xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งเศสเผยโฉมเครื่องบินล่องหนยุคที่ 6 ใช้ปัญญาประดิษฐ์อีก 10 ปีได้เห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ว่ากันว่านี่คือเครื่องบินรบยุคที่ 6 ลำแรกของโลก ที่มีการเปิดเผยตัวตน ถึงแม้จะยังเป็นเพียง Concept Model อยู่ก็ตาม ผู้ผลิตรายใหญ่แห่งฝรั่งเศสบอกว่า จะนำเอาปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence ไปบูรณาการ เพื่อใช้แทนราฟาล กับยูโรไฟเตอร์ ไต้ฝุ่น ในอีกราว 10 ปีข้างหน้า.

MGR ออนไลน์ -- บริษัทผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำแห่งฝรั่งเศสได้เปิดเผย หุ่นจำลองของเครื่องบินรบรุ่นใหม่ หรือ NGF (New Generation Fighter) สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจะใช้แทนเครื่องบินรบของค่ายยุโรปที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งราฟาล (Rafale) ของดาสซอลต์ และ ยูโรไฟเตอร์ "ไต้ฝุ่น" (Eurofighter Typhoon) ของเยอรมนี ในทศวรรษข้างหน้า

บริษัทดาสซอลต์ (Dassault Aviation) ได้นำหุ่นจำลอง "คอนเส็ปต์ โมเดล" ของอากาศยานรุ่นใหม่ ออกเปิดตัวในงาน Euronaval 2018 ระหว่างวันที่ 23-26 ต.ค. ที่สนามบินเลอบูเกต์ (Le Bourget) ชานกรุงปารีส เป็นเครื่องบินรบมีปีกเป็นรูปตัวดับลิว (W) หุบได้ และ ไม่มีแพนหางทั้งแนวดิ่งและแนวนอน มีลำตัวที่โค้งมนและเคลือบสารพิเศษ ลดการสะท้อนกลับของคลื่นเรดาร์ นั่นคือเป็นเครื่องบินรบที่ใช้เทคโนโลยี "สเตลธ์" (Stealth) หลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ทั่วไป เช่นเดียวกันกับ F-22 และ F-35 ที่ประจำการกองทัพสหรัฐในปัจจุบัน

แต่ดาสซอลต์บอกว่านี่คึอ เครื่องบินรบที่จะใช้ "ปัญญาประดิษฐ์" หรือ Artificial Intelligence ควบคุมทุกกระบวนการ -- ติดตั้งการเชื่อมต่อตั้งระบบข้อมูลข่าวสารอย่างสมบูรณ์แบบ และ ไม่มีส่วนใดลอกเลียน F-35 และ "แร็พเตอร์" ซึ่งเป็นเครื่องบินรบยุคที่ 5 เพียง 2 รุ่นของโลก ที่กำลังใช้งานจริงในปัจจุบัน

เชื่อกันว่าแผนพัฒนาเครื่องบินรบลำใหม่ของดาสซอลต์ เป็นไปภายใต้โครงการจัดสร้างระบบสู้รบทางอากาศแห่งอนาคตของยุโรป หรือ Europe’s Future Air Combat System (FCAS) ที่จะทยอยปลดประจำการราฟาล กับไต้ฝุ่น ในช่วงปี 2568-2573 หรือ ในระยะ 7-12 ปีข้างหน้า -- และหวังกันว่าจะได้เห็นเครื่องบินต้นแบบในเร็วๆนี้

ในเดือน เม.ย.รัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนีได้มีคำแถลงออกมาฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับความต้องการร่วมกัน ในการหาเครื่องบินรบรุ่นใหม่รุ่นหนึ่ง เพื่อใช้แทนราฟาลกับยูโรไฟเตอร์ นายเอริค ตาปเปียร์ (Eric Tappier) ซีอีโอของดาสซอลต์เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้่ว่า กลุ่มแอร์บัสกับดาสซอลต์ได้ตัดสินใจผนึกกำลังกัน เพื่อให้มีหลักประกันว่ายุโรปจะยังควบคุมระบบอาวุธป้องกันของตนเองได้ต่อไปในอนาคต
.

แอร์บัสกับดาสซอลต์กล่าวในครั้งนั้นว่า ฝรั่งเศสกับเยอรมนีควรจะเริ่มศึกษาตั้งแต่ปีนี้ ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถะบุได้ภายในปี 2565 -- ว่าจะมีเทคโนโลยีใดนำไปใช้ได้บ้างสำหรับ เครื่องบินรบรุ่นใหม่

จนถึงปัจจุบัน เชื่อกันว่านี่คือเครื่องบินรบยุคที่ 6 ลำแรกของโลกเท่าที่มีการเปิดเผยตัวตนออกมาให้เห็น แม้จะเป็นเพียง "คอนเส็ปต์ โมเดล" ก็ตาม

ถึงแม้กลุ่มมิโกยัน (Mikoyan) แห่งรัสเซียจะประกาศ ในช่วงเดียวกันนี้ว่ามีแผนการที่จะผลิต Mig-41 เครื่องบินรบรุ่นใหม่เพื่อใช้แทน Mig-31 แต่ก็เชื่อกันว่าไม่ใช่เครื่องบินรบ "สเตลธ์" อาจมีเพียงการนำเอาฟีเจอร์ที่ก้าวหน้าของเครื่องรบยุคที่ 5 จำนวนหนึ่งไปบูรณาการใช้ ไม่ต่างกัน Su-35 ของอีกค่ายหนึ่งในขณะนี้

เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจกันทั่วไปว่า มิโกยันกำลังจะพัฒนา Mig-31 ขึ้นเป็นเครื่องบินรบยุคที่ 4++ -- กลายเป็น Mig-41 -- เช่นเดียวกันกับหลายปีมานี้ ได้พัฒนา Mig-29 ไปเป็น Mig-35 เครื่องบินรบยุคที่ 4++ อีกรุ่นหนึ่ง ที่เน้นสำหรับส่งออก

เมื่อพูดถึงเครื่องบินรบฝรั่งเศสก็เป็นเรื่องที่ขยับเข้ามาใกล้ตัวในทันที เนื่องจากเป็นผู้ผลิตอาวุูหลักอีกรายหนึ่งของโลก ในภูมิภาคนี้มีหลายประเทศที่ใช้ระบบอาวุธต่างๆ ของค่ายนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีเรือแบบเอ็กโซเซต์ (Exoxet) ที่มีชื่อเสียงจากสงครามหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ ในปัจจุลบันมีใช้ในหลายประเทศรวมทั้งราชนาวีไทยด้วย
.


กองทัพบกไทยยังมีระบบปืนใหญ่อัตตาจร 155 มม.แบบซีซาร์ (Caesar) ที่ผลิตโดยกลุ่มเน็กซ์เตอร์ (Nexter) แห่งฝรั่งเศสใช้งานอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าเคยสร้างผลงานอย่างน่าพอใจ เมื่อครั้งเกิดการพิพาทตามแนวชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร

กองทัพอากาศไทยเพิ่งได้รับมอบเฮลิคอปเตอร์ H225M จากแอร์บัสอีก 2 ลำเมื่อไม่กี่วันมานี้ จากการจัดหาต่อเนื่อง รวมทั้งหมด 12 ลำ แต่หลายคนอาจจะลืมไปก็ได้ว่า นี่คือหนึ่งในบรรดาอากาศยานปีกหมุนในครอบครัวพูม่า (Puma) และคูการ์ (Cougar) ที่เคยผลิตโดยบริษัทฝรั่งเศส และใช้มานานหลายทศวรรษในกองทัพประเทศนั้่น

อย่างไรก็ตามเครื่องบินรบของฝรั่งเศสยังไม่เคยประสบความสำเร็จในย่านนี้ ถึงแม้ว่าดาสซอลต์เองจะพยายามผลักดัน และนำเสนอราฟาลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในโครงการจัดหาของอินโดนีเซียและมาเลเซีย ก็ตาม

หลังจากเข้าร่วมฝึกซ้อม Pitchblack 2018 ที่เมืองดาร์วิน ในออสเตรเลีย สัปดาห์ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ราฟาล-B จำนวน 3 ลำ พร้อมกับเครื่องบินขนส่ง A400M อีก 1 ลำซึ่งทำหน้าที่พี่เลี้ยง ได้ไปแวะจอดที่สนามบินโนยบ่าย กรุงฮานอย เป็นเวลา 4 วัน เพื่อแสดงให้เห็นขีดความสามารถการ "ไปได้ทุกที่" ในโลก

ในโอกาสเดียวกันราฟาล-B ทั้งสามลำยังตระเวนเยือนอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และ อินเดีย ตามลำดับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น