xs
xsm
sm
md
lg

คุ้นหน้าคนทั้งโลก..คุณยายผู้ลี้ภัยพาลูกๆหนีเขมรแดงเข้าไทยสิ้นลมแล้วในฝรั่งเศส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ขยายให้เห็นใกล้ๆ สีหน้าของหญิงชาวนาชาวเขมร กับลูกๆของเธอ ภาพนี้ได้กลายเป็นตัวแทนของชาวเขมรพลัดถิ่นนับแสนๆ คนในช่วงทศวรรษที่ 1970 -- คุณแม่ผู้ตรากตรำถึงแก่กรรมในฝรั่งเศส เมื่อไม่กี่วันมานี้รวมอายุ 86 ปี. -- Courtesy Roland Neveu.

MGR ออนไลน์ -- หญิงชาวกัมพูชาผู้หนึ่งที่เคยพาลูกๆ 3 คนรวมทั้งคนหนึ่งที่เป็นทารกแรกเกิด หนีการเข่นฆ่าของพวกเขมรแดงกลุ่มโปลโป้ท เอียง สารี กับ เคียว สมพร ข้ามแดนเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 2522 ได้ถึงแก่กรรมแล้วในประเทศฝรั่งเศส -- ภาพสุดยอดคุณแม่คนนี้กับลูกๆ ที่ถ่ายโดยนักข่าว/ช่างภาพชาวฝรั่งเศส ได้กลายเป็นภาพที่คนทั่วโลกคุ้นตามากที่สุดในเวลาต่อมา เช่นเดียวกันกับใบหน้าของหญิงในภาพ

คุณยายเทือง อูน (Thuong Oun) ถึงแก่กรรมที่ประเทศฝรั่งเศส 25 ก.ย.ที่ผ่านมา รวมอายุ 86 ปี ในอีกสองวันถัดมาภายนอกจึงได้ทราบข่าวคราวเรื่องนี้ ในเฟซบุ๊กของพระสงฆ์รูปหนึ่งใน จ.กัมปงธม พร้อมภาพประกอบจากพิธีศพอีกจำนวนมาก และได้กลายเป็นข่าวสะพัดในสื่อต่างๆ ของกัมพูชาช่วง 2-3 วันมานี้ เมื่อทุกคนจำภาพของคุณยายที่ถ่ายไว้เมื่อ 39 ปีก่อนได้

ภาพดังกล่าวได้ทำให้คนนับล้านๆ ทั่วโลก อยากรู้เรื่องราวของคุณยายเทือง อูน -- นั่นคือภาพหญิงชาวนาเขมรคนหนึ่ง ที่หอบลูกทารกน้อย กับลูกชาย พร้อมลูกสาวอีกคน หลบหนีการสังหารของพวกเขมรแดงหัวรุนแรง ข้ามแดนเข้าสู่ประเทศไทย พักอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพอยู่หลายปีในฐานะคนพลัดถิ่น ก่อนได้รับฐานะเป็นผู้ลี้ภัย และอพยพไปอาศัยทำกินในฝรั่งเศส

สีหน้าของหญิงที่กรำงานหนักในภาพนั้นดูอิดโรย แต่มือทั้งสองข้างโอบลูกน้อยแนบอกไว้อย่างมั่นคง บุตรชายกับบุตรสาวทั้งสองยืนแนบชิด แสดงความวิตกหวาดกลัวออกทางสีหน้า กลายเป็นภาพตัวแทนของบรรดาชาวเขมรพลัดถิ่น 2-3 แสนคน ที่หนีร้อนเข้ามาพึ่งเย็นในดินแดนของไทย และ ช่วยให้ชาวโลกได้รู้จักสถานการณ์ทางซีกนี้ได้ดียิ่งขึ้น

การสังหารหมู่ในกัมพูชา หรือ "กัมพูชาประชาธิปไตย" ในขณะนั้นเกิดขึ้นเพียงข้ามวัน หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่นิยมลัทธิเหมาเจ๋อตง นำโดยโปลโป้ท (นามแฝง) เอียง สารี กับ เคียว สมพร -- ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุกๆ อย่างจากจีน -- เข้าโอบอ้อมเมืองหลวง และยึดอำนาจในกรุงพนมเปญจากรัฐบาลลอนนอล ที่มีสหรัฐหนุนหลังได้ ในวันที่ 17 เม.ย.2518

ข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งก็คือ ช่วง 6 เดือนสุดท้ายนั้น กรุงพนมเปญกับเมืองใหญ่อื่นๆ ถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์เขมรแดงปิดล้อมไว้หมด ชาวเมืองหลวงมีชีวิตอยู่ได้ด้วยข้าวสาร ที่องค์การช่วยเหลือต่างประเทศสหรัฐหรือยูเสดส่งไปช่วยเหลือทางอากาศ -- หลังยึดอำนาจสำเร็จ ภารกิจแรกของระบอบใหม่ก็คือ อพยพคนออกจากเมืองเนื่องจากไม่มีอาหารเลี้ยงดู -- เมืองสำคัญต่างๆ รวมทั้งพระตะบอง กัมปงทม กัมปงจาม ลงไปจนถึงสวายเรียง และ กัมโป้ท ทางตอนใต้ ล้วนมีสภาพเดียวกัน
.
ภาพที่ Roland Neveu ถ่ายไว้เมื่อ 39 ปีที่แล้วกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ และเป็นอีกภาพหนึ่งเกี่ยวกัมพูชาภายใต้ระบอบเขมรแดงที่ใช้กันมากที่สุด นักข่าวฝรั่งเศสคนนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้เห็นเหตุการณ์วัน พนมเปญแตก 17 เม.ย.2518.
ภาพคุณยายเทือง อูน กับลูกๆ ในวันนั้่นถูกสร้างเป็นอนุสรณ์สถานขึ้นหลายต่อหลายแห่ง รำลึกถึงชาวเขมรนับแสนๆ ทิ้งบ้านเกิดหลบหนีทุ่งสังหารและการทำงานหนัก ข้ามแดนมาพึ่งพระบารมีฯในประเทศไทย.
เขมรแดงมีความประสงค์จะให้ทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะทางสังคม ต้องลงสู่การผลิตอย่างเร่งด่วน -- สภาพการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในต่างจังหวัดกับเมืองใหญ่ทั่วประเทศ -- ระบอบใหม่บังคับเกณฑ์ให้ผู้คนออกจากเมือง ลงสู่ท้องนาท้องไร้อย่างเป็นระบบ ปล่อยให้ทั้งเมืองว่างเปล่า สังหารผู้ที่ฝ่าฝืนหรือพยายามหลบหนีอย่างไร้ปราณี

การเกณฑ์คนไปทำงานหนัก มีขึ้นพร้อมๆ กับการกวาดล้างศัตรูทางการเมือง ที่มีทั้งภายในพรรคคคอมมิวนิสต์ด้วยกัน อันเนื่องจากประกอบด้วยกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐบาลเก่า กับพวก "เซ-ไอ-อา" (ซีไอเอ) ที่เขมรแดงหวาดระแวงมากที่สุด โดยเชื่อว่ามีแฝงตัวอยู่ทั่วไป จ้องบ่อนทำลายระบอบใหม่

ตัวเลขที่ศึกษาโดยนักวิชาการชาวอเมริกันและชาวออสเตรเลีย ได้พบว่ามีชาวเขมรราว 2 ล้านคนเสียชีวิตในช่วง 3 ปีเศษที่พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาครองอำนาจ ในนั้นรวมทั้งกลุ่มที่เป็นเหยื่อการกวาดล้างทางการเมือง นักศึกษาปัญญาชนกับสมาชิกในครอบครัวรวมจำนวนนับหมื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้จากประวัติของผู้ที่ถูกจองจำและถูกประหารในเรื่อนจำตูลสะแลง ในกรุงพนมเปญ นอกจากนั้นยังพบกระโหลกศรีษะอีกเป็นจำนวนมาก ที่เก็บไว้ในอนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจืองแอก ในสภาพยังมีผ้าคาดบริเวณใบหน้า -- แสดงให้เห็นว่าถูกปิดตาก่อนถูกยิงสังหาร

แต่เหยื่อของเขมรแดงจำนวนมากที่สุด เป็นประชาชนทั่วไปที่เสียชีวิตจากทำงานหนัก อดอยากและล้มป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมาลาเรีย

การอพยพหลบหนีครั้งใหญ่ระลอกที่สอง เกิดขึ้นเมื่อกองทัพเวียดนามกำลังพลนับแสน ข้ามพรมแดนเข้าขับไล่รัฐบาลเขมรแดง และยึดอำนาจในกรุงพนมเปญวันที่ 20 ม.ค.2552 เขมรแดงต้องถอยร่น ออกทำสงครามกองโจรต่อต้านเวียดนาม กับระบอบใหม่ของเขมรแดงอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็คือกลุ่มที่นำโดย เฮง สัมริน เจีย ซิม กับ ฮุนเซน ในปัจจุบันนี้

ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของเหตุการณ์บ้านแตกสาแหรกขาดในกัมพูชา ระหว่างปี 2518-2522 -- คุณยายเทือง อูน กับลูกๆ ก็รวมอยู่ในบรรดาผู้ตกเป็นเหยื่อ และ ประเทศไทยก็เป็นเพียงดินแดนเดียวที่สามารถพึ่งพิงได้
.

ลูกสาวทั้งสองคนในภาพประวัติศาสตร์ พาหลานๆ ไปส่งคุณยายเป็นครั้งสุดท้าย.





โรลังด์ เนวู (Roland Neveu) ผู้สื่อข่าวและช่างภาพอิสระชาวฝรั่งเศส ซึ่งไปพบคุณยายเทือง อูน กับลูกๆ ที่ชายแดนกัมพูชา-ไทยในปลายปี 2522 เขียนบอกเล่าความเป็นมาว่า -- "ตอนไปเจอหญิงคนหนึ่งอุ้มลูกที่เกิดใหม่ๆ นั้น ผมอยู่ในป่ากับพวกกองโจรกัมพูชา ในตอนนั้นพวกเขา (คุณยายกับลูกๆ) คงจะไม่เคยเห็นชาวต่างชาติมาก่อน และ เด็กๆมองดูผมอย่างกลัวๆ"

ตามข้อมูลในเฟซบุ๊กของพระภิกษุ "จูฑะมุนี หุ่ย" ผู้นำข่าวการถึงแก่กรรมออกเผยแพร่เป็นคนแรก -- นางเทือง อูน เกิดวันที่ 1 ก.ค.2475 เป็นชาวพนมเปญ แต่งงานกับนายทอง สม (Thong Sam) มีลูกด้วยกันรวม 6 คน เป็นชาย 4 หญิง 2 คน ลูกชายเสียชีวิตไป 1 คน ตั้งแต่ยังเล็ก

ปลายปีนั้นนางอูนกับสามี พร้อมลูกๆ 5 คนได้หลบหนีไปยังชายแดนไทย เวลาต่อมาลูกชายอีกคนได้เสียชีวิตลง ระหว่างอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพในประเทศไทย ก่อนทุกคนที่เหลืออยู่จะได้อพยพไปอาศัยอยู่ประเทศที่ 3 ซึ่งก็คือฝรั่งเศสสำหรับครอบครัวนี้

สามี กับ นายลุง ซอม นาง (Lung Sam Nang) ลูกชายที่ยังมีชีวิตอยู่คนหนึ่งซึ่งปัจจุบันอายุ 47 ปี กับลูกสาวทั้งสองคน คือ เทือง สุภาพ (Thuong Sopheap) อายุ 39 กับ เทือง สะเรือน (Thuong Saroeun) พี่สาววัย 42 ปี ได้ไปร่วมจัดงานศพคุณแม่ พร้อมหลานๆ กับญาติอีกจำนวนนึ่ง -- ลูกชายอีกหนึ่งคนไม่ปรากฏ

ลูกสาวคนหนึ่งก็คือ หนูน้อยที่อยู่ในอ้อมอกของมารดาในวันนั้น กับอีกคนคือพี่สาวที่ยืนอยู่ข้างๆ ด้วยสีหน้าหวาดกลัว -- ในภาพประวัติศาสตร์ภาพนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น