xs
xsm
sm
md
lg

นิรโทษกรรมสากลจี้ดำเนินคดีผู้บัญชาการทหารพม่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของพม่า รวมทั้งผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันประเทศและกองทัพ ควรถูกนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายจากการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอันเนื่องจากการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ตามรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากล

องค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยื่นข้อค้นพบจากรายงานต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และกำหนดห้ามขายและให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธอย่างครอบคลุมกับพม่า และคว่ำบาตรทางการเงินกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน อพยพหลบหนีจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศ นับตั้งแต่ทหารเริ่มดำเนินการปราบปรามในปลายเดือนส.ค. ที่สหประชาชาติระบุว่าการปราบปรามเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

ในรายงานพิเศษของรอยเตอร์อีกฉบับหนึ่งยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทของกองพลทหารราบเบาในการโจมตีโรฮิงญา

องค์การนิรโทษกรรมสากล ที่เริ่มการสืบสวนของตนเองในเดือนก.ย. ระบุในรายงานว่า ปฏิบัติการภายใต้การนำของทหาร ที่ประกอบด้วยการฆาตกรรม การข่มขืน การทรมาน และการทำลาย มุ่งเป้าไปที่การลงโทษประชากรโรฮิงญาในตอนเหนือของรัฐยะไข่ และผลักดันให้คนเหล่านั้นออกไปจากประเทศ

รายงานยังระบุชื่อพล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองพล.อ.อาวุโส โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษ ที่กระทำเหตุทารุณโหดร้าย นอกจากนั้นยังมีชื่อนายทหารอีก 8 นาย และตำรวจพิทักษ์ชายแดนอีก 3 นาย

องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า บุคคลเหล่านี้ควรถูกนำตัวมาดำเนินคดีจากความรับผิดชอบในการบังคับบัญชา ความรับผิดชอบโดยตรง หรือทั้งสองอย่าง

ในพม่า โรฮิงญาถูกเรียกว่า “เบงกาลี” เนื่องจากชาวพม่ามองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากจะมีรกรากอยู่ในพม่ามาหลายรุ่นแล้วก็ตาม แต่พวกเขายังคงถูกปฏิเสธสิทธิในความเป็นพลเมือง

องค์การนิรโทษกรรมสากลยังเรียกร้องให้พม่าระงับข้อจำกัดเกี่ยวกับเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและฟื้นคืนสิทธิความเป็นพลเมืองให้กับชาวโรฮิงญา

ในเดือนก.พ. รอยเตอร์รายงานเหตุสังหารชายโรฮิงญา 10 คน โดยกลุ่มชาวพุทธยะไข่และกองกำลังรักษาความมั่นคงในหมู่บ้านอินดิน และนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน ถูกจับกุมตัวและคุมขังในเดือนธ.ค. ขณะรายงานเรื่องราวดังกล่าว ที่อาจเผชิญกับโทษจำคุกนาน 14 ปี จากข้อกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายความลับราชการ

พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาการกระทำผิดเกือบทั้งหมดและกล่าวว่าทหารดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายอย่างถูกกฎหมาย หลังจากกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาเปิดฉากโจมตีเมื่อเดือนส.ค.




กำลังโหลดความคิดเห็น