xs
xsm
sm
md
lg

คณะทูตสหประชาชาติเยี่ยมค่ายโรฮิงญาในบังกลาเทศก่อนบินพบซูจีที่พม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - โรฮิงญาหลายร้อยคนรวมตัวชุมนุมกันในวันนี้ (29) ขณะที่คณะทูตจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ที่มีชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 700,000 คน ซึ่งหลบหนีออกจากพม่าในช่วงปีที่ผ่านมาพักอาศัยหลบภัย

ผู้ลี้ภัยมุสลิมบางส่วนหลั่งน้ำตาขณะบอกเล่าเรื่องราวน่าหดหู่เกี่ยวกับการสังหารและการข่มขืนในพม่ากับบรรดาทูต ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มผู้ชุมนุมได้ชูป้ายเรียกร้องความยุติธรรมจากการกระทำทารุณต่อผู้ลี้ภัยจนกระทั่งถูกตำรวจเข้าสลาย

คณะนักการทูตระดับสูงจากคณะมนตรีความมั่นคง ที่รวมทั้งสมาชิกถาวรจากสหรัฐฯ รัสเซีย จีน อังกฤษ และฝรั่งเศส เดินทางถึงบังกลาเทศเมื่อวันเสาร์ (28) เพื่อเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 4 วัน และหลังจากนั้นจะเดินทางต่อไปยังพม่าที่พวกเขาจะได้พบหารือกับนางอองซานซูจี ผู้นำพม่า

พม่าเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากต่างประเทศจากการปราบปรามของทหารที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนส.ค. ที่สหประชาชาติเรียกการปราบปรามที่เกิดขึ้นว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

คณะมนตรีความมั่นคงได้เรียกร้องการเดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัยของโรฮิงญา และการยุติการแบ่งแยกกีดกีนคนกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากรัสเซียซึ่งให้การสนับสนุนพม่ากล่าวเตือนว่า คณะมนตรีไม่ได้มีไม้วิเศษที่จะแก้ไขสิ่งที่เวลานี้เป็นหนึ่งในวิกฤติผู้ลี้ภัยที่เลวร้ายที่สุดของโลก

“เราไม่ได้เมินเฉยต่อวิกฤตินี้ เราไม่ได้ปิดตาของเรา” ผู้แทนจากรัสเซีย กล่าวกับนักข่าว

ทูตอังกฤษประจำสหประชาชาติกล่าวว่า โรฮิงญาต้องได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับบ้านภายใต้เงื่อนไขของความปลอดภัย

“มันอาจต้องใช้เวลาอยู่บ้างแต่เราต้องการได้ยินจากรัฐบาลพม่าถึงความต้องการที่จะทำงานร่วมกับประชาคมโลก” ทูตอังกฤษประจำสหประชาชาติ กล่าว

คณะทูตจากสหประชาชาติได้เยี่ยมค่ายโกนาพาราเป็นครั้งแรก ค่ายที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ไร้ผู้ครอบครองระหว่างบังกลาเทศและพม่า ที่มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 6,000 คน ตั้งแต่การปราบปรามเริ่มขึ้นเมื่อปีก่อน

ดิล โมฮัมหมัด แกนนำโรฮิงญาของค่ายกล่าวว่า คณะทูตได้พูดคุยกับผู้หญิงรายหนึ่ง ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในรัฐยะไข่ของพม่า รวมทั้งผู้อาวุโสในชุมชน

“เราบอกพวกเขาว่าเรามาอาศัยอยู่ที่นี่เพื่อรักษาชีวิตของพวกเรา เรามีความต้องการอย่างมากที่จะเดินทางกลับไปยังดินแดนของเรา” โมฮัมหมัด กล่าว

ในเวลาต่อมา นักการทูตได้เดินทางไปยังค่ายกุตุปะหล่อง ค่ายขนาดใหญ่ที่มีชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนรวมตัวชุมนุมและถูกตำรวจเข้าสลายไปก่อนที่คณะทูตจะเดินทางถึง

“เราต้องการเรียกคืนสิทธิความเป็นพลเมืองของเราภายใต้กลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา เราต้องการความมั่นคงและการคืนที่ดินและทรัพย์สินที่ถูกยึดไปของเรา” แกนนำชาวโรฮิงญาในค่ายกุตุปะหล่อง กล่าว

สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงต่างรู้สึกตกใจจากเรื่องราวเกี่ยวกับการข่มขืน สังหาร และทรมาน ที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญในรัฐยะไข่

พม่าระบุว่าปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่เป็นการกำจัดกลุ่มหัวรุนแรงและปฏิเสธเกือบทุกข้อกล่าวหาว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงของประเทศกระทำการทารุณ

คณะผู้แทนของคณะมนตรีความมั่นคงยังมีกำหนดพบหารือกับนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา ของบังกลาเทศ ในวันจันทร์ (30) ก่อนเดินทางไปยังพม่า โดยคณะจะนั่งเฮลิคอปเตอร์บินเหนือรัฐยะไข่เพื่อดูซากหมู่บ้านที่ถูกเผาระหว่างเกิดเหตุความรุนแรง

ทูตคูเวตระบุว่าการเยือนครั้งนี้ไม่ได้เป็นการตำหนิประณามพม่า แต่ต้องการแสดงข้อความที่ชัดเจนมากขึ้นต่อพม่าว่าประชาคมโลกกำลังติดตามสถานการณ์นี้และมีความสนใจอย่างมากกับการแก้ไขปัญหา.




กำลังโหลดความคิดเห็น