รอยเตอร์ - ต่อง ตุน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของพม่าเผยว่า พม่าตั้งใจที่จะรับผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาทั้งหมด 700,000 คน ที่หลบหนีไปบังกลาเทศกลับทั้งหมด หากพวกเขาสมัครใจจะเดินทางกลับ
ต่อง ตุน กล่าวตอบในที่ประชุมด้านความมั่นคงประจำปี “แชงกรี-ลา ไดอะล็อก” ในสิงคโปร์ เมื่อถูกสอบถามว่าสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ที่ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ อาจนำมาซึ่งการใช้หลักการ “ความรับผิดชอบในการปกป้อง (R2P)” ของสหประชาชาติ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนหรือไม่
หลักการ R2P เป็นมติในที่ประชุมสุดยอดโลกสหประชาชาติปี 2548 ที่ชาติต่างๆ เห็นพ้องกันที่ปกป้องประชาชนภายในประเทศของตนให้พ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม การกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และยอมรับความรับผิดชอบในการสนับสนุนและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
“หากคุณสามารถส่งกลับชาวโรฮิงญา 700,000 คน ได้ด้วยความสมัครใจ เรายินดีที่จะรับพวกเขากลับ แล้วสิ่งนี้สามารถเรียกว่ากวาดล้างชาติพันธุ์ได้หรือ” ต่อง ตุน กล่าว
“ไม่มีสงครามเกิดขึ้น ดังนั้นมันไม่ใช่อาชญากรรมสงคราม หากระบุว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เราต้องการหลักฐานชัดเจน ข้อหารุนแรงเหล่านี้ควรได้รับการพิสูจน์ตรวจสอบ” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติพม่า กล่าว
นับตั้งแต่เดือนส.ค. 2560 ชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ได้หลบหนีการปราบปรามของทหาร ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ที่สหประชาชาติและองค์กรช่วยเหลือต่างๆ ระบุว่ามีรายงานเกี่ยวกับการสังหาร ข่มขืน และวางเพลิงเกิดขึ้นมากมาย
สหประชาชาติและหน่วยงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ได้อธิบายว่าการปราบปรามที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ข้อกล่าวหาที่พม่าปฏิเสธ
พม่าและบังกลาเทศเห็นพ้องกันเมื่อเดือนม.ค. ที่จะส่งกลับผู้ลี้ภัยให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และพม่าได้ลงนามข้อตกลงกับสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่จะอนุญาตให้โรฮิงญาซึ่งพักอาศัยอยู่ในบังกลาเทศเดินทางกลับประเทศได้อย่างปลอดภัย และยังกล่าวว่าจะตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในรัฐยะไข่ที่เกิดขึ้นหลังปฏิบัติการของทหาร ที่เป็นการตอบโต้การโจมตีของผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา
ต่อง ตุน กล่าวว่า การรายงานที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่นั้นไม่สมบูรณ์และสร้างความเข้าใจผิด
“พม่าไม่ได้ปฏิเสธว่าสิ่งเกิดขึ้นในรัฐยะไข่เป็นวิกฤติด้านมนุษยธรรม ไม่มีการปฏิเสธว่าชุมชนมุสลิมในรัฐยะไข่ได้รับความเดือดร้อน ชาวพุทธยะไข่ ฮินดู และชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ต่างเดือดร้อนไม่น้อยเช่นกัน” ต่อง ตุน กล่าว
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงยังกล่าวเสริมว่า ทหารก็มีสิทธิที่จะปกป้องประเทศ และหากการสืบสวนแสดงให้เห็นว่าพวกเขากระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ก็จะมีการดำเนินการเกิดขึ้น.