MGR ออนไลน์ -- ถึงแม้ว่าจะมีการถ่ายภาพจากอวกาศแสดงให้เห็นนัยน์ตาของพายุใหญ่มาหลายต่อหลายลูกก็ตาม แต่สำหรับครั้งนี้ต้องถือเป็นกรณีพิเศษในรอบ 5 หรือ 10 ปีก็ว่าได้ -- ดาวเทียมดวงหนึ่งขององค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐ หรือ นาซ่า สามารถถ่ายภาพนัยน์ตาลึกโบ๋ของซูเปอร์ไต้ฝุ่นมังคุดไว้ได้ จากมุมตรงดิ่ง 90 องศา และ นำบางส่วนออกเผยแพร่ในช่วงข้ามวันมานี้ -- ต้องนับว่าเป็นความฟลุกอย่างยิ่ง
นั่นคือเหตุการณ์เมื่อเวลา 03.54 น.พุธที่ 12 ก.ย. ตามเวลาในท้องถิ่น (09.00 น.เวลาในประเทศไทย) เมื่อดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) เคลื่อนผ่านพายุใหญ่ลูกนี้ ขณะอยู่ห่างจากเมืองวีรัก (Verak) จ.คาตันดัวนีส (Catanduanes) ซึ่งเป็นจังหวัดเกาะนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของเกาะลูซอน -- ราว 1,005 กิโลเมตร ณ ตำแหน่งใกล้จุดตัดระหว่างเส้นรุ้ง 14.3 องศาเหนือ กับเส้นแวง 133.5 องศาตะวันออก
นาซ่ากล่าวว่า ณ เวลานั้นไต้ฝุ่นกำลังหมุนคว้าง ด้วยความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางเกือบ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นัยน์ตาของพายุมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 ไมล์ทะเล (56 กม.) -- เท่าๆ กับระยะทางที่รถตู้โดยสารแล่นจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ไปยัง อ.เมืองนครปฐมนั่นเอง
ภาพสำคัญในวินาทีอันสำคัญนั้น ถ่ายไว้ด้วยเครื่องมือถ่ายภาพ "เรดิโอมีเตอร์อินฟราเรดที่มองเห็นได้" หรือ VIIRS ขณะอยู่เหนือพายุใหญ่ลูกนี้ในตำแหน่งตั้งฉาก ทำให้สามารถจับภาพเป็นมุมตรงได้ จากความสูงราว 800 กิโลเมตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกซีกตะวันตก -- มองทะลุอุโมงค์นัยน์ตาแห่งพายุ (Eye of Storm) ลงไปจนมองเห็นสีครามของผืนน้ำที่อยู่เบื้องล่าง
.
![](http://weatherstationdata.physics.ox.ac.uk/output.gif)
.
อย่างไรก็ตามภาพที่นาซ่าเผยแพร่ชุดแรกนี้ ยังไม่มีภาพที่ถ่ายทะลุตลอดย่านใจกลางของไต้ฝุ่นมังคุดรสวมอยู่ด้วย และ ไม่มีคำอธิบายใดๆ อีกเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่านักวิทยาศาสตร์ของนาซ่า ต้องการศึกษาเพิ่มเติมก่อนจะเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง
ดาวเทียม Suomi ต่างไปจากดาวเทียมสำรวจทางธรณีวิทยา หรือ ดาวเทียมตรวจสภาพอากาศทั่วไป เนื่องจากสร้างขึ้นมาเพื่อภารกิจสำรวจขั้วโลก มีลักษณะการโคจรแบบสัมพัทธ์กับแสงแห่งดวงอาทิตย์ จะเห็นแสงสว่างอยู่ตลอดเวลาสามารถถ่ายภาพในเบื้องล่างได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ต่างจากดาวเทียมสอดแนมทางทหาร -- ซูโอมิโคจรตัดผ่านจุดต่างๆ ในเวลาเดียวกันทุกจุด ในรอบปี อย่างไม่ผิดเพี้ยน การโคจรไปอยู่เหนือไต้ฝุ่นมังคุดตอนเช้าตรู่วันพุธ จึงเป็นเรื่องบังเอิญในรอบ 365 วันของดาวเทียมดวงนี้ และ เป็นเหตุการณ์ในรอบ 7 ปีนับตั้งแต่ดาวเทียมดวงนี้ ขึ้นสู่วงโคจรในเดือน ต.ค.2554
อย่างไรก็ตามในวันถัดมา -- พฤหัสบดี 13 ก.ย. คือเมื่อวานนี้ ดาวเทียมอีกหลายดวง ของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาฮิมาวาริ (Himawari-8) ของญี่ปุ่น ได้ถ่ายภาพนัยน์ตาของไต้ฝุ่นมังคุดเอาไว้อีกหลายชุด แต่ไม่มีชุดใดที่สามารถถ่ายแบบเจาะทำมุมตรงดิ่งได้ แบบเดียวกับดาวเทียม Suomi
ย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว -- คืนวันที่ 7 พ.ย.2556 ดาวเทียมอะควา (Aqua) ของนาซ่า ได้ใช้อุปกรณ์ MODIS ถ่ายรูปเจาะทะลุนัยน์ตาไต้ฝุ่นไฮ่แอ้น (Haiyan) ซูเปอร์ไต้ฝุ่นมหึมาอีกลูกหนึ่ง ขณะเคลื่อนเข้าใกล้ฟิลิปปินส์ ทำให้ได้ภาพสวยงามออกมาด้วยความบังเอิญ เนื่องจากเป็นจังหวะที่ดาวเทียมดวงนี้โคจรผ่านอยู่เหนือพายุใหญ่พอดิบพอดี -- ช่วงจังหวะเวลาผสมผสานอย่างลงตัวกับเทคโนโลยีเหนือชั้น ถ้าหาก 2 สิ่งนี้ไม่บรรจบพบกันในนาทีที่แน่นอน ก็จะไม่มีโอกาสแบบนี้
.
ภาพของดาวเทียมอะควาแสดงรายละเอียดให้เห็นพายุฝนฟ้าคะนองรอบๆ “นัยน์ตา” (Eye of Storm) หรือช่วงวงกลมที่เป็นช่องว่าง มีเส้นผ่าศูนย์กลางหลายสิบกิโลเมตร ตรงแก่นกลางของซูเปอร์ไต้ฝุ่นลูกนี้ -- กล้อง MODIS ยังส่องทะลุดวงตาของพายุทำให้มองเห็นท้องทะเลสีครามที่อยู่เบื้องล่าง ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง ไม่ต่างกับกรณีไต้ฝุ่นมังคุดเมื่อสองวันที่แล้ว
ชาวโลกได้ประโยชน์อะไรจากการถ่ายภาพเจาะทะลุนัยน์ตาแห่งพายุ?
การถ่ายภาพเจาะทะลุทะลวงผ่าน "อุโมงค์แนวดิ่ง" แกนกลางของพายุหมุนลูกใหญ่ ที่เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างไกลนั้น ทำให้สามารถเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์ได้มากมาย นักวิทยาศาสตร์คาดหวังกันว่า สักวันหนึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยชีวิตมนุษย์ ในเขตที่พายุรุนแรงได้ หรือ ช่วยลดความเสียหายจากการทำลายล้างลงได้
เรื่องนี้แทบไม่ต่างอะไรกับกรณีที่นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐ ได้พยายามมาหลายสิบปี เพื่อจะเข้าไปอยู่ในใจกลางของทอร์นาโด ที่เกิดขึ้นปีละนับสิบๆ ลูกในหลายมลรัฐย่านตะวันตกกลางของประเทศ สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วง ทั้งนี้ก็เพื่อจะศึกษาธรรมชาติแห่งการเกิด และ หาทางลดทอนอำนาจการทำลายล้างของมัน.