xs
xsm
sm
md
lg

ดูนักบินเทพเสือเหลืองขับ Su-30 ลำซิ่งกลางเวหา ยิงพลุร้อนสนั่นลั่นฟ้ากระหึ่มสิงคโปร์แอร์โชว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักบิน Su-30MKM ของมาเลเซีย ได้ฉายแววความเป็นเลิศ ให้เห็นมาหลายครั้ง ในงาน LIMA ที่เกาะลังกาวี ในช่วง 4-5 ปีมานี้ แต่ไม่มีครั้งไหนที่แสดงให้เห็นความเป็นเทพสุดๆ เช่นในสิงคโปร์สัปดาห์นี้ -- ข้อมูลของสำนักข่าวกลาโหม ระบุว่าเครื่องบินรบทั้ง 18 ลำ ประจำอยู่ที่ฐานทัพอากาศในรัฐกะลันตัน (Kelantan) ริมฝั่งทะเลจีนใต้ ชายแดนติด จ.นราธิวาส ของไทย.


MGRออนไลน์ -- เครื่องบินรบ Su-30MKM ของกองทัพอากาศมาเลเซียลำหนึ่ง ขึ้นบินแสดงผาดแผลง ในงานสิงคโปร์แอร์โชว์สัปดาห์นี้ สร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าชมงานนับหมื่นคน และ วิดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์ ความยาว 10 นาทีเศษ ที่มีผู้นำขึ้นโพสต์ในช่องยูทิวบ์ไม่กี่วันมานี้ มีผู้เข้าชมนับแสนครั้ง มีคนอีกจำนวนมาก เข้าชมในเว็บไซต์ข่าวกลาโหม และ แชร์กันออกไปอย่างรวดเร็ว

นับเป็นการแสดงบินผาดแผลง "ขั้นเทพ" ให้เห็นเป็นครั้งแรก โดยนักบินคนหนึ่ง ของกองทัพอากาศมาเลเซีย กับเครื่องบินรบดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความแคล่วคล่องว่องไว กับ ขีดความสามารถสูงยิ่ง ในการพันตูทางอากาศอย่างใกล้ชิด -- การแสดงในสิงคโปร์ ได้แสดงให้เห็นฝีมือ กับความสามารถของนักบิน ที่พัฒนาก้าวหน้าไป อย่างไม่เคยเห็นกันมาก่อน ในหลายปีมานี้

สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในวิดีโอ จากสิงคโปร์ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา แทบจะไม่แตกต่างกับ การแสดงขีดความสามารถ แบบ "อิมพอสสิเบิ้ล สตั๊นท์" (Impossible Stunt) ของนักบินกองทัพอากาศรัสเซียคนหนึ่ง กับ Su-35 ที่ผู้ชมนับล้านทั่วโลก ได้เห็นกันมาหลายครั้ง ตั้งแต่เครื่องทดลอง Su-35 ลำหนึ่ง ในงานปารีสแอร์โชว์ 2556 จนถึง Su-35S ของกองทัพอากาศ ในงาน MAKS 2017 หรือมอสโกแอร์โชว์ ในย่านชานเมืองหลวงของรัสเซียปีที่แล้ว และ ครั้งล่าสุดในงานดูไบแอร์โชว์ พ.ย.2560

นั่นคือ การแสดงสมรรถนะที่เป็นเลิศ ของเครื่องบินรบ ยุค 4++ กองทัพอากาศรัสเซีย
.


.
ส่วนกองทัพอากาศมาเลเซีย ยังไม่เคยนำ Su-30MKM ออกอวดฝีมือนักบินแบบสุดโต่ง เช่นที่เห็นในสัปดาห์นี้มาก่อน แม้แต่ในงาน LIMA (Langkawi International Maritime and Aerospace Exhibition) หรือ งานแสดงเกี่ยวกับการเดินทะเล การบินและอวกาศลังกาวี ที่จัดขึ้นในมาเลเซียเอง -- โดยสามครั้งล่าสุด คือ ปี 2013, 2015 และ เมื่อปีที่แล้ว มีการบินโชว์ ของ Su-30 ทุกครั้ง แต่ก็เป็นการแสดงขีดความสามารถ แบบพลิกคว่ำพลิกหงาย และ แสดงการทรงตัวกลางอากาศ ที่ไม่ต่างกันมาก

วิดีโอจากสิงคโปร์แอร์โชว์ แสดงให้เห็น Su-30MKM ลำหนึ่ง ยิงพลุร้อนนับสิบๆ ลูก ขณะบินตั้งลำตรง ตั้งฉากกับพื้นโลก บนความสูงขึ้นไปราว 2 กิโลเมตร ทำให้เกิดภาพงดงามตระการตา ซึ่งเป็นครั้งแรกเช่นกัน -- ผู้สันทัดกรณีรายหนึ่งเขียนในเฟซบุ๊กข่าวกลาโหมในมาเลเซียว่า ที่เห็นนั้นเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ในยามที่ต้องหลบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน แบบพื้นสู่อากาศของฝ่ายตรงข้าม

Su-30MKM ลำล่าสุดนี้ ยังแสดงความสามารถ ในการบินไต่ความสูงอย่างรวดเร็ว โดยเปิดระบบสันดาปท้ายเครื่องยนต์ เพิ่มทวีแรงบิด ซึ่งเป็นการท้าทายแรง "จี" (G-Force) -- แรงโน้มถ่วงของโลก -- ที่เป็นอันตรายต่อทั้งนักบิน และอากาศยานเอง
.



.

หลายช่วงของการแสดง นักบินได้ทำให้เห็นความคล่องตัว ในการเอี้ยวหลบ หรือ พลิกตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการทิ้งตัว ลงจากความสูงอย่างรวดเร็ว เป็นการลดเพดานลงย่างรวดเร็วในแนวดิ่ง ก่อนจะตั้งหลักอีกครั้ง -- หมุนตัว และ เอี้ยวตัว ตั้งลำ ไต่เพดานบินขึ้นอีก และ มีหลายครั้งที่นักบิน แสดงการลอยลำ ในแนวตั้งฉากกับพื้นโลก "คอบร้าโชว์" หรือ ท่างูเห่า -- ดูราวกับเป็นนกยักษ์กำลังกางปีกต้านลม และ ลอยตัวอยู่กับที่ บนความสูง

การบินแบบนี้ ต้องใช้เครื่งบินรบติดเครื่องยนต์สมรรถนะสูง ให้แรงบิดสูง มีโครงสร้างดีเยี่ยม และ มีความคล่องตัวสูง -- ทั้งหมดมีอยู่ครบครันใน Su-30 ของมาเลเซีย เช่นเดียวกันกับ Su-30 ทั้ง 32 ลำของกองทัพอากาศเวียดนาม ที่ติดเครื่องยนต์ AL31fp คู่ มีธรัสต์ เว็คเตอร์ (Thrust Vector) หรือ เว็คเตอริ่ง คอนโทรล (Vectoring Control) กับ "ปีกเล็ก" คู่หน้า ที่เรียกว่า "คานาร์ด" (Canard) ที่ทำให้เครื่องบิน มีขีดความสามารถ ในการก้มและเงยได้อย่างรวดเร็ว พลิกตัว หมุนตัว ตีลังกา หรือ หักเลี้ยวได้ทุกเวลา ในมุมแคบที่สุด

การมีระบบสันดาปท้ายเครื่อง หรือ After Burner ช่วยเพิ่มแรงบิดได้อย่างมหาศาล ทำให้ Su-30 ทำความเร็วสูงสุดได้กว่ามัค 2 -- แต่เหนือสิ่งอื่นใด นักบินจะต้องเก่ง ผ่านการฝึกฝนจนช่ำชอง เช่นที่เห็นในวิดีโอชิ้นล่าสุดนี้
.
<br><FONT color=#00003>Su-30MKM สองลำ แสดงให้เห็นทั้งด้านบนและใต้ท้อง ซึ่งมองเห็นเครื่องยนต์ AL31fp มีธรัสต์ อินเว็คเตอร์ (Thrust Invector) ที่ปลายสุด กับ ปีกเล็ก คู่หน้า ทำให้แคล่วคล่องว่องไว. -- Carl Brent/Russianplanes/En.Wikipedia.Org</b>
มาเลเซียจัดหา Su-30 จากรัสเซีย จำนวน 18 ลำเมื่อปี 2547 และ ได้รหัส MKM ซึ่งหมายความว่า บริษัทผู้ผลิตได้จัดฟังก์ชั่นต่างๆ ให้ตามความต้องการของผู้ซื้อ หรือ ตามลักษณะงานที่จะนำไปใช้ -- ในแผนการจัดหาเดิม ที่ต้องการเครื่องบินรบอเนกประสงค์ รวม 3 ฝูง จำนวน 36-40 ลำ แต่ปัญหางบประมาณทำให้หยุดไว้ที่ 18 ลำ

ไม่ใช่ Su-30 ทุกลำ ที่ติดเครื่องยนต์ ที่มีฟีเจอร์เว็คเตอริ่ง คอนโทรล -- เป็นที่ทราบกันดีว่า Su-30MKI ของกองทัพอากาศอินเดียกว่าครึ่งหนึ่งหรือ กว่า 100 ลำ ไม่มีขีดความสามารถนี้

เครื่องบินรบในครอบครัว Su-27/30 เป็นอาวุธทางเลือก ด้วยราคาที่ต่ำกว่า เครื่องบินรบของโลกตะวันตก มีสมรรถนะกับคุณภาพโดยรวมสูงไม่แพ้กัน -- เวียดนามที่เป็นลูกค้าประจำ ของเครื่องบินรบค่ายโซเวียต มาตลอดยุคสงครามเย็น ได้เป็นลูกค้า Su-27/30 รายแรกในย่านนี้ โดยทยอยจัดหา Su-27SK ที่นั่งเดี่ยว มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 จนครบจำนวนทั้งหมด 22 ลำ ก่อนเริ่มจัดหา Su-30 ล็อตแรกเมื่อปี 2547

กองทัพอากาศอินโดนีเซีย เป็นแห่งที่สอง -- ได้รับมอบจากรัสเซียล็อตแรกเมื่อปี 2546 เป็น Su-27SKM จำนวน 3 ลำ กับ Su-30MK2 อีก 3 ลำ -- การจัดหาในครั้งต่อๆ มา ให้ทำอินโดนีเซีย มีเครื่องบินรบครอบครัวนี้ ใช้งานรวมเป็นทั้งหมด 16 ลำในปัจจุบัน

ปีนี้พม่าได้กลายเป็นชาติอาเซียนที่ 4 ถัดจากมาเลเซีย ที่จะมี Su-30 ประจำการ โดยมีการประกาศการซื้อขายล็อตแรก จำนวน 6 ลำ ระหว่างการเยือนโดย พล.อ.ชเรเก โชยกู (Sergei Shoygu) รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ปลายเดือนย ม.ค.ที่่ผานมา -- ยังไม่ทราบรายละเอียดอื่นใดอีก เกี่ยวกับ Su-30 กองทัพอากาศพม่าในอนาคต.


กำลังโหลดความคิดเห็น