xs
xsm
sm
md
lg

จนท.พม่าแจงปรับดินหมู่บ้านโรฮิงญาเพื่อสร้างที่พักผู้ลี้ภัยไม่ใช่การทำลายหลักฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายดาวเทียมจาก DigitalGlobe โดยฝั่งซ้ายถ่ายเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2560 และฝั่งขวาถ่ายเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 เผยให้เห็นหมู่บ้านมะยาซิน ห่างจากเมืองหม่องดอไปทางเหนือราว 30 กิโลเมตร ที่เป็นหมู่บ้านของชาวโรฮิงญา ถูกไถเกลี่ยดินจนราบเรียบในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลพม่าอ้างสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเพื่อให้ง่ายสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่และตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้ลี้ภัย แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิตกว่ารัฐบาลกำลังทำลายหลักฐานของสถานที่เกิดเหตุการกระทำทารุณละเมิดสิทธิต่างๆ. -- Associated Press.

รอยเตอร์ - พม่าได้เข้าไถซากหมู่บ้านชาวมุสลิมโรฮิงญาจนเรียบเพื่อเปิดทางสำหรับการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย ไม่ใช่การทำลายหลักฐานการกระทำทารุณ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการฟื้นฟูพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่เผยวันนี้ (26)

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นว่าพม่าได้ปรับหน้าดินหมู่บ้านอย่างน้อย 55 แห่ง ในรัฐยะไข่ รวมถึงหมู่บ้าน 2 แห่ง ที่ดูยังไม่เสียหายก่อนเครื่องจักรหนักมาถึง

กลุ่มเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนแห่งนี้ ระบุว่า การทำลายดังกล่าวอาจลบล้างหลักฐานการกระทำทารุณต่างๆ ของกองกำลังรักษาความมั่นคง ที่สหประชาชาติ และสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา

การปราบปรามของทหารที่เกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีด่านตำรวจกว่า 30 จุด และค่ายทหารเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ได้ผลักดันให้ชาวโรฮิงญาราว 688,000 คน หลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศ และหลายคนกล่าวหาว่า ทหาร และตำรวจได้ก่อเหตุทารุณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสังหาร การข่มขืน และการวางเพลิง

พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาเป็นส่วนใหญ่ และร้องขอหลักฐานการละเมิดต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธที่จะให้นักข่าวอิสระ ผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชน และผู้สืบสวนของสหประชาชาติเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้งดังกล่าว

อ่อง ตุน เต๊ต นักเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นประธานคณะกรรมการขององค์กรเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การตั้งถิ่นฐาน และการพัฒนา (UEHRD) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. ระบุว่า หมู่บ้านต่างๆ กำลังถูกปรับผิวดินเพื่อให้สะดวกกับรัฐบาลในการตั้งถิ่นฐานใหม่ให้แก่ผู้ลี้ภัย โดยให้อยู่ใกล้ที่สุดเท่าที่เป็นได้กับที่อยู่อาศัยเดิมของพวกเขา

“เราไม่มีความประสงค์ที่จะกำจัดสิ่งที่เรียกว่าหลักฐาน สิ่งที่เราตั้งใจคือ ให้แน่ใจว่าสิ่งปลูกสร้างต่างๆ สำหรับประชาชนที่จะเดินทางกลับสามารถสร้างขึ้นได้โดยง่าย” อ่อง ตุน เต๊ต กล่าวต่อนักข่าว ตอบโต้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทำลายหลักฐาน

อ่อง ตุน เต๊ต ยังระบุว่า พม่าจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อทำให้แน่ใจว่าการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศดำเนินการตามข้อตกลงที่ลงนามกับบังกลาเทศในเดือน พ.ย. ที่จะดำเนินไปอย่างเป็นธรรม มีเกียรติ และปลอดภัย.


กำลังโหลดความคิดเห็น