รอยเตอร์ - รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษและผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ต่างเรียกร้องการปล่อยตัว 2 นักข่าวรอยเตอร์ที่ถูกคุมขังในพม่าหลังผู้พิพากษาปฏิเสธคำร้องยกฟ้องคดีกับทั้งคู่
บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ แสดงความเห็นในทวิตเตอร์ว่า พม่าต้องแสดงความมุ่งมั่นต่อเรื่องเสรีภาพสื่อของประเทศ ขณะที่ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติระบุในคำแถลงร่วมว่าความพยายามที่จะดำเนินคดีกับวา โลน และกอ โซ อู ยิ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวนต่อการค้นหาความจริงของสื่อมวลชน
ส่วนโฆษกรัฐบาลพม่ายังไม่สามารถติดต่อขอความเห็นได้ในตอนนี้
ศาลในนครย่างกุ้งได้จัดการไต่สวนพิจารณาเบื้องต้นตั้งแต่เดือนม.ค. เพื่อพิจารณาว่านักข่าวจะถูกตั้งข้อหาครอบครองเอกสารลับราชการตามกฎหมายความลับราชการหรือไม่ กฎหมายที่มีโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี
ผู้พิพากษา เย ละวิน ปฏิเสธคำร้องขอให้ศาลยกฟ้องคดีกับสองนักข่าว ที่ถูกคุมขังตั้งแต่เดือนธ.ค. เนื่องจากการขาดหลักฐาน โดยผู้พิพากษากล่าวว่ายังต้องการฟังพยานที่เหลืออยู่อีก 8 คน จากทั้งหมด 25 คน ตามการระบุของทนายความฝ่ายนักข่าว
เมื่อวันอังคาร (10) ทหารพม่า 7 นาย ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี พร้อมกับใช้แรงงานหนักในพื้นที่ห่างไกล จากการมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ชายชาวมุสลิมโรฮิงญา 10 คน ในรัฐยะไข่เมื่อเดือนก.ย. ตามการเปิดเผยของกองทัพ
ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษว่าด้วยพม่าของสหประชาชาติ และเดวิด เค ผู้แทนพิเศษว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความเห็นของสหประชาชาติ ระบุว่านักข่าวอาจถูกตัดสินจำคุกระยะยาวหากพบว่ากระทำความผิดจริง
“ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการสังหารหมู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานของวา โลน และกอ โซ อู ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี แต่นักข่าวทั้งสองคนนี้อาจเผชิญกับโทษจำคุก 14 ปี ความไม่สมเหตุสมผลของการพิจารณา ความไม่ถูกต้องของการคุมขัง และการดำเนินคดีฟ้องร้องนั้นชัดเจน” ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติระบุในคำแถลงร่วม
ด้านทูตพม่าประจำสหประชาชาติ กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า นักข่าวไม่ได้ถูกจับกุมตัวจากการรายงานเรื่องราวดังกล่าว แต่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองเอกสารลับของรัฐบาลอย่างผิดกฎหมาย
การปราบปรามของกองทัพ ที่เกิดขึ้นในการตอบโต้การโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงของผู้ก่อความไม่สงบโรฮิงญาเมื่อเดือนส.ค. เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาว่าฆาตกรรม ข่มขืน วางเพลิง และปล้นทรัพย์สิน ขณะที่สหประชาชาติและสหรัฐฯ ระบุว่าการปราบปรามที่เกิดขึ้นเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ข้อกล่าวหาที่พม่าปฏิเสธ
มุสลิมโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ข้ามพรมแดนไปฝั่งบังกลาเทศตั้งแต่นั้น
หลังผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติแสดงความเห็น จอห์นสัน กล่าวถึงคดีนี้ในทวิตเตอร์ว่า ผิดหวังอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่านักข่าวชาวพม่าของรอยเตอร์ คือ กอ โซ อู และวา โลน เผชิญกับการพิจารณาคดี และย้ำข้อเรียกร้องของตนเองเกี่ยวกับการปล่อยตัวทั้งคู่ และทางการพม่าต้องแสดงความมุ่งมั่นในเสรีภาพสื่อ.