xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ร้องสหประชาชาติดำเนินการต่อทหารพม่ากรณีกวาดล้างชาติพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิกกี้ ฮาเลย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ. --  Agence France-Presse.

รอยเตอร์ - สหรัฐฯ ระบุว่า การปฏิเสธของพม่าต่อการกวาดล้างชาติพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา เป็นสิ่งผิดปกติ และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ดำเนินการต่อทหารที่รับผิดชอบ และกดดันนางอองซานซูจี ให้รับทราบถึงการกระทำโหดร้ายเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในประเทศของเธอเอง

“กองกำลังในรัฐบาลพม่าได้ปฏิเสธการกวาดล้างชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่” นิกกี้ ฮาเลย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคง

“เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่มีใครสามารถโต้แย้งการปฏิเสธที่แปลกประหลาดของพวกเขาได้ พวกเขาจึงต้องป้องกันไม่ให้ใคร หรือองค์กรใดเข้าไปในพื้นที่รัฐยะไข่ ที่อาจเป็นพยานต่อการกระทำทารุณโหดร้ายของพวกเขา รวมทั้งคณะมนตรีความมั่นคง” ฮาเลย์ กล่าว

ฮาเลย์ ยังเรียกร้องการปล่อยตัว 2 นักข่าวรอยเตอร์ ที่ถูกจับกุมจากการรายงานการสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮิงญา

รายงานพิเศษของรอยเตอร์ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ก่อน กล่าวถึงเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสังหารชายชาวโรฮิงญา 10 คน จากหมู่บ้านอินดิน ในรัฐยะไข่ ที่ถูกฝังในหลุมศพขนาดใหญ่หลังถูกแทงหรือถูกยิงจนเสียชีวิตโดยฝีมือของกลุ่มชาวพุทธ และทหาร

ทูตฝรั่งเศส ประจำสหประชาชาติ ยังกล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงว่า การสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่รายงานโดยรอยเตอร์นั้นอาจเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

แต่พม่าปฏิเสธว่ามีเหตุการณ์การกวาดล้างชาติพันธุ์เกิดขึ้นในพื้นที่

การผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงดำเนินมาตรการมีแนวโน้มที่จะเผชิญต่อการคัดค้านจากรัสเซีย และจีน สองประเทศที่ระบุว่า สถานการณ์ในรัฐยะไข่มีเสถียรภาพ และอยู่ภายใต้การควบคุม

“การตรีตร าและพยายามที่จะใช้รายงานที่ขัดแย้งของสื่อเพื่อหาว่าใครผิด และประณามพวกเขา มีแต่จะทำให้พวกเขาห่างไกลออกไปจากการแก้ไขปัญหา” รองผู้แทนถาวรรัสเซีย ประจำสหประชาชาติ กล่าวเตือน

โรฮิงญาเกือบ 690,000 คน ได้หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ข้ามแดนไปบังกลาเทศตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. เมื่อผู้ก่อความไม่สงบโจมตีด่านรักษาความมั่นคงจนทำให้ทหารดำเนินการปราบปรามตอบโต้ ที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

“เงื่อนไขต่างๆ ยังไม่เอื้อให้เกิดกระบวนการส่งตัวผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศได้โดยสมัครใจ” ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคง
ชายชาวมุสลิมโรฮิงญา 10 คน ถูกสั่งให้นั่งคุกเข่ากับพื้นในหมู่บ้านอินดิน. --  Reuters.

ทูตพม่าประจำสหประชาชาติ ระบุว่า การสอบสวนโดยทหารพม่า พบว่า กองกำลังของกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งรัฐยะไข่ 10 คน ถูกจับกุมตัวได้ในหมู่บ้านอินดิน ก่อนจะถูกสังหาร และฝังในเวลาต่อมา

“การดำเนินการกำลังเกิดขึ้นผู้เกี่ยวข้องทั้ง 16 คน ที่ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และชาวบ้าน ที่กระทำความผิดละเมิดขั้นตอนปฏิบัติการตามมาตรฐาน และกฎการใช้กำลัง การกระทำของกองทัพครั้งนี้ถือเป็นก้าวบวกในการรับผิดชอบ และสมควรได้รับการสนับสนุน” ทูตพม่าประจำสหประชาชาติ กล่าว

สำหรับกรณีนักข่าวรอยเตอร์ถูกจับกุมจากการรายงานเรื่องโรฮิงญา ทูตพม่ากล่าวว่า พม่าตระหนักถึงเสรีภาพของสื่อ และนักข่าวไม่ได้ถูกจับเพราะการรายงานข่าว แต่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองเอกสารลับของรัฐบาลอย่างผิดกฎหมาย

“ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ มันเป็นสิ่งสำคัญที่การกระทำของนักข่าวต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย” ทูตพม่า กล่าว

นอกจากสหรัฐฯ ยังมีอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และคาซัคสถาน เรียกร้องการปล่อยตัวนักข่าวรอยเตอร์ระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงวานนี้ (14).


กำลังโหลดความคิดเห็น