รอยเตอร์ - ตำรวจอินเดียส่งตัวชาวมุสลิมโรฮิงญา 7 คน ที่ถูกจำคุกตั้งแต่ปี 2555 จากข้อหาเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ไปยังชายแดนเพื่อเนรเทศไปพม่า ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ และนักเคลื่อนไหว
ชาวโรฮิงญาราว 40,000 คน อาศัยอยู่ในอินเดียหลังหลบหนีการกดขี่ข่มเหงในพม่าในช่วงหลายปีมานี้ และชายชาวโรฮิงญา 7 คน ที่ถูกส่งกลับ ถูกควบคุมตัวในเรือนจำมาตั้งแต่ปี 2555 จากข้อหาลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย
รัฐบาลชาตินิยมฮินดูของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ระบุว่า ชาวโรฮิงญาอพยพผิดกฎหมายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงชาติ และขอให้รัฐบาลท้องถิ่นชี้ตัวและเนรเทศคนเหล่านั้น
ตำรวจในรัฐอัสสัม กล่าวว่า ชายทั้ง 7 คน จะถูกส่งตัวให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ชายแดนในเช้าวันพฤหัสฯ
“นี่เป็นขั้นตอนปฏิบัติตามปกติ เราเนรเทศชาวต่างชาติผิดกฎหมายทั้งหมด” เจ้าหน้าที่ตำรวจากรัฐอัสสัม ของอินเดีย กล่าว
แต่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวว่า การบังคับส่งกลับชาวโรฮิงญาเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
“รัฐบาลอินเดียมีพันธะผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศในการรับทราบถึงการเลือกปฏิบัติ การกดขี่ข่มเหง ความเกลียดชัง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผู้คนเหล่านี้เผชิญในประเทศต้นกำเนิดของพวกเขา และให้ความคุ้มครองที่จำเป็นแก่พวกเขา” ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องเหยียดสีผิด ระบุในคำแถลง
ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน หลบหนีออกจากพม่าหลังการปราบปรามของทหารในพม่าเมื่อปีก่อน เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ระบุว่า การกระทำของทหารพม่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ซึ่งพม่าปฏิเสธข้อหา โดยโต้แย้งว่าทหารดำเนินการปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายหลังกลุ่มผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงในเดือน ส.ค.2560
นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในอินเดียคัดค้านคำสั่งของรัฐบาลที่จะส่งตัวโรฮิงญากลับ และศาลสูงกำลังพิจารณาคำร้องการยุติการเนรเทศ
“นี่อาจเป็นกรณีแรกของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ถูกเนรเทศออกจากอินเดีย” ทนายความของกลุ่มผู้ร้องเรียน กล่าว.