xs
xsm
sm
md
lg

ทูตสหรัฐฯ ทวิตตำหนิความเห็นซูจีป้องศาลคุกนักข่าว บอกไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - นางอองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่าได้กล่าวเมื่อวันพฤหัสฯ (13) ว่า การจำคุกสองนักข่าวรอยเตอร์ไม่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก และทั้งคู่สามารถอุทธรณ์คำตัดสินจำคุก 7 ปีได้ ความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดเสียงตำหนิอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ

ซูจี ได้อ้างถึงกฎหมายยุคอาณานิยมในการแสดงความเห็นต่อสาธารณะครั้งแรกเกี่ยวกับคดีดังกล่าว นับตั้งแต่ วา โลน และกอ โซ อู นักข่าวชาวพม่าของรอยเตอร์ถูกตัดสินความผิดเมื่อสัปดาห์ก่อน

“พวกเขาไม่ได้ถูกจำคุกเพราะพวกเขาเป็นนักข่าว แต่พวกเขาถูกจำคุกเพราะศาลได้ตัดสินว่าพวกเขาละเมิดกฎหมายความลับราชการ” ซูจี กล่าวในที่ประชุมเศรษฐกิจโลกที่จัดขึ้นในกรุงฮานอย

นิกกี้ ฮาเลย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ อธิบายถึงความเห็นของซูจีว่า “ไม่น่าเชื่อ” ในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการตำหนิผู้นำพม่าอย่างชัดเจนที่สุดโดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ

“ครั้งแรกคือการปฏิเสธเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของทหารพม่าที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา และตอนนี้ สนับสนุนความถูกต้องของการจำคุกสองนักข่าวรอยเตอร์ที่รายงานการกวาดล้างชาติพันธุ์ ไม่น่าเชื่อเลย” ฮาเลย์ ระบุบนทวิตเตอร์

โฆษกหญิงประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า วอชิงตันไม่เห็นด้วยกับความเห็นของซูจี และกล่าวเสริมว่า นักข่าวควรได้รับการปล่อยตัวทันที

“คำตัดสินดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อในพม่า” โฆษกหญิง กล่าว

“ข้อเท็จจริงที่ว่านักข่าวเหล่านั้นถูกตัดสินโทษแม้คำให้การของตำรวจระบุว่าพวกเขาได้รับคำสั่งให้จับกุมนักข่าว ซึ่งในมุมมองของเรา ทำให้รู้สึกวิตกกังวลอย่างยิ่งถึงความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม และการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมตามที่พวกเขาควรจะมีในประเทศ เรายังคงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดำเนินการทันทีเพื่อแก้ไขความอยุติธรรม” เฮเธอร์ นอยเอิร์ต กล่าว

วา โลน และ กอ โซ อู ถูกตัดสินความผิดจากข้อหาความลับราชการในวันที่ 3 ก.ย. คดีสำคัญที่ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความคืบหน้าสู่ประชาธิปไตยของพม่า

สองนักข่าวกำลังสอบสวนเหตุสังหารชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา 10 คน โดยกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าในช่วงเวลาที่ทั้งคู่ถูกจับ ที่ในเวลาต่อมา ทหารยอมรับเหตุสังหารดังกล่าว และระบุว่า ได้ลงโทษทหารจำนวนหนึ่ง

สหประชาชาติ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และกลุ่มเสรีภาพสื่อ รวมทั้งรัฐบาลหลายประเทศได้วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินโทษดังกล่าว ขณะที่ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เรียกร้องการปล่อยตัว.


กำลังโหลดความคิดเห็น