพม่า กล่าวว่า พม่าและ CITIC ได้ลงนามกรอบความตกลงสำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกจอก์พยู (Kyauk Pyu) ในรัฐยะไข่
“เราคาดว่าค่าใช้จ่ายรวมของโครงการในเฟสแรกจะอยู่ที่ 1,300 ล้านดอลลาร์” เซ็ต อ่อง กล่าวกับนักข่าวในพิธีลงนามที่กรุงเนปีดอ เมืองหลวงของพม่า
รัฐบาลชุดก่อนหน้าที่ทหารให้การสนับสนุนได้มอบสัมปทานให้แก่บริษัท CITIC ในปี 2558 ดำเนินการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยมูลค่าการลงทุนรวมเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับข้อตกลงเมื่อวันพฤหัสฯ เซ็ต อ่อง ระบุว่า ครอบคลุมการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก 2 แห่ง โดยเซ็ต อ่อง นั้นได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าการเจรจาสำหรับรัฐบาลนางอองซานซูจี
ข้อเสนอของโครงการก่อนหน้านี้ ตั้งงบประมาณไว้ราว 7,300 ล้านดอลลาร์สำหรับท่าเรือ แต่เจ้าหน้าที่พม่าวิตกถึงค่าใช้จ่ายเนื่องจากมีรายงานว่า โครงการที่จีนให้การสนับสนุนในศรีลังกา และปากีสถานนั้นส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นติดหนี้
เซ็ต อ่อง กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในข้อสรุปของระยะของโครงการ
“เราจะดำเนินการโครงการไปทีละเฟส ทีละขั้นละตอน” เซ็ต อ่อง กล่าว
เซ็ต อ่อง กล่าวว่า โครงการนี้จะ “โปร่งใสและเป็นไปตามมาตรฐานสากล” ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศจะมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่พม่าใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน อพยพออกจากรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือน ส.ค.2560
จีนให้การสนับสนุนพม่าที่กำลังเผชิญกับการเรียกร้องจากชาติตะวันตก ให้นายพลพม่ารับผิดชอบการปราบปรามอย่างรุนแรงที่ขับไล่โรฮิงญาออกจากพื้นที่
พม่ายังต้องการความช่วยเหลือจากจีนที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ ที่จะยุติข้อขัดแย้งทางชาติพันธุ์ตามพื้นที่ชายแดนของประเทศ แต่ชาวพม่าจำนวนมากก็ระวังเรื่องการพึ่งพาจีนมากเกินไป
นอกจากโครงการท่าเรือน้ำลึก ยังมีโครงการท่อส่งก๊าซและน้ำมันของจีนที่พาดผ่านพม่าจากจอก์พยู ไปยังภาคตะวันตกของจีน
โครงการเหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่จากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนต่างๆ
นี ปู มุขมนตรีรัฐยะไข่ กล่าวกับนักข่าวในกรุงเนปีดอ ว่า โครงการจะสร้างงานและการพัฒนาในระยะยาวให้แก่รัฐ ที่เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของประเทศ.