เอเอฟพี - ทางการเวียดนามเผยวานนี้ (31) ว่า ได้จัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบเว็บไซต์ขึ้นที่สามารถสแกนข่าวสารได้มากถึง 100 ล้านชิ้นต่อวันสำหรับ “ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” ความเคลื่อนไหวที่ควบคุมเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตที่เข้มงวดขึ้น
เวียดนามได้กำหนดมาตรการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อเพิ่มการควบคุมการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ที่นักวิจารณ์ระบุว่า มีเป้าหมายที่จะลงโทษนักเคลื่อนไหวที่ใช้เฟซบุ๊ก และยูทิวป์เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นกันเป็นหลัก
สมาชิกสภานิติบัญญัติผ่านกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ในเดือน มิ.ย. กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องจัดเก็บข้อมูลในประเทศ และลบ “เนื้อหาพิษ” หากถูกร้องขอให้ดำเนินการ บริษัท เช่น เฟซบุ๊ก และกูเกิลจะต้องมอบข้อมูลของผู้ใช้งานหากได้รับการร้องขอจากรัฐบาล
ไม่มีบริษัทเอกชนรายใดแสดงความเห็นถึงกฎหมายฉบับดังกล่าว
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังนายพลระดับสูงประกาศการจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจทางอินเทอร์เน็ต 10,000 คน เพื่อตรวจสอบโพสต์บนโลกออนไลน์
ผู้เห็นต่างระบุว่า กองกำลังไซเบอร์เข้ามาปั่นกระทู้ โพสต์ข้อความแสดงความเห็นสนับสนุนรัฐบาลในหน้าเฟซบุ๊กของพวกเขา
รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารระบุบนเว็บไซต์ของรัฐบาลว่า ระบบล่าสุดซึ่งรวมทั้งซอฟต์แวร์ ที่กล่าวอ้างว่าสามารถอ่านข้อความออนไลน์ได้ 100 ล้านข้อความต่อวัน “เพื่อวิเคราะห์ ประเมินผล และจำแนกประเภท”
“มันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องลงโทษตามกฎหมายกับผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบนสื่อสังคมออนไลน์ เราไม่สามารถปล่อยให้สิ่งนี้ไร้การควบคุม” รัฐมนตรี ระบุ
อย่างไรก็ตาม ทางการไม่ได้ให้รายละเอียดถึงวิธีการดำเนินงานของหน่วยงานนี้ หรือวิธีที่หน่วยงานที่มีชื่อว่าศูนย์ตรวจสอบข้อมูลแห่งชาติ สามารถสแกนข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลได้อย่างไร
สำหรับบริษัท เช่น เฟซบุ๊ก และกูเกิล รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารระบุว่า เวียดนามควรจริงจังให้มากขึ้นในการขอให้บริษัทอินเทอร์เน็ตต่างชาติปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ เช่น การขอให้ลบข้อมูล
เวียดนามดำเนินมาตรการเข้มงวดกับการแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ต และถูกกล่าวหาว่ามุ่งโจมตีนักเคลื่อนไหวที่พึ่งพาเฟซบุ๊ก นับตั้งแต่สื่อทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ
กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกฎหมายเว็บของจีน และกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. ก่อให้เกิดเสียงตำหนิวิจารณ์จากทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และกลุ่มสิทธิมนุษยชน
กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ และกำจัดผู้ที่ไม่เป็นมิตร ที่ใช้เว็บไซต์ยุยงปลุกปั่นความรุนแรง และผู้เห็นต่าง
นักวิจารณ์กล่าวว่า เสรีภาพบนโลกออนไลน์กำลังถดถอยลงภายใต้การปกครองของรัฐบาลสายแข็งกร้าวที่เข้าบริหารประเทศในปี 2559.