xs
xsm
sm
md
lg

รอยเตอร์เผยทางการพม่าจับ 2 นักข่าวเหตุตามคุ้ยคดีสังหารหมู่โรฮิงญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายชาวมุสลิมโรฮิงญา 10 คน ถูกมัดถือนั่งคุกเข่ากับพื้นขณะที่สมาชิกกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่ายืนเฝ้าอยู่โดยรอบในหมู่บ้านอินดิน วันที่ 2 ก.ย 2560. -- Reuters.

เอเอฟพี - นักข่าวสองคนของรอยเตอร์ที่ถูกเจ้าหน้าที่พม่าควบคุมตัวนาน 2 เดือน ถูกจับกุมเนื่องจากสืบสวนการสังหารหมู่ชายชาวโรฮิงญา 10 คน ตามการเปิดเผยของสำนักข่าวในรายงานที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการสังหารที่น่าสยดสยอง

นับเป็นครั้งแรกที่รอยเตอร์เปิดเผยต่อสาธารณะยืนยันถึงสิ่งที่นักข่าวชาวพม่า 2 คน คือ วา โลน อายุ 31 ปี และกอ โซ อู อายุ 27 ปี กำลังทำงานอยู่ขณะที่พวกเขาถูกจับกุมตัวในวันที่ 12 ธ.ค. บริเวณชานนครย่างกุ้ง

ทั้งคู่อาจเผชิญกับโทษจำคุก 14 ปี จากข้อหาครอบครองเอกสารลับที่ละเมิดกฎหมายความลับราชการ

ชะตากรรมของทั้งสองคนได้ส่งสัญญาณเตือนไปทั่วโลกเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อที่ถดถอยในพม่า และความพยายามของรัฐบาลที่จะควบคุมการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ พื้นที่วิกฤติที่กองกำลังทหารถูกกล่าวหาว่ากำลังดำเนินการกวาดล้างชาติพันธุ์กับชาวมุสลิมโรฮิงญา

ชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ได้หลบหนีออกจากพื้นที่ตั้งแต่ปลายเดือนส.ค. พร้อมกับเรื่องราวความโหดร้ายทารุณจากฝีมือของกองกำลังทหารและกลุ่มกองกำลังคนท้องถิ่น

เจ้าหน้าที่พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็ปิดกั้นสื่อในการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่

ในวันพฤหัสฯ รอยเตอร์ได้เผยแพร่รายงานที่อธิบายถึงวิธีการที่กองกำลังทหารพม่าและชาวบ้านสังหารชายชาวโรฮิงญา 10 คน ในหมู่บ้านอินดิน รัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2560 ก่อนทิ้งศพคนทั้งหมดลงในหลุมศพขนาดใหญ่

รายงานระบุว่า การสืบสวนการสังหารหมู่อินดินของรอยเตอร์คือสิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าเข้าจับกุมนักข่าวสองคนของสำนักข่าว

รายงานเขียนขึ้นจากคำให้การของชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธ เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคง และญาติของผู้ที่ถูกสังหาร นอกจากนั้นยังประกอบด้วยภาพถ่ายของเหยื่อ ที่ถูกมัดมือคุกเข่ากับพื้นก่อนถูกฆ่า และร่างของชายชาวโรฮิงญาในหลุม

หนึ่งเดือนหลังการจับกุมตัวนักข่าว กองทัพพม่าออกคำแถลงยอมรับว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงมีส่วนในการสังหารอย่างไม่ถูกต้องกับผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา 10 คน ในหมู่บ้านอินดิน

รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า พยานปฏิเสธว่ามีการโจมตีของผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาเกิดขึ้นก่อนการสังหารหมู่ ฝ่ายทางการพม่าเองก็ปฏิเสธการกระทำทารุณอย่างเป็นระบบโดยเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคง แม้หลักฐานที่มีอยู่เป็นจำนวนมากจะบ่งชี้ถึงความโหดร้ายทารุณก็ตาม

ผู้พิพากษาปฏิเสธการประกันตัวต่อสองนักข่าวระหว่างการพิจารณาคดีเบื้องต้นก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี แม้กลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักการทูตทั่วโลกจะเรียกร้องการปล่อยตัวก็ตาม.




กำลังโหลดความคิดเห็น