เอเอฟพี - พรรครัฐบาลกัมพูชาเร่งทุ่มทรัพยากรต่างๆ ไปที่ระบบการศึกษาที่อ่อนแอของประเทศก่อนการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์นี้ (29) ในความพยายามของพรรคที่จะชักจูงโน้มน้าวผู้มีสิทธิออกเสียงคนหนุ่มสาว และลดความขุ่นเคืองใจเกี่ยวกับอาชีพการงานที่มีค่าแรงต่ำ
ระบบโรงเรียนของกัมพูชาถูกเขมรแดงทำลายอย่างสิ้นเชิงในช่วงทศวรรษ 1970 รวมทั้งการเข่นฆ่าครู เนื่องจากถูกมองว่าเป็นศัตรูของระบอบคอมมิวนิสต์ และแม้ว่ากัมพูชาพยายามที่จะฟื้นฟูระบบขึ้นใหม่ แต่มาตรฐานยังคงห่างไกลจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในเวลานี้ นายกรัฐมนตรีฮุนเซนกำลังหาเสียงด้วยการให้คำมั่นสัญญาเรื่องโรงเรียนสำหรับทุกคน และการเพิ่มงบประมาณในภาคการศึกษาเป็น 850 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ที่มีสัดส่วนหนึ่งใน 4 ของงบประมาณรัฐทั้งหมด
“ผมต้องการให้ทุกอำเภอมีโรงเรียนมัธยมปลาย ทุกตำบลมีโรงเรียนมัธยมต้น ทุกหมู่บ้านมีโรงเรียนประถม” ฮุนเซนกล่าวปราศรัยหาเสียงเมื่อไม่นานนี้
ผู้นำเขมรพยายามที่ประกันการขยายเวลาการครอบครองอำนาจที่กุมไว้มานาน 33 ปีของตนเองออกไปในการเลือกตั้งวันอาทิตย์นี้ หลังปราบปรามผู้เห็นต่างไปมากมายก่อนหน้า ที่รวมทั้งการยุบพรรคฝ่ายค้านที่โดดเด่นอยู่เพียงพรรคเดียวโดยศาลสูงเมื่อเดือนพ.ย. ขณะเดียวกันก็ปราบปรามกลุ่มประชาสังคมและสื่อต่างๆ ที่ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์
และในประเทศที่ 1 ใน 3 ของประชากร 15 ล้านคนมีอายุต่ำกว่า 30 ปี ฮุนเซนก็มุ่งเป้าที่จะคว้าเสียงสนับสนุนเหล่านี้ไว้
ฮุนเซนมักกล่าวในพิธีจบการศึกษาให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับอาชีพการงานและโอกาสสำหรับคนหนุ่มสาวหลายพันคนที่วิตกกังวลถึงอนาคตของตนเองในประเทศที่พึ่งพาแรงงานทักษะต่ำ ซึ่งในแต่ละปีมีชาวเขมรราว 300,000 คนตบเท้าเข้าสู่ตลาดแรงงาน และบ่อยครั้งที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ
แต่อุตสาหกรรมหลักเช่น ภาคสิ่งทอ ที่มีการจ้างงานเกือบ 750,000 คนนั้น มีความเสี่ยงอย่างรุนแรงที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบค่าจ้าง ในขณะเดียวกัน การศึกษามักไม่ตอบโจทย์งานที่มีค่าจ้างดีและรับประกันอนาคต
“มีนักศึกษาจบใหม่จำนวนมาก...แต่งานมีน้อย” โส วัน วาสนา บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ กล่าว
ช่องว่างระหว่างความต้องการและความเป็นจริงส่งผลให้นักศึกษาหันไปสนับสนุนฝ่ายค้านซึ่งเวลานี้ถูกยุบพรรคไปแล้วในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด
ก่อนหน้านี้ การสร้างโรงเรียนของรัฐบาล หลายแห่งถูกตั้งชื่อตามฮุนเซนโดยบรรดาเจ้าหน้าที่ที่ต้องการจะเอาอกเอาใจผู้นำ แต่เมื่อการสนับสนุนพรรครัฐบาลลดลงในการเลือกตั้งปี 2556 ส่งผลให้พรรครัฐบาลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคตของระบบโรงเรียน
ฮุนเซนได้สนับสนุนการก่อตั้ง “โรงเรียนรุ่นใหม่” ทั่วประเทศ สถานศีกษาทันสมัยที่เต็มไปด้วยห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต ชั่วโมงเรียนยาวนานขึ้นและมีหลักสูตรวิชาหลากหลาย
“พวกเขาจะมีงานทำหลังเรียนจบเพราะที่นี่เราสามารถฝึกฝนพวกเขาได้ทุกอย่าง” ครูวิชาภาษาเขมรกล่าวยืนยัน ที่โรงเรียนมัธยมสีสุวัตถิ์ในกรุงพนมเปญ
โรงเรียนรุ่นใหม่ได้รับความนิยมมากขึ้นมีผู้สมัครเข้าเรียนหลายร้อยคนจนทำให้ผู้ดูแลต้องใช้ระบบทดสอบและจับฉลาก
“โรงเรียนมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดี ทำให้นักเรียนมีความสุขในการเรียน” นักเรียนชั้นมัธยมรายหนึ่ง ที่ได้เข้าเรียนจากการจับฉลาก กล่าว
แต่นักวิจารณ์เตือนว่าระบบการรับสมัครเข้าเรียนแบบใหม่มีแนวโน้มที่จะเอื้อประโยชน์ต่อนักเรียนที่มีเส้นสาย แต่รองครูใหญ่โรงเรียนมัธยมสีสุวัตถิ์ ปฏิเสธข้อวิตกเหล่านั้น
“เราจัดสรรที่นั่ง 30% ให้กับเด็กจากครอบครัวยากจนและเราช่วยเหลือนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม” รองครูใหญ่ กล่าว
สม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ กล่าวแย้งถึงการทุ่มงบประมาณรัฐในด้านการศึกษาว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เข้าใจผิด โดยระบุว่าสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่อจีดีพียังเป็นหนึ่งในประเทศที่ที่มีงบประมาณต่ำที่สุดในภูมิภาค
ในขณะที่โรงเรียนรุ่นใหม่แสดงภาพความทันสมัยก้าวหน้า แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นให้ภาพของความเป็นจริงมากกว่า
รอง ชุน สมาชิกของสมาคมครูอิสระกัมพูชาระบุว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ทั่วประเทศนั้นไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงห้องคอมพิวเตอร์ แม้แต่หนังสือก็ยังมีไม่เพียงพอ.