รอยเตอร์ - สหประชาชาติกำลังรอการเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 700,000 คน ถูกขับไล่ในการปราบปรามของทหาร หลายเดือนหลังเห็นชอบกับรัฐบาลที่จะช่วยเหลือการเดินทางกลับประเทศของผู้ลี้ภัย ตามการระบุของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ วานนี้ (21)
หน่วยงานเพื่อการพัฒนาและผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (UNDP และ UNHCR) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลของนางอองซานซูจี เมื่อเดือน มิ.ย. ที่จะอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีไปบังกลาเทศเมื่อปีก่อนเดินทางกลับบ้าน
แต่การขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติเดินทางเยือนพื้นที่ขัดแย้งยังคงประสบกับความล่าช้า และเจ้าหน้าที่พม่าเสนอการเข้าถึงพื้นที่อย่างจำกัด คนุต ออสต์บี้ ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำพม่า กล่าว
ออสต์บี้ กล่าวว่า สหประชาชาติปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอจากรัฐบาลในการทำงานที่จำกัดจำนวนหมู่บ้าน และจะไม่ส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่จนกว่าจะได้เจรจาข้อตกลงที่ดีกว่านี้
“พวกเขาพร้อมที่จะเดินทางหากเราได้การเข้าถึงที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์” ออสต์บี้ กล่าว
ความเห็นของออสต์บี้ มีขึ้น แม้ซูจีจะประกาศเมื่อวันอังคารว่า รัฐบาลของเธอได้อนุญาตให้สหประชาชาติเข้าทำงานในหมู่บ้าน 23 แห่งทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประเมินนำร่อง
สหประชาชาติต้องการที่จะดำเนินการโครงการผลกระทบอย่างรวดเร็วเพื่อประโยชน์ต่อประชากรที่ยังอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็ก ออสต์บี้ ระบุว่า เขาไม่ทราบว่า 23 หมู่บ้านที่กระจายทั่วเมืองหม่องดอ และเมืองบุติด่อง ถูกเลือกไว้อย่างไร สหประชาชาติต้องการทำงานหมู่บ้านต่อหมู่บ้านเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในหมู่บ้าน
ซอ เต โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า สหประชาชาติสามารถทำงานภายในพื้นที่ที่คัดเลือกไว้ก่อน และจากนั้นจึงขยายปฏิบัติการออกไป
“เท่าที่ผมเข้าใจ UNDP จะดำเนินการโครงการนำร่องภายในหมู่บ้านที่ได้รับอนุญาต และขยายต่อออกไปในภายหลัง หาก UNDP ไม่คิดว่าเพียงพอ พวกเขาจะต้องหารือกับรัฐบาล” ซอ เต กล่าว.