xs
xsm
sm
md
lg

“ซูจี-มินอองหล่าย” ประชุมนัดพิเศษถกประเด็นความมั่นคง-วิกฤติโรฮิงญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ : Facebook/Myanmar President Office.

เอเอฟพี - กองทัพพม่าและผู้นำรัฐบาลพลเรือนได้จัดประชุมความมั่นคงแห่งชาติขึ้นในวันนี้ (8) และหารือถึงการสอบสวนภายในเกี่ยวกับวิกฤติโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ตามการเปิดเผยของสำนักงานประธานาธิบดี

การประชุมเช่นนี้ ถือเป็นเพียงครั้งที่ 3 ตั้งแต่รัฐบาลของนางอองซานซูจีเข้าบริหารประเทศในปี 2559 ภายหลังรัฐบาลทำข้อตกลงที่จะอนุญาตให้สหประชาชาติเดินทางเข้าไปในรัฐยะไข่เพื่อประเมินว่าผู้ลี้ภัยจะสามารถเดินทางกลับประเทศได้เมื่อใด

ชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ได้หลบหนีข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศ หลังทหารดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงกับผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาเมื่อเดือนส.ค. 2560 ที่สหประชาชาติและสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

พม่ายืนยันว่าพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัย แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะให้คนนอกเข้าไปประเมินสถานการณ์ จนกระทั่งข้อตกลงกับสหประชาชาติที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม พม่ายังได้รับแรงกดดันจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่มีกำหนดหารือในวันที่ 20 มิ.ย. ว่าจะดำเนินการสอบสวนการปราบปรามหรือไม่

พม่าที่ปฏิเสธข้อกล่าวหาการกวาดล้างชาติพันธุ์ ได้ปฏิเสธความเคลื่อนไหวดังกล่าวของศาล และกล่าวว่าพม่าไม่ได้เป็นผู้ลงนามหรือเป็นสมาชิกของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ และยังระบุว่าจะตั้งการสอบสวนอย่างเป็นอิสระด้วยตัวเองเพื่อสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นางอองซานซูจีและพล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด อยู่ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการประชุมในกรุงเนปีดอ ทั้งหมด 15 คน ตามที่สำนักงานประธานาธิบดีวิน มี้น โพสในเฟซบุ๊ก

การประชุมครอบคลุมประเด็นความมั่นคงแห่งชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งรวมทั้งวิกฤติในรัฐยะไข่ และการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่าด้วยยะไข่

การประชุมลักษณะนี้ครั้งล่าสุดคือหลังเกิดเหตุผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาโจมตีเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 ที่สังหารตำรวจชายแดนไปประมาณ 12 นาย และนำมาซึ่งการปราบปรามของทหารต่อชาวโรฮิงญา

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การพบหารือระดับสูงระหว่างรัฐบาลพลเรือนและทหารอาจช่วยให้ความแตกต่างขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นจากข้อตกลงการแบ่งอำนาจนั้นบรรเทาเบาบางลง

พม่าและบังกลาเทศลงนามข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศในเดือนพ.ย. แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ลี้ภัยเดินทางกลับ ด้วยผู้ลี้ภัยเรียกร้องการรับประกันความปลอดภัย สิทธิการเป็นพลเมือง และการชดเชยสำหรับหมู่บ้านที่ถูกเผาทำลายและพื้นที่ทำกินที่ถูกยึด

ส่วนทูตพิเศษสหประชาชาติประจำพม่าคนใหม่คาดว่าจะเดินทางเยือนในเร็วๆ นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติโรฮิงญา.
ภาพ : Facebook/Myanmar President Office.
ภาพ : Facebook/Myanmar President Office.


กำลังโหลดความคิดเห็น