xs
xsm
sm
md
lg

ฮานอยมลพิษพุ่ง ตลอดปี 2560 อากาศสะอาดแค่ 38 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - รายงานของศูนย์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (GreenID) เผยว่า กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม มีช่วงเวลาที่อากาศสะอาดมากกว่า 1 เดือนเล็กน้อยในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ในระดับมลพิษที่เพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับกรุงปักกิ่งของจีน

มลพิษทางอากาศโดยเฉลี่ยต่อปีในกรุงฮานอยในปี 2560 สูงกว่าอัตราค่าเฉลี่ยคุณภาพทางอากาศตามมาตรฐานที่ยอมรับได้ขององค์การอนามัยโลกถึง 4 เท่า ตามรายงานเบื้องต้นของศูนย์ GreenID และคาดการณ์ว่า สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะย่ำแย่ลง

“ช่วงเวลาที่คุณภาพอากาศดีนั้นมากกว่าหนึ่งเดือนเล็กน้อย” ที่ปรึกษาด้านเทคนิคของ GreenID ที่วิเคราะห์ข้อมูลการตรวจสอบอากาศที่รวบรวมจากสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงฮานอย ระบุ

มลพิษทางอากาศในกรุงฮานอยส่วนหนึ่งเป็นผลจากโรงงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของโครงการการก่อสร้าง การใช้รถ และจักรยานยนต์ที่มากขึ้น และการเผาทำลายทางการเกษตรของเกษตรกร

และการวิจัยในรายงานยังชี้ว่า อุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงงานเหล็ก โรงงานปูนซีเมนต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่ใกล้เมืองหลวงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเช่นกัน

มลพิษทางอากาศของกรุงฮานอยในตอนนี้ย่ำแย่กว่ากรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ตามการระบุของรายงาน และไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ด้วยทางการเวียดนามกำลังผลักดันแผนการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม

การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว สามารถส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และการอักเสบ และยังสามารถนำไปสู่โรคหัวใจ และมะเร็ง

แม้ในช่วงกลางปี 2559 รัฐบาลเวียดนามได้ริเริ่มแผนปฏิบัติการแห่งชาติสำหรับการควบคุมและตรวจสอบการปล่อยมลพิษทางอากาศและปรับปรุงคุณภาพอากาศ ที่ทางการกรุงฮานอย กำลังวางแผนที่จะติดตั้งสถานีตรวจสอบอากาศ 70 จุด แต่รายงานของ GreenID ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาการขาดแคลนกฎระเบียบด้านคุณภาพอากาศ และการตระหนักรู้ของประชาชนต่อปัญหาและมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่จะลดผลกระทบ เช่น เครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน

รายงานที่มีกำหนดนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะในปลายเดือน ก.พ. ยังแนะนำว่า รัฐบาลเวียดนามต้องติดตั้งสถานีตรวจสอบมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น และระบบขนส่งมวลชนเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งการสำรวจของ GreenID ก่อนหน้านี้ยังพบว่า ประชากรชาวเวียดนามมีความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพอากาศ และปัญหาระบบทางเดินหายใจในเด็กที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น