MGR ออนไลน์ -- เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อรถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 6 ล้อยางแบบ 92 (Type 92 หรือ WZ-551A) กองทัพพม่าคันหนึ่ง เกิดไฟลุกขึ้นมาที่เครื่องยนต์ ขณะจอดติดเครื่องอยู่ริมทาง ในเมืองท่าขี้เหล็กใกล้กับชายแดนไทย ข่อมูลกับวิดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็วในเวลาแค่วันสองวัน เป็นข่าวในเว็บไซต์อาวุธยุทโธปกรณ์ หรือฟอรั่มของคอข่าวกลาโหมต่างๆ รวมทั้งในพม่าเองด้วย
โดยทั่วไปแทบจะไม่มีอะไรน่าห่วง คลิปที่ถ่ายทำด้วยโทรศัพท์มือถือโดยผู้เห็นเหตุการณ์แสดงให้เห็นควันขโมง และ ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นหลายคนช่วยกันหิ้วน้ำใส่กระแป๋งไปช่วยกันดับไฟคนละแรงสองแรง แต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งรถดับเพลิงคันหนึ่งไปถึงที่เกิดเหตุ ทุกอย่างจึงดำเนินต่อไปตามปรกติ โดยรถหุ้มเกราะกับยวดยานอื่นๆ ของกองทัพ สามารถเดินหน้าต่อไป แต่รถที่ไฟไหม้ยังคงอยู่กับที่
"ลิน ลี่ ปาย" ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาผู้เห็นเหตุการณ์ เขียนบอกเล่าในเฟซบุ๊กว่า เหตุเกิดประมาณ 21:45 น. วันพุธ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะรถลำเลียงพลคันดังกล่าว นำกำลังทหารเข้าไปในตัวเมือง ซึ่งเป็นการตรวจตราความสงบเรียบร้อยตามกำหนด แต่จู่ๆ ก็เกิดไฟไหม้ขึ้่นที่เครื่องยนต์โดยไม่ทราบสาเหตุ -- โชคดีที่ไม่มีใครเป็นอันตราย กำลังพลทั้ง 3 นายออกจากรถอย่างปลอดภัย
วิดีโอของเธอมีผู้เข้าชมกว่า 130,000 ครั้งในช่วง 3 วันมานี้ -- ในนั้นแสดงให้เห็นกำลังพลประจำรถหุ้มเกราะทั้ง 3 นาย พยายามช่วยกันดับไฟ ร่วมกับประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง
ดูๆ ก็เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเดี่ยวๆ หรือ Isolated Incident สำหรับยานยนต์หุ้มเกราะที่ผลิตในจีนคันนี้่ โดยแทบจะไม่ได้มีผลอะไรต่อกำลังพลหรือกองทัพ สาธารณชนพม่าเองก็อาจจะไม่คิดอะไรมากกว่านี้ ถ้าหากก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน ไม่เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญสะเทือนอารมณ์คนทั้งประเทศ
.
.
นั่นคือ เหตุการณ์ที่เครื่องบินโจมตีขับไล่แบบ F-7 จำนวน 2 ลำ ตกในเขตเมืองมาจเว (Magwe) ทางตะวันตกของประเทศ ตกในพื้นที่ใกล้เคียงกัน วันเดียวกัน และ ในเวลาไล่เรี่ยกัน -- นักบินทั้งสองคนเสียชีวิต ลำหนึ่งในนั้นยังทำให้หนูน้อยนักเรียนวัย 10 ปีอีกคนหนึ่ง ที่อยู่ภาคพื้นดิน โดนลูกหลงเสียชีวิตไปอีกคนหนึ่งด้วย
สองกรณีล่าสุดยังเป็นอุบัติเหตุครั้งที่ 2 ในรอบปีที่เกี่ยวกับเครื่องบินรบ "เมด อิน ไชน่า" และ เกิดขึ้นห่างกัน 6 เดือนหลังจากกองทัพอากาศพม่าสูญเสีย F-7 ลำหนึ่งในเดือน เม.ย. ซึ่งนักบินเสียชีวิตเช่นเดียวกัน -- บางคนบอกว่า "เครื่องบินรบจีน ตก = ตาย" และ เริ่มเกิดการถกเถียงกันในฟอรัมข่าวกลาโหมว่า "อาวุธที่ผลิตในจีนราคาถูกจริงหรือไม่?"
คำถามข้างบนยิ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับสาธารณชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนหยิบยกกรณีรถหุ้มเกราะขึ้นมาตั้งคำถามต่อไปอีกว่า -- กองทัพมี Type-92 กว่า 170 คัน แล้วคันอื่นๆ จะเป็นเช่นเดียวกับกรณีที่ท่าขี้เหล็กหรือไม่?
เมื่อพูดถึงยานหุ้มเกราะ บางคนได้หยิบยกเอาเหตุการณ์รถถังหลัก Type 96B (ZTZ 96B) ของจีนที่ส่งไปร่วมแข่งขัน Tank Biathlon 2018 ในรัสเซีย เดือน ก.ค.ปีนี้ เกิดเครื่องยนต์ดับขึ้นมาเฉยๆ ขณะแล่นในสนามแข่ง ในรอบรองชนะเลิศ และสตาร์ทไม่ติดอีกเลย ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขัน ต้องเร่งเร้าให้ทีมเจ้าหน้าที่จีนนำคันใหม่ไปเปลี่ยน เพื่อให้เกมส์ดำเนินต่อไปได้ เรื่องนี้ทำให้ฝ่ายอรินำไปล้อเลียน ผ่านสายตาผู้ชมคลิปหลายล้านคน เป็นที่ขบขันในระดับโลก -- ไม่ต่างกับอีกกรณีหนึ่งใน Biathlon 2016 -- ซึ่งรถถังหลัก Type 96B อีกคันหนึ่งเกิดล้อหลุด ขณะแล่นฝ่าสิ่งกีดขวางในรอบรองชนะเลิศ เช่นเดียวกัน
นี่คือรถถังหลักดีที่สุด ได้รับการปรับปรุงใหม่ล่าสุดรุ่นหนึ่งของกองทัพประชาชน
.
ชาวพม่าออนไลน์หลายคนบอกว่า จริงอยู่ -- อุบัติเหตุเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะหรืออากาศยาน ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดจากโรงงานเสียทั้งหมด สภาพของเครื่องมืออุปกรณ์ รวมทั้งการบำรุงรักษา ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญทั้งสิ้น นอกจากนั้่นอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากความผิดพลาดของผู้ใช้อีกด้วย
แต่ก็มีข้อโต้แย้งเช่นเดียวกันว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพ จะต้องสามารถช่วยป้องกัน หลุดผ่อน หรือ ในขั้นตอนสุดท้ายก็คือสามารถรองรับรองความผิดพลาดจากมือมนุษย์ได้
ตามประวัติความเป็นมานั้น โนรินโค (Norinco) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและผลิต ได้ปรับปรุงยานหุ้มเกราะซีรีส์ Type 90/92 มาหลายครั้ง ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา -- จาก Type 90 ที่ล้มเหลวและถูกกองทัพประชาชนปฏิเสธ ทำให้ต้องปรับปรุงมาเป็น Type 92 แต่ล้มเหลวอีกครั้ง จนในที่สุดก็มาสู่รุ่นปัจจุบันที่เรียกว่า WZ551A ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล Deutz BF8L 320 แรงม้า ของเยอรมนีที่จีนมีสิทธิบัตรผลิตเอง และ ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ 25 มม. ที่ลอกเลียนจากต้นแบบของ GIAT แห่งฝรั่งเศส
ตามตัวเลขของสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศกรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Reasearch Institute) พม่าจัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง WZ551 จากโนรินโคกว่า 170 คัน ส่งมอบไม่กี่ปีมานี้โดยเห็นออกปรากฏตัวในพิธีส่วนสนามประจำปี ในวันครบรอบกองทัพ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา
.
เพราะฉะนั้นถ้าหากจะกล่าวโทษว่า -- เนื่องจากเป็นรถเก่า เครื่องยนต์จึงเกิดไฟไหม้ -- ก็น่าจะตกไป เพราะสวนทางกับข้อเท็จจริง
กรณีของ F-7 ก็แทบไม่ต่างกัน -- นี่คือเวอร์ชั่นส่งออกของ "เฉิงตู" (Changdu) J-7 ที่จีนได้สิทธิบัตรจากมิโกยันแห่งรัสเซียไปผลิตเอง ตามแบบของ Mig-21 ที่เลิกผลิตไปแล้ว และ จีนก็ได้เลิกผลิต J-7 ไปหลายปีแล้วเช่นกัน แต่ยังเหลือที่ประจำการในกองทัพอากาศจำนวนหลายร้อยลำ
พม่าจัดหาเครื่องบินรบรุ่นนี้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 ภายใต้ระบอบทหาร ที่ถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตร ซึ่งทำให้จีนกับรัสเซียกลายเป็นแหล่งสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ทดแทนหลัก อย่างไม่มีทางเลี่ยง และ ยังคงเป็นมาจนถึงปัจจุบันนี้
ตามข้อมูลของสถาบันวิจัย SIPRI พม่ารับมอบ F-7 IIK กับ FT-7 ซึ่งเป็นเครื่องบินฝึกสองที่นั่งจากจีนมาหลายครั้ง ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2533 เป็นต้นมา รวมทั้งในปี 2538, 2541 และ 2542 ด้วย รวมจำเป็นจำนวนกว่า 60 ลำ เป็นกำลังหลักในการป้องกันทางอากาศ ในช่วงทศวรรษโน้น -- นั่นหมายความว่า F-7 ของพม่ามีอายุตั้งแต่ 20-30 ปี
แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ฝูง F-7 ของพม่าได้รับการพัฒนายกระดับมาโดยตลอด -- ไม่ใช่เครื่องบินเก่าที่ถูกปล่อยตามสภาพ -- กว่า 10 ปีมานี้ กลุ่มราฟาเอล (Rafael) จากอิสราเอล ได้เซ็นสัญญาเข้าปรับปรุงระบบเรดาร์ตรวจไกลทางอากาศเสียใหม่ให้ทันสมัย แทนเรดาร์จีนที่ใช้มายาวนานและล้าหลัง F-7 จำนวนหนึ่งในระยะหลังๆ พบเห็นมีการติดตั้งกระเปาะเลเซอร์ตรวจจับเป้าหมายทางภาคพื้นดินของอิสราเอลอีกด้วย
.
ข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงทำให้การกล่าวหาที่ว่า -- ตกบ่อยๆ ก็เพราะเป็นเครื่องบินเก่า -- มีอันต้องตกไปเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายหันไปมองเครื่องบินรบที่ผลิตในจีนอย่างสงสัยมากยิ่งขึ้น
พม่ามีประสบการณ์พอสมควรกับอากาศยานราคาถูกที่ผลิตจากจีน รวมทั้งที่นำไปใช้ในฝ่ายพลเรือนด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อสัก 10 ปีที่แล้วสายการบินเมียนมาร์แอร์เวย์ส เคยจัดหาเครื่องบินโดยสารเทอร์โบพร็อพแบบ MA60 จากจีนถึง 4 ลำ ในนั้นจำนวน 2 ลำ เกิดอุบัติเหตุติดๆกันทั้งในขณะบินขึ้นและลงจอด ทำให้ทางการสั่ง "กราวด์" ทั้งฝูง -- ดูเหมือนว่าไม่ได้ใช้สำหรับบินโดยสารอีกเลยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ทั้งเครื่องบิน F-7 และ รถหุ้มเกราะ Type 92 ได้เคยถูกนำไปใช้งานให้เห็นมาหลายครั้งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจปราบปรามกองกำลังอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งในรัฐกะฉิ่น กับทางตอนเหนือของรัฐชาน และ ยังไม่เคยพบมีปัญหาอะไร
แต่ 2-3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติดๆ กันนี้ ได้ทำให้ชาวพม่าออนไลน์จำนวนมาก คลางแคลงสงสัยและตั้งคำถามว่า -- เมื่อถึงคราวจำเป็น ต้องใช้งานหนักจริงๆ ในภารกิจป้องกันประเทศ อันเป็นเหตุผลหลักในการจัดหา -- แล้วมันจะใช้งานได้ดีจริงสมคำโฆษณาหรือไม่.