เอเอฟพี - อดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา เผชิญต่อข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามหมายเรียกของศาล ที่ถือว่าเป็นบุคคลทางการเมืองรายแรกที่ถูกกล่าวหาจากข้อกฎหมายนี้
กฎหมายที่ผ่านมติรับรองจากรัฐสภาเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความวิตกในหมู่นักสิทธิมนุษยชนที่เตือนว่า อาจกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับนายกรัฐมนตรีฮุนเซนที่ใช้ปราบปรามผู้เห็นต่าง
ผู้นำเขมรกำลังพยายามที่จะยืดเวลาการกุมอำนาจของตนที่ดำเนินมานาน 33 ปี ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้า และใช้ศาลในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของตนเอง
นับตั้งแต่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ผ่านมติการรับรอง มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 3 คน จากการแสดงความเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กที่ถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่นองค์พระประมุข
ในตอนนี้ สม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) กำลังถูกตรวจสอบหลังแสดงความสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของสารถึงประชาชนจากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ที่ทรงเรียกร้องให้ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ในวันนี้ (20) อัยการได้ออกหมายเรียก สม รังสี ให้มาปรากฏตัวที่ศาลในเดือนหน้าเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับกรณีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบนหน้าเพจเฟซบุ๊ก เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. สม รังสี ได้โพสต์ข้อความบนหน้าเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามอย่างกว้างขวาง ว่า สารขององค์พระประมุขเป็นสิ่งปลอมแปลง และไร้ค่า และคาดว่าอาจเกิดขึ้นภายใต้การบีบบังคับ ซึ่งทางพระราชวังปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
หากพบว่า สม รังสี กระทำผิดจริง เขาจะเผชิญต่อโทษจำคุกนาน 5 ปี แต่คาดว่า สม รังสี จะไม่มาปรากฏตัวที่ศาล เนื่องจากเวลานี้ เขาลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศสเพื่อเลี่ยงข้อหา และการลงโทษในหลายคดี ที่เขาระบุว่า เป็นแรงจูงใจทางการเมือง
พรรคฝ่ายค้านของเขาถูกยุบพรรคตามคำสั่งศาลเมื่อปีก่อน ที่เป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามอย่างกว้างขวาง และในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อดีตสมาชิกรัฐสภาพรรคฝ่ายค้านที่ส่วนใหญ่หลบหนีไปอาศัยในต่างประเทศเนื่องจากการปราบปราม ได้เรียกร้องให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงคว่ำบาตรการเลือกตั้งในเดือน ก.ค. เพื่อเป็นการประท้วง
ชาติตะวันตกได้ถอนการสนับสนุนการเลือกตั้งเดือน ก.ค. และสหรัฐฯ กำหนดมาตรการลงโทษกับผู้บัญชาการหน่วยอารักขาฮุนเซนเมื่อสัปดาห์ก่อนด้วยถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทในการละเมิดสิทธิมนุษยชน.