รอยเตอร์ - การเยือนเวียดนามครั้งแรกของเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนาม ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังของความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ที่เติบโตขึ้นระหว่างอดีตศัตรูสงคราม
แต่การมาถึงของเรือยูเอสเอส คาร์ล วินสัน (USS Carl Vinson) ในวันจันทร์นี้ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่พัฒนาและซับซ้อนของฮานอยกับปักกิ่งเกี่ยวกับทะเลจีนใต้
หลายเดือนที่ผ่านมา ทูตเวียดนามต้องทำงานเพื่อบรรเทาความวิตกของจีนถึงการเยือนของเรือบรรทุกเครื่องบินและความร่วมมือด้านความมั่นคงที่คาดว่าจะขยายกว้างขึ้นระหว่างฮานอยและวอชิงตัน ตามการระบุของนักการทูตและผู้ที่คุ้นเคยในประเด็นเหล่านี้
นักการทูตเวียดนามและเจ้าหน้าที่ทหารได้เน้นย้ำถึงนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระของประเทศ และความปรารถนาในความสัมพันธ์ต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ด้วยหวังที่จะรักษาความสัมพันธ์อันมั่นคงกับจีน แม้ในขณะที่มีประเด็นพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้ก็ตาม แหล่งข่าวระบุ
เมื่อเรือยูเอสเอส คาร์ล วินสัน เดินทางถึงนครด่าหนัง จะกลายเป็นการปรากฎตัวทางทหารของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ที่สุดในเวียดนาม นับตั้งแต่ปี 1975 โดยเมืองท่าชายฝั่งภาคกลางของเวียดนามแห่งนี้อยู่ใกล้กับแหล่งก๊าซบลูเวล (Blue Whale) ที่เวลานี้อยู่ภายใต้การพัฒนาของบริษัท Exxon Mobil ของสหรัฐฯ รวมทั้งหมู่เกาะพาราเซล ที่จีนและเวียดนามต่างอ้างสิทธิอธิปไตย
การสร้างเกาะเทียม 7 แห่งอย่างรวดเร็วของจีนในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่อยู่ทางใต้ลงไป สร้างความวิตกให้กับเวียดนามและชาติต่างๆ ในภูมิภาค และด้วยความพยายามที่จะอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือน่านน้ำส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ กองทัพเรือและหน่วยชายฝั่งของจีนมักออกลาดตระเวนอยู่เป็นประจำในน่านน้ำแห่งนี้
“แม้เวียดนามจะหันไปหาสหรัฐฯ แต่เวียดนามก็ยังมีส่วนร่วมกับจีน พวกเขาอาจขุ่นเคือง แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปคือคำสำคัญที่นี่ เวียดนามจะตอบรับสหรัฐฯ เท่าที่จะไม่ทำให้เกิดปฏิกริยารุนแรงจากจีน” ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเวียดนามจากสถาบัน ISEAS Yusof Ishak ในสิงคโปร์ กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจีนแผ่นดินใหญ่จากมหาวิทยาลัยหลิ่งหนานในฮ่องกงเชื่อว่าปักกิ่งจะไม่ตื่นตระหนกจากการเยือนของเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเพราะการทูตของเวียดนามที่ประสบความสำเร็จ
“ปักกิ่งมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับสูตรความสมดุลของเวียดนามในตอนนี้” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว
การเยือนของเรือวินสันเกิดขึ้นท่ามกลางการส่งสัญญาณจากฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กระตือรือร้นจะพัฒนาความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับเวียดนามที่เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ทางทหารและการเมืองเพื่อตรวจสอบการขยายตัวขึ้นของจีน
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามก็สานความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่หลากหลายเพื่อสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์กับจีน เช่น มอสโก ที่ยังคงเป็นผู้จัดหาหลักของประเทศที่ช่วยให้กองทัพเวียดนามมีความทันสมัย รวมทั้งอินเดียและอิสราเอล ที่มีสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ฝ่ายสหรัฐฯ ก็เสนอขายขีปนาวุธและอาวุธขั้นสูงต่างๆ ให้เวียดนามในระหว่างที่ทรัมป์เดินทางเยือนเมื่อเดือนพ.ย. แต่ยังไม่มีข้อตกลงสำคัญใดๆ เกิดขึ้น และเอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่ประกาศในเดือนธ.ค. ได้กำหนดให้เวียดนามเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางทะเล
นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการป้องกันจากสถาบัน RAND ที่เป็นคลังสมองของสหรัฐฯ ระบุว่า แม้ดูเหมือนว่าฝ่ายสหรัฐฯ ยังไม่ค่อยแน่ใจในสิ่งที่เวียดนามต้องการ แต่ความสนใจน่าจะมุ่งไปที่แนวทางในการเสริมความตระหนักถึงขอบเขตทางทะเล และความสามารถในการรักษาความปลอดภัยทางทะเลของเวียดนาม.