เอเอฟพี - แค่เพียงระยะทางจากหาดทรายถึงท้องทะเล แม้จะดูไม่ไกลกันมาก แต่กลับเต็มไปด้วยอันตรายรายล้อมเต่าทะเลตัวน้อยที่พยายามคืบคลานเข้าหาเกลียวคลื่น หากพวกมันไม่โดนเหล่าปูทะเลเข้าขัดขวาง ลูกเต่าตัวเล็กๆ เหล่านี้ก็อาจจบชีวิตลงด้วยฝีมือของผู้ลักลอบจับปลาผิดกฎหมาย
จากสายพันธุ์เต่าทะเลในโลกที่มีอยู่ทั้งหมด 7 สายพันธุ์ พบว่า ในน่านน้ำของพม่ามีเต่าทะเลถึง 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย เต่ากระ เต่าตนุ เต่าหญ้า เต่ามะเฟือง และเต่าหัวค้อน ซึ่งสัตว์เหล่านี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์
“หากเราไม่อนุรักษ์เต่าพวกนี้ให้ถูกต้อง พวกมันจะหายสาบสูญไปทั้งหมดในอนาคต” โพน มอ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลอุทยานบนเกาะ Thanmee Hla ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี กล่าว
ชายวัย 56 ปี อุทิศชีวิตให้แก่สัตว์เหล่านี้มานานเกือบ 20 ปี ออกสำรวจตามแนวชายฝั่งของเกาะยาว 2.5 กิโลเมตร ถึง 3 ครั้งต่อคืน มองหาเต่าตัวเมียที่กำลังวางไข่
เต่าทะเลพวกนี้เมื่อโตเต็มที่อาจมีความยาวมากกว่า 1 เมตร และหนักมากกว่าเปียโน 1 หลัง พวกมันวางไข่ราว 100 ใบ ลงในหลุมที่ขุดด้วยครีบขาคู่หลัง ก่อนใช้ทรายกลบรัง และกลับลงน้ำ
พวกลักลอบจับสัตว์คือภัยอันตรายด่านแรก แม้ว่าพื้นที่จะถูกกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์สำหรับสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลก็ตาม ไข่เต่าสามารถขายได้ในราคาใบละ 1 ดอลลาร์ สูงกว่าราคาไข่ไก่ประมาณ 10 เท่า
โพน มอ และเพื่อนร่วมงาน จะขุดเอาไข่ที่แม่เต่าเพิ่งวาง ไปฝังไว้ในจุดใหม่ที่เป็นพื้นที่คุ้มครอง จนกว่าไข่เหล่านี้จะฟักตัวในอีก 50-60 วันต่อมา
การวางไข่กลับลงไปในหลุมที่มีความลึกเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากอุณหภูมิมีผลต่อการกำหนดเพศของลูกเต่า หากอุณหภูมิสูงขึ้นโอกาสที่จะฟักเป็นตัวเมียก็มีมาก และหากอุณหภูมิต่ำลงก็มีโอกาสเป็นตัวผู้มากกว่า
เมื่อลูกเต่าฟักออกจากไข่แล้ว เจ้าหน้าที่จะปล่อยลูกเต่าลงสู่ชายหาดกลับคืนสู่ทะเล ซึ่งที่นั่นยังมีนักล่าอีกจำนวนมากเฝ้ารอพวกมันอยู่
บนชายหาดที่ดูไม่มีพิษภัย เต่าน้อยตัวจิ๋วต้องเผชิญกับกองทัพปูแดงที่วิ่งมาจับลากลูกเต่า หากโชคดีพวกมันก็สามารถหลบหนีปูแดงตะเกียกตะกายไปถึงเกลียวคลื่นตรงหน้าได้
อวนเรือหาปลาเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการเอาชีวิตรอดของประชากรเต่าที่กำลังลดจำนวนลงเรื่อยๆ เหล่านี้ พวกมันมักเข้าไปติดพันกับตาข่ายระหว่างว่ายขึ้นผิวน้ำเพื่อหายใจ
การระเบิดปลา และการขุดลอกทรายอย่างผิดกฎหมายก็เป็นอีกหนึ่งอันตรายร้ายแรง และส่งผลให้เกิดมลพิษทางทะเล
น่านน้ำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เต็มไปด้วยพลาสติก และมากกว่าครึ่งของขยะ 8 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทรในแต่ละปี มาจาก 5 ประเทศ คือ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย
ในเดือน มิ.ย. พบเต่าตนุเกยตื้นตายบนชายหาด ซึ่งในท้องของมันเต็มไปด้วยขยะพลาสติก หนังยาง และเศษซากอื่นๆ และก่อนหน้านั้น ผลจากการชันสูตรวาฬนำร่องพบว่าในท้องของวาฬมีถุงพลาสติกกว่า 80 ใบ
เจ้าหน้าที่พม่าระบุว่า เต่าที่ฟักออกจากไข่ทุก 1,000 ตัว มีเพียงแค่ 2 ตัว ที่อยู่รอดจนโตเต็มวัย
“แต่ตอนนี้จำนวนลดต่ำลงกว่านั้นมากเพราะมลพิษทั้งหมด” โพน มอ กล่าว.