MGR ออนไลน์ -- เครื่องบินรบ JAS39 กริพเพน (Gripen) กองทัพอากาศไทยจำนวน 6 ลำ บินลัดฟ้าข้ามน้ำข้ามทะเลไปจนถึงทวีปใหญ่ทางตอนใต้ ร่วมฝึกซ้อมพิตช์แบล็ค (PitchBlack 2018) ในดินแดนทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลียตลอด 2 สัปดาห์มานี้ และ เนื่องจากไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในย่านเอเชีย ที่มีเครื่องบินรบตระกูลดังของสวีเดน กริพเพนจึงได้รับความสนใจจากบรรดาผู้สังเกตการณ์และเป็นเป็นข่าวในเว็บไซต์กลาโหมไปทั่วโลกตลอดหลายวันมานี้
กริพเพนดูเล็กลงไปถนัด เมื่อเทียบกับ Su-30MKI ของกองทัพอากาศอินเดีย หรือ F-15SG ของทัพฟ้าสิงคโปร์ หรือ กระทั่ง F/A-18 ของประเทศเจ้าภาพและกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐ ที่ไปร่วมงานฝึกซ้อมทางทหารด้วยกัน แต่ทุกฝ่ายทราบดีว่า JAS39 นั้นเล็กพริกขี้หนู มีพิษสงรอบตัว มีระบบเรดาร์-ระบบติดต่อสื่อสาร และ การเชื่อมต่อ "ดาต้าลิงค์" ที่ทันยุคสมัย ทำงานกันเป็นหมู่ รุมสกรัมเหยื่อเคราะห์ราย แบบเดียวกับเวโลชิ "แร็พเตอร์" (Raptor) F-22 ของสหรัฐ
กริพเพนของไทยได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อกลุ่มซาบ (Saab) แห่งสวีเดนซึ่งเป็นผู้ผลิต ประกาศจะทำการอัปเกรดระบบบัญชาการและควบคุม (Command and Control) แบบ 9AIR C4I ของกองทัพอากาศไทยในเร็วๆนี้ หลังใช้งานมา 8 ปี ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งจะทำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น -- ไม่ว่าจะเปิดไปเว็บไหนแหล่งใดในช่วงนี้ ก็จะได้เห็นบรรดาแฟนๆ ของกริพเพนพากันยกย่องแซ่ซ้องบริการหลังการขายแบบ "ไม่มีกั๊ก" ของค่ายสวีเดน
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่กริพเพนไทยไปร่วมการฝึกพิตช์แบล็ค แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่กลับไปอีกครั้ง และ ต้องเข้าร่วมกับ Su-30MKI จำนวน 5 ลำของทัพฟ้าอินเดีย ในขณะที่อินโดนีเซียปีนี้หลีกทางให้ส่ง F-16 ไปแทน และ เว็บข่าวกลาโหมของมาเลเซียแห่งหนึ่งบอกว่า เสือเหลืองสู้ค่าน้ำมันไม่ไหว ปีนี้ตัดสินใจจอด Su-30MKM ไว้ที่บ้าน ส่ง F/A18 ฮอร์เน็ต (Hornet) ที่ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าไปร่วมฝึก
.
Our first week of flying on #ExPitchBlack18 ends tomorrow...Check out the video below to learn what it was all about! 👇 @airforcenextgen @Armee_de_lair @IAF_MCC @GripenNews @TheRSAF @PACAF @USMC #AusAirForce #AvGeek pic.twitter.com/wBOSIiQlrz
— RAAF - Aus_AirForce (@Aus_AirForce) August 2, 2018
.
เพราะฉะนั้นก็จึงเป็นปีแรก ที่กริพเพนของไทยไปแย่งซีนสารพัด มีทั้ง F/A18 ฮอร์เน็ตออสเตรเลีย/สหรัฐ-มาเลเซีย ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ F-15 ทั้งของทัพฟ้าสิงคโปร์กับของประเทศเจ้าภาพ F-16 จากอินโดนีเซีย และ Su-30MKI จากอินเดียที่ไปร่วมงานเป็นครั้งแรก รวมทั้งราฟาล (Dassault Rafale) กองทัพอากาศฝรั่งเศส ซึ่งลัดฟ้าไปเป็นหนแรกเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นก็ยังมี MV-22 ออสปรีย์ (Osprey) นาวิกโยธินสหรัฐอีกหลายลำ ขึ้นบินแย่งความสนใจเป็นระยะๆ
ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กริพเพนทั้ง 6 ลำไปจากกองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี ขณะที่เว็บไซต์ Aviation Spotters Online รายงานว่า การรอนแรมลัดฟ้าครั้งนี้ JAS39 ได้รับการสนับสนุนจากอากาศยานขนส่งอีก 2 ลำ ของกองทัพอากาศไทย ซึ่งได้แก่ A340-500 กับ C-130H จากฝูงบิน 601 กองบิน 6 ฐานทัพอากาศดอนเมือง
ไม่มีรายละเอียดว่าฝูงบินของไทยรอนแรม ไปแวะจอดในดินแดนประเทศเพื่อนมิตรที่จุดไหนบ้าง ก่อนจะไปถึงปลายทางสนามบินนานาชาติเมืองดาร์วิน ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ที่ใช้เป็นศูนย์กลางของการฝึก แต่ระหว่างทางที่สิงคโปร์ในสัปดาห์ปลายเดือนที่แล้ว มีผู้ดักถ่ายภาพสวยๆของกริพเพนไทยไว้ได้ครบทั้ง 6 ลำ และ ภาพนี้แพร่ไปทั่วโลกในช่วงข้ามวันเท่านั้น
การฝึกพิตช์แบล็ค 2018 เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.2561 มีการบินโชว์แบบฟลายพาสท์ (Fly Past) หรือ "บินผ่าน" ในวันที่ 2 ส.ค.ท่ามกลางความสนใจของผู้ไปเที่ยวชมนับหมื่นๆ บนหาดทรายของเมืองดาร์วิน และไม่กี่วันต่อมาก็มีการแสดงการขึ้นบินหมู่ (Mass Take-off) ของเครื่องบินกว่า 60 ลำ -- กริพเพนไทยรวมอยู่ในนั้นด้วย -- เป็นที่ประทับใจของผู้ชมนับหมื่นๆ ตลอดเวลา 90 นาที -- เครื่องบินรบหลายลำได้ฝึกซ้อมการพันตูกลางอากาศหรือ "ด็อกไฟ้ต์" อีกหลายลำฝึกการเติมน้ำมันกลางอากาศ จาก "แอร์แท้งเกอร์" ของประเทศเจ้าภาพ ทั้งนี้่เป็นรายงานของสื่ออินเดีย
.
ก่อนหน้านั้น ในวัน "โอเพ่นเฮ้าส์" มีชาวออสเตรีเลียกับแฟนๆ ทั่วไป รวมทั้งประชาคมชาวไทยในออสเตรเลียรวมเป็นจำนวนหลายร้อยคน แวะไปเยี่ยมชมถึงที่จอดแสดงของกริพเพน และ สนทนากับนักบินชาวไทยอีกด้วย
การฝึกซ้อมปี้นี้จะดำเนินปีจนถึง 17 ส.ค. สัปดาห์นี้มีตารางการขึ้นบินแสดงอีกหลายครั้ง ซึ่งเข้าใจว่ากริพเพนไทยจะได้ออกร่วมรายการทิ้งทวนด้วย แฟนๆ สามารถติดตามเรื่องราวความเคลื่อนไหว รวมทั้งชมภาพนิ่งกับวิดีโอกิจกรรมต่างๆ ผ่านสื่่อประชาสังคมได้ในช่วงนี้
การฝึกซ้อมพิตช์แบล็คจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ครั้งก่อนเมื่อปี 2559 ไทยได้ส่ง F-16 Block 15 AM/BM จากฐานทัพอากาศตาคลี นครสวรรค์ ไปออสเตรเลียแทน เป็น "ไฟ้ติ้งฟัลคอน" ชุดที่เพิ่งจะผ่านการอัปเกรดครึ่งอายุใช้งานไปหมาดๆ ทั้งหมดไปปรากฏตัวที่สนามบินดาร์วินอย่างหล่อ เพราะติด "กระเปาะ" ส่องเป้า หรือ Targeting Pod สุดทันสมัยไปโชว์ด้วย
กองทัพอากาศไทยมี F-16 บล๊อค 15 ทั้ง A และ B รวมกันกว่า 50 ลำ (หัก 2 ลำที่ตกไปแล้ว) รวมทั้ง 7 ลำที่ได้รับจากสิงคโปร์เมื่อหลายปีก่อน เป็นการตอบแทนการขอใช้ฐานทัพในประเทศไทยเป็นที่จอดและฝึกซ้อม -- ทั้งหมดจัดหาในช่วงปี 2525-2527 ใช้งานมานานกว่า 30 ปีทั้งสิ้น ปัจจุบันยังมีอีกกว่า 10 ลำเข้าคิวทยอยอัปเกรดตามกำลังงบประมาณ
ช้อมูลในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมระบุว่า การอัปเกรดจะทำให้ F-16 Block 15 ทั้ง A และ B -- ที่นั่งเดี่ยว/ที่นั่งคู่ -- มีความทันสมัยใกล้เคียงกับ F-16 Block 50/52 มาตรฐานกองทัพอากาศสหรัฐ ในปัจจุบัน มีความสามารถใช้อาวุธปล่อยนำวิถีได้หลากหลายยิ่งขึ้น และ ยืดอายุใช้งานไปได้อีก 20 ปี ฯลฯ
.
พิตช์แบล็คเป็นการฝึกซ้อมทางอากาศใหญ่ที่สุด มีความสลับซับซ้อนมากที่สุดที่ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพ ทุกครั้งจะมีพันธมิตรกว่า 10 ชาติ ตั้งแต่ย่านเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรปและสหรัฐ ไปร่วมวงไม่ทางในทางใดก็ทางหนึ่ง -- PitchBlack 2018 มีสมาชิกเข้าร่วมฝึก 15 ประเทศ รวมอากาศยานชนิดต่างๆจำนวน 140 ลำ จำนวนบุคคลากรรวมกันราว 4,000 คน ทั้งนี้เป็นตัวเลขของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย
การฝึกซ้อมทางอากาศที่ใช้เวลา 3 สัปดาห์ มีอากาศยานต่างค่ายกันเข้าร่วมอย่างมากมายนั้น ได้ทำให้เกิดการอำนวยการร่วม รวมทั้งจะต้อง "ทูนอิน" เครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีที่แตกต่างกันให้เข้ากันได้ ปีนี้เป็นปีแรกที่ต้องใช้ระบบร่วมกันหลากหลายที่สุด ทั้งในซีกสหรัฐ ซีกยุโรปจากเยอรมนี กับฝรั่งเศส -- กับซีกของรัสเซียที่จะต้องใช้กับเครื่องบินครอบครัว Su-27/30 จึงเป็นประสบการณ์ที่สำคัญทีเดียว
ปีนี้อินเดียประเดิมการเข้าร่วมฝึกซ้อม โดยนำ Su-30 กับ C-130J ไปยังเมืองดาร์วิน สื่อในประเทศนั้นดูตื่นเต้นฮือฮากันยกใหญ่ หนังสือพิมพ์กับเว็บไซต์ข่าวหลายแห่ง ส่งทีมไปรายงานจากเมืองดาร์วินแบบเกาะติด
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกได้เห็นการเข้ากันได้ระหว่าง เครื่องบินรบ "เลือดต่างสี" -- ใน PitchBlack 2014 นั้น Su-27 กับ Su-30 กองทัพอากาศอินโดนีเซีย ได้บินร่วมฝูงกับ F/A-18 ฮอร์เน็ตของประเทศเจ้าภาพให้เป็นที่ประจักษ์มาก่อน ยกเว้นเพียงฝูง "ปิศาจแดง" (Red Devils) "ซูเปอร์ฮอร์เน็ต" ของนาวิกโยธินสหรัฐที่ไปจากฐานทัพในรัฐแคลิฟอร์เนียอันเป็นรังใหญ่ ที่ไม่สามารถเข้ากับเครื่องบินตระกูลรัสเซียได้
สำหรับกริพเพนของไทย หลายปีมานี้ไม่เคยหยุดนิ่ง การออกโชว์ในวันเด็กเป็นเพียงกิจกรรมเสริมเท่านั้น แต่เจ้าตัวเล็กได้ไปร่วมการฝึกซ้อม หรือ เข้าร่วมการแสดงในโอกาสสำคัญต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์สำหรับเหล่านักบิน ที่ฝึกฝนกันมาอย่างยากเย็น -- กริพเพนได้แสดงบินผลาดแผลงและบินต่ำ "โลว์ฟลาย" อย่างน่าประทับใจ ในงาน LIMA17 ที่เกาะลังกาวี มาเลเซีย -- ปลายปีที่แล้วได้เป็นส่วนหนึ่งในงาน "สวนสนาม" ทางเรือของอาเซียนกับมิตรประเทศที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ได้บินคู่กับเรือรบของราชนาวี ประกาศศักดาการเป็น "ผู้พิทักษ์แห่งอ่าวไทย" ให้สื่่อเพื่อนบ้านฮือฮากันมาแล้ว
กริพเพนของไทยไปปรากฎตัวต่อสายตาชาวโลกครั้งก่อนหน้านี้ ในเดือน ก.พ.2556 โดยขึ้นบินแสดงในงานสิงคโปร์แอร์โชว์ ให้เป็นที่ประทับใจ -- นี่คืองานแสดงอากาศยานนานาชาติประจำปีใหญ่ที่สุด ที่จัดขึ้นในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
A close coupled delta-canard formation #mindibeach #Darwin #Australia Video: Jacquelyn Eva IG Justjax #expitchblack18 #Gripen #Rafale pic.twitter.com/KMzEaQYDgu
— Gripen News (@GripenNews) August 2, 2018
.
นอกจากนั้นยังคงฝึกซ้อมประจำปีภายในประเทศ ร่วมกับมิตรประเทศต่รางๆ เป็นระยะๆ
การไปร่วมฝึกซ้อมพิตช์แบล็ค 2018 ถึง 6 ลำในช่วงนี้ จึงเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง ไกลออกไปถึงฟากยุโรป-อเมริกาใต้ โดยผ่านเว็บไซต์กริพเพนนิวส์ กับสื่อข่าวกลาโหมออนไลน์ต่างๆ ขณะที่เพื่อนพ้องน้องพี่กริพเพนของชาติอื่นๆ รวมทั้งกลุ่มที่สังกัดองค์การนาโต้กำลังฝึกซ้อมกันอย่างหนักในซีกโลกฟากโน้น -- และ ข่าวการอัปเกรดระบบอำนวยการ/สั่งการของกองทัพอากาศไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
เป็นที่ทราบกันดีว่า 9AIR C4I เป็นระบบแก่นกลางการบัญชาการรบที่มีความสำคัญยิ่งยวด เชื่่อกันว่าการอัปเกรดของซาบจะทำให้ศูนย์อำนวยการรบของทัพฟ้าไทย มีศักยภาพในการป้องกันน่านฟ้าสูงยิ่งขึ้น ตรวจจับเป้าหมายได้ไกลยิ่งขึ้น แม่นยำยิ่งขึ้น และมากกว่านี้อีก .. นี่คือบันไดขั้นแรกที่จะสั่งการไปยังกริพเพนทั้งหมด ก่อนจะส่งทอดไปยังหน่วยรบอื่น ชนิดที่เรียกว่า "รู้ก่อนได้เปรียบ" และ "รู้ก่อน-ยิงก่อน" ในสถานการณ์สู้รบ
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า กองทัพไทยได้บูรณาการระบบป้องกันทางอากาศ เข้ากับระบบป้องกันของกองทัพบกและราชนาวี กริพเพนสามารถทำงานร่วมกับเรือหลวงจักรีนฤเบศร์ เรือหลวงนเรศวรและเรือรบลำอื่นๆได้ เช่นเดียวกันกับหน่วยป้องกันทางอากาศภาคพื้นดินตามจุดต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ศัตรูต้องเจอศึกหลายด้านพร้อมกัน ยากที่จะหลุดรอดลึกเข้าสู่ดินแดนย่านใจกลางของประเทศ
นี่คือภาพรวมของการป้องกัน ที่ทำให้ผู้คนทั่วไปนอนหลับสบายได้.
.
Accompanying Photos Courtesy Aviation Spotters Online Unless Stated Otherwise. Click Here to See More.. |