รอยเตอร์ - รัฐสภาพม่าลงมติเลือกพันธมิตรใกล้ชิดของนางอองซานซูจี เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศวันนี้ (28) ความเคลื่อนไหวที่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสมดุลทางอำนาจในประเทศที่กองทัพยังคงบทบาททางการเมืองอยู่มาก
วิน มี้น ที่ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้รับเลือกจากทั้งสองสภาที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจีครองเสียงข้างมาก
ถิ่น จอ ประธานาธิบดีคนก่อนที่เป็นคนใกล้ชิดของซูจีเช่นเดียวกันนั้น ได้ลาออกจากตำแหน่ง “เพื่อพักผ่อนจากหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ” ท่ามกลางการคาดเดาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ และน้ำหนักที่ลดลงอย่างเห็นได้ของถิ่น จอ
การเลือกวิน มี้น วัย 66 ปี ที่เป็นสมาชิกพรรค NLD มีความเป็นไปได้อย่างมากที่การปกครองของซูจีจะยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเหนือฝ่ายบริหาร และมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นกับฝ่ายบริหารที่มีอายุเกือบ 2 ปีชุดนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติและนักวิเคราะห์ กล่าว
วิน มี้น ได้คะแนนเสียงไปทั้งสิ้น 403 คะแนน จากทั้งหมด 636 คะแนน ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ แต่ประธานสภาไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่วิน มี้น จะทำพิธีสาบานตน แม้คาดกันว่าพิธีน่าจะเกิดขึ้นในวันพฤหัสฯ
“จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย นโยบายจะยังดำเนินต่อไปเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นภายใต้ประธานาธิบดีคนก่อน” กอ โต๊ต สมาชิกสภาจากพรรค NLD กล่าว
ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและรัฐบาลในพม่า แต่อย่างไรก็ตาม ในสมัยของถิ่น จอ ประธานาธิบดีมีหน้าที่ในส่วนของพิธีการเป็นส่วนใหญ่ เพราะซูจีเป็นผู้นำโดยพฤตินัยตั้งแต่เดือนเม.ย. 2559 ซึ่งนักการเมืองและนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การบริหารจัดการเช่นนี้จะยังคงเกิดขึ้นในสมัยของวิน มี้น
รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร ห้ามซูจีจากการทำหน้าที่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศ และซูจีได้เลือกถิ่น จอ คนใกล้ชิดขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี หลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่พรรค NLD ชนะอย่างถล่มทลายในปี 2558
มาตราในรัฐธรรมนูญยังสงวนที่นั่ง 1 ใน 4 ของสภาให้กับกองทัพ และตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน ทั้งยังให้สิทธิยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและควบคุมกิจการด้านความมั่นคง
ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่เป็นสมาชิกของกลุ่มที่ปรึกษาเพียงไม่กี่คนที่ได้รับความไว้วางใจของซูจี ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าความไว้วางใจและความจงรักภักดีทำให้ซูจีเลือกวิน มี้น ทำหน้าที่ประธานาธิบดีแทนถิ่น จอ
วิน มี้น เป็นหนึ่งในสมาชิกพรรค NLD ไม่กี่สิบคน รวมทั้งซูจี ที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งซ่อมปี 2555 ในขณะที่ประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงจากการปกครองของทหารเกือบ 50 ปี.