xs
xsm
sm
md
lg

บังกลาเทศ-พม่าได้ข้อสรุปเริ่มส่งโรฮิงญากลับประเทศกลางเดือน พ.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - บังกลาเทศและพม่าเห็นพ้องกันในวันนี้ (30) ที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศในเดือน พ.ย. ช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังผู้สืบสวนสหประชาชาติเตือนว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ชาวโรฮิงญาไร้สัญชาติของพม่ามากกว่า 720,000 คน หลบหนีการปราบปรามอย่างรุนแรงของทหารในเดือน ส.ค. เมื่อปีก่อน ข้ามแดนไปอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ และเปิดเผยเรื่องราวน่าสลดเกี่ยวกับการข่มขืน การเข่นฆ่าสังหาร และการวางเพลิงระหว่างการปราบปรามของทหาร

ผู้สืบสวนระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของพม่าควรถูกฟ้องดำเนินคดีจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่ แต่ทางการพม่าปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว และยืนยันว่าทหารปกป้องตนเองจากผู้ก่อการร้าย

พม่าและบังกลาเทศประกาศแผนส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศในเดือน พ.ย.2560 แต่กระบวนการดังกล่าวต้องชะงักงันเกือบจะในทันทีเนื่องจากอุปสรรคทางระบบราชการ ไม่สามารถที่จะเริ่มดำเนินกระบวนการได้ ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวโทษกันจากความล่าช้าที่เกิดขึ้น

เจ้าหน้าที่ในพม่าระบุว่า มีชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นมากกว่า 100 คน เดินทางกลับประเทศในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ แต่ฝ่ายบังกลาเทศยืนยันว่า กระบวนการอย่างเป็นทางการยังไม่เริ่มขึ้น

“เรากำลังรอที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศในกลางเดือน พ.ย.นี้” เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ กล่าวหลังการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่สองประเทศในกรุงธากา

ปลัดกระทรวงต่างประเทศพม่าที่เข้าร่วมการเจรจาด้วยนั้น กล่าวว่า สองฝ่ายเห็นพ้องกันในแผนการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อเริ่มกระบวนการในเดือนหน้า

“เราได้แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจทางการเมืองของเรา ความยืดหยุ่นและการอำนวยความสะดวกเพื่อเริ่มกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศในวันที่เร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้” เจ้าหน้าที่พม่า กล่าว

รัฐบาลพม่ามักออกประกาศทุกครั้งที่ครอบครัวโรฮิงญาเดินทางกลับประเทศ แม้กลุ่มสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามว่าผู้ลี้ภัยดังกล่าวเดินทางกลับด้วยความสมัครใจหรือไม่

ชาวโรฮิงญาจำนวนมากยังกลัวที่จะกลับพม่าหากไม่ได้รับการรับรองสิทธิ เช่น สถานะพลเมือง การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และเสรีภาพในการเคลื่อนไหว

คำมั่นที่จะเริ่มต้นกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศ เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังผู้สืบสวนสหประชาชาติเตือนว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมในพม่า

มาร์ซูกิ ดารุสมาน ประธานภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงสหประชาชาติว่าด้วยพม่า กล่าวว่า นอกเหนือไปจากการสังหารหมู่ ยังมีความขัดแย้ง เช่น การเนรเทศประชากร การป้องกันการเกิด และการพลัดถิ่นตามค่ายต่างๆ

สหประชาชาติกล่าวย้ำว่า การกลับประเทศของโรฮิงญาต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ และดำเนินการอย่างมีศักดิ์ศรีและมีความปลอดภัย แต่จากการสำรวจสภาพเงื่อนไขในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่เมื่อเดือนก่อน พบว่ายังมีความไม่ไว้วางใจ ความหวาดกลัวชุมชนเพื่อนบ้าน และความรู้สึกไม่ปลอดภัยในหลายพื้นที่.
กำลังโหลดความคิดเห็น