รอยเตอร์ - องค์การนิรโทษกรรมสากล เผยว่า หลังชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ถูกบีบให้ต้องอพยพหลบหนีออกจากประเทศ กองทัพพม่ากำลังสร้างค่ายทหารขึ้นบนพื้นที่บางส่วนที่เคยเป็นที่อยู่อาศัย และมัสยิดของโรฮิงญาเหล่านั้น โดยอ้างจากหลักฐานภาพถ่ายดาวเทียมชุดใหม่
การปราบปรามของทหารตอบโต้เหตุโจมตีของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมกลุ่มนี้ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ และยังทำให้หมู่บ้านมากกว่า 350 แห่ง ถูกเผาทำลายในรัฐยะไข่
รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลที่เผยแพร่วันนี้ (12) ระบุว่า หมู่บ้านโรฮิงญาที่ยังเหลืออยู่และสิ่งปลูกสร้างบางอย่างไม่ได้รับความเสียหายก่อนหน้านี้ กลับถูกไถปรับพื้นที่จนเรียบ รวมทั้งยังมีการก่อสร้างถนน และที่อยู่อาศัยในพื้นที่ขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีสิ่งปลูกสร้างด้านความมั่นคงแห่งใหม่ขึ้นอย่างน้อย 3 แห่ง ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ตามการระบุของกลุ่มสิทธิมนุษยชน
“สิ่งที่เรากำลังเห็นในรัฐยะไข่คือ การยึดที่ดินโดยทหารในขนาดที่น่าตกใจ” ผู้อำนวยการตอบโต้วิกฤตขององค์การนิรโทษกรรมสากลระบุในคำแถลง
“ค่ายแห่งใหม่กำลังสร้างขึ้นเพื่อเป็นฐานของกองกำลังรักษาความมั่นคงที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติกับชาวโรฮิงญา” ผู้อำนวยการ ระบุ
มัสยิดอย่างน้อย 4 แห่ง ที่ไม่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ก่อนหน้านี้ ได้ถูกทำลายลง หรือถูกรื้อถอนหลังคา และโครงสร้างต่างๆ ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่เหตุความขัดแย้งในพื้นที่ไม่ถูกรายงาน
ในหมู่บ้านโรฮิงญาแห่งหนึ่ง ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นว่า มีสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นด่านตำรวจชายแดนแห่งใหม่ปรากฏอยู่ถัดจากพื้นที่ที่เคยเป็นมัสยิดที่เพิ่งถูกทำลายไป
โฆษกรัฐบาล และกองทัพพม่าไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ ส่วนเจ้าหน้าที่พม่าระบุว่า หมู่บ้านต่างๆ ถูกปรับหน้าดินเพื่อเตรียมไว้สำหรับการปลูกบ้านใหม่สำหรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับ
พม่าได้ร้องขอหลักฐานที่ชัดเจนที่จะสนับสนุนข้อสรุปของสหประชาชาติที่ว่าพม่าดำเนินการกวาดล้างชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่
พม่า และบังกลาเทศบรรลุข้อตกลงในเดือน พ.ย. ที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ และฝ่ายพม่าระบุว่าค่ายพักชั่วคราวสำหรับผู้เดินทางกลับนั้นถูกจัดเตรียมไว้พร้อมแล้ว แต่กระบวนการส่งกลับยังไม่สามารถเริ่มต้นขึ้นได้
องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า การปรับพื้นที่ที่โรฮิงญาเคยอาศัยอยู่นั้นดูเหมือนจะถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกองกำลังรักษาความมั่นคง และชาวบ้านที่ไม่ใช่โรฮิงญา และอาจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ลี้ภัยที่จะตกลงยินยอมเดินทางกลับประเทศ.