xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.สส.พม่ายืนยันโรฮิงญาจะปลอดภัยหากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่เดินทางกลับพม่าจะปลอดภัยตราบเท่าที่พวกเขาพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านต้นแบบที่ทางการสร้างไว้ให้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่ากล่าว ความเห็นที่ก่อให้เกิดความหวาดวิตกว่าโรฮิงญาจะต้องอาศัยอยู่ในที่พักเหล่านั้นอย่างไม่มีกำหนด

ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 700,000 คน ที่หลบหนีจากพม่าไปบังกลาเทศหลังทหารเปิดฉากปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในเดือนส.ค. การปราบปรามที่สหรัฐฯ และสหประชาชาติเรียกว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

พม่าและบังกลาเทศตกลงที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลับรัฐยะไข่เมื่อปีก่อน แต่โรฮิงญาไม่ต้องการกลับไปพม่าโดยไร้ซึ่งการรับประกันถึงความปลอดภัยและสิทธิพื้นฐาน เช่นเสรีภาพในการเคลื่อนไหว

พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าวกับคณะทูตจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เดินทางเยือนในกรุงเนปีดอเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ว่า “โรฮิงญาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย หากพวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อพวกเขา” ซึ่งคำกล่าวนี้ถูกนำขึ้นโพสลงบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของผู้บัญชาการทหารสูงสุดในวันเสาร์ (5)

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยังกล่าวถึงสมาชิกของชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติด้วยคำว่า “เบงกาลี” ที่สะท้อนความเชื่ออย่างกว้างขวางในพม่าว่าโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตต่อข้อกล่าวหาที่ผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศอ้างถึง เช่นการสังหาร การวางเพลิง และการข่มขืน

“เบงกาลีจะไม่พูดว่าพวกเขามาที่บังกลาเทศอย่างมีความสุข พวกเขาจะได้รับความเห็นอกเห็นใจและสิทธิต่างๆ หากพวกเขากล่าวว่าพวกเขาเผชิญกับความยากลำบากและการกดขี่ข่มเหง” พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าว

ด้านสหประชาชาติ กล่าวว่า สภาพเงื่อนไขต่างๆ ในพื้นที่ยังไม่พร้อมสำหรับผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางกลับ แม้ฝ่ายพม่าจะยืนยันถึงความพร้อมก็ตาม

รัฐบาลได้สร้างค่ายพักที่สามารถรองรับประชาชนได้หลายหมื่นคน และบ้านหลังใหม่ที่ยังมีจำนวนน้อยมาก เพื่อแทนที่หมู่บ้านที่โรฮิงญาเคยใช้ชีวิตแต่ถูกเผาไปจนหมด

ชุมชนชาวโรฮิงญาถูกกดขี่ข่มเหงในพม่ามาเป็นเวลาหลายสิบปี และกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในสภาพถูกแบ่งแยก จากการจำกัดการเคลื่อนไหวและการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ ยังมีโรฮิงญามากกว่า 120,000 คน อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ที่เป็นผลจากความรุนแรงระหว่างชุมชนในปี 2555 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน

ดิล โมฮาเหม็ด แกนนำกลุ่มโรฮิงญาที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน กล่าวกับนักข่าวเมื่อปลายเดือนก่อนว่า ผู้ลี้ภัยไม่ต้องการพักในค่าย เพราะกลัวว่าที่พักเหล่านั้นจะไม่เป็นเพียงแค่ที่พักชั่วคราว

“เราจะรอที่นี่จนกว่าเราจะได้รับอนุญาตให้กลับไปที่บ้านของพวกเรา” ดิล โมฮาเหม็ด กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น