xs
xsm
sm
md
lg

จนท.พม่า-บังกลาเทศนัดถกอีกรอบแก้ปัญหากลุ่มโรฮิงญาติดค้างพื้นที่พรมแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในพื้นที่ไร้ผู้ครอบครองระหว่างพรมแดนพม่าและบังกลาเทศ ยืนมองทหารพม่าออกลาดตระเวนตามแนวรั้ว. -- Agence France-Presse.

เอเอฟพี - พม่า และบังกลาเทศได้จัดการพบหารือบริเวณชายแดนในวันนี้ (20) เกี่ยวกับชะตากรรมของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาราว 6,000 คน ที่ติดค้างอยู่ในบริเวณพื้นที่ไร้ผู้ครอบครองระหว่างสองประเทศ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่บังกลาเทศ

ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ปฏิเสธที่จะเข้าไปในบังกลาเทศในทีแรก หลังอพยพออกมาจากฝั่งพม่าเนื่องจากการปราบปรามของทหารที่เกิดขึ้นต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมเมื่อเดือน ส.ค. แต่เวลานี้ กลับกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบังกลาเทศ ซึ่งสหประชาชาติ และกลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ได้เรียกร้องให้ทางการกรุงธากาอนุญาตให้คนเหล่านี้เข้าไป

หัวหน้าคณะกรรมการผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ ระบุว่า คณะผู้แทนบังกลาเทศจะพบหารือกับเจ้าหน้าที่พม่าเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับโรฮิงญาที่ติดค้างอยู่ในพื้นที่ตรงกลางใกล้ด่านพรมแดน และเผยว่า พม่าต้องการให้บังกลาเทศช่วยโน้มน้าวโรฮิงญาให้กลับไปยังรัฐยะไข่

เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีพม่าได้ลงพื้นที่เพื่อเตือนโรฮิงญาที่อาศัยในเพิงพักชั่วคราวในบริเวณดังกล่าว โดยคลิปวิดีโอที่ถูกส่งต่อบนสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นว่า รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย อ่อง โซ กล่าวต่อผู้ลี้ภัยผ่านรั้วลวดหนาม ว่า พวกเขาจะเผชิญต่อผลลัพธ์บางอย่างหากไม่รับข้อเสนอเดินทางกลับ

โรฮิงญาที่อยู่ในพื้นที่ไร้ผู้ครอบครองกล่าวว่า พวกเขาใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัวเพราะกองทัพพม่าเพิ่งตั้งบังเกอร์ใกล้แนวรั้ว

“พวกเขาบอกเราว่าเราควรออกไปจากที่ตรงนี้ ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะยิงเรา” ราชิด อาห์เหม็ด อายุ 32 กล่าว

ส่วนโรฮิงญาอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ทหารพม่าราว 400 คน ออกลาดตระเวนใกล้แนวพรมแดน สร้างความหวั่นวิตกในหมู่ผู้ลี้ภัยเพราะทหารเหล่านี้มักยิงกระสุนปลอม

หัวหน้าคณะกรรมการผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ กล่าวว่า โรฮิงญาที่ติดค้างเหล่านี้ในทางเทคนิคแล้วถือว่าอาศัยอยู่ในพรมแดนฝั่งพม่า และก่อนหน้านี้ โรฮิงญาเหล่านี้ปฏิเสธที่จะเข้าพักในค่ายผู้ลี้ภัยภายในบังกลาเทศ

โรฮิงญาเกือบ 700,000 คน หลบหนีพม่าไปบังกลาเทศนับตั้งแต่การปราบปรามที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

รัฐบาลของสองประเทศเห็นพ้องกันที่จะดำเนินการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ แต่การเริ่มกระบวนการล่าช้ากว่ากำหนด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บังกลาเทศได้ส่งมอบรายชื่อโรฮิงญา 8,032 คน ให้แก่พม่าเพื่อดำเนินการส่งกลับ

โรฮิงญาหลายคนระบุว่า ไม่ต้องการเดินทางกลับจนกว่าพม่าจะตกลงให้สิทธิพลเมืองและรับประกันความปลอดภัยของพวกเขา แต่พม่านั้นถือว่าโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง แม้หลายคนระบุว่า อาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคนก็ตาม

โฆษกของหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ระบุว่า การตัดสินใจเดินทางกลับต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ.


กำลังโหลดความคิดเห็น