เอเอฟพี - นักการเมืองชาวพุทธยะไข่ที่กำลังเผชิญต่อข้อหากบฏเนื่องจากเหตุจลาจลรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือน ม.ค. เดินทางมาปรากฏตัวที่ศาลพม่าวันนี้ (7) คดีความที่ทำให้ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์การปราบปรามชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา
ความเกลียดชังทางชาติพันธุ์เกิดขึ้นในรัฐยะไข่มานานหลายปี ตั้งแต่การกดขี่ข่มเหงชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา จนถึงการปราบปรามของทหารต่อชาวโรฮิงญาที่เริ่มขึ้นเมื่อปลายเดือน ส.ค. และนำมาซึ่งการอพยพของผู้คนเป็นจำนวนมาก
ชุมชนชาวพุทธยะไข่ ที่บางส่วนถูกกล่าวหาวว่าให้การช่วยเหลือทหารในการปราบปราม มักปะทะกับรัฐบาลกลาง และความตึงเครียดในพื้นที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่เหตุจลาจลเกิดขึ้นในเมืองๆ หนึ่งของรัฐเมื่อเดือน ม.ค.
เอ หม่อง สมาชิกรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองของชาวยะไข่ ที่รู้จักกันว่ามีมุมมองต่อต้านโรฮิงญาอย่างแข็งกร้าว ถูกกล่าวหาว่า กล่าวปราศรัยยั่วยุปลุกปั่นต่อต้านรัฐบาลกลางเมื่อวันที่ 15 ม.ค. หนึ่งวันก่อนเกิดเหตุจลาจล
สื่อที่รัฐให้การสนับสนุน ระบุว่า เอ หม่อง กล่าวโทษรัฐบาลที่ปฏิบัติต่อชาวยะไข่ดั่ง “ทาส” และระบุว่า “ถึงเวลาที่เหมาะสม” ที่ชุมชนชาวยะไข่จะเริ่มการต่อสู้ด้วยอาวุธ และในเย็นวันต่อมาผู้ชุมนุมประท้วงชาวยะไข่เข้ายึดอาคารของรัฐในเมืองมรัคอู
ตำรวจเปิดฉากยิงไปที่กลุ่มม็อบ และทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยิ่งย่ำแย่ลง
เอ หม่อง ที่ถูกจับกุมตัวในเวลาต่อมา และเผชิญต่อข้อหากบฏ ยั่วยุปลุกปั่น และชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย ได้ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของตนเอง และกล่าวหาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นว่าล่าแม่มดทางการเมือง
“เราคิดว่าฝ่ายบริหารต้องการที่จะตั้งข้อหาเรา นั่นเป็นเหตุผลที่เสาหลักของศาลต้องยืนหยัดมั่นคง” เอ หม่อง กล่าวต่อเอเอฟพี ที่ศาลในเมืองสิตตะเว
เหตุจลาจลรุนแรงที่เกิดขึ้นเผยให้เห็นถึงความแตกแยกทางชาติพันธุ์ที่ซับซ้อนในรัฐยะไข่ พื้นที่ที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 700,000 คน ที่อยู่ทางตอนเหนือของรัฐต้องอพยพข้ามแดนไปบังกลาเทศตั้งแต่การปราบปรามอย่างรุนแรงของทหารเริ่มขึ้นในเดือน ส.ค.
ชาวพุทธยะไข่ถูกกล่าวหาว่า ให้ความช่วยเหลือทหารในการก่อเหตุสังหาร ข่มขืน และวางเพลิงที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮิงญา ความรุนแรงที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ แต่ทางการพม่าปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว
แม้ชาวยะไข่จะได้รับการยอมรับจากรัฐบาลว่าเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของประเทศ แต่มักตกเป็นคนชายขอบภายใต้ระบบที่เอื้อต่อชาวพม่าที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
ผู้ประท้วงราว 100 คน รวมตัวอยู่ด้านนอกศาลเพื่อให้การสนับสนุนต่อ เอ หม่อง และวาย ฮิน อ่อง นักเขียนที่ถูกจับกุมตัวจากการกล่าวปราศรัยในงานเดียวกัน
“เรารู้สึกเสียใจที่เห็น ดร.เอ หม่อง และวาย ฮิน อ่อง เป็นเช่นนี้ พวกเขาทำงานเพื่อประชาชน” หนึ่งในผู้ชุมนุม กล่าว.