xs
xsm
sm
md
lg

บังกลาเทศเลื่อนส่งโรฮิงญากลับพม่า แจงรายชื่อผู้ลี้ภัยไม่สมบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - บังกลาเทศชะลอการส่งกลับผู้ลี้ภัยมุสลิมโรฮิงญาไปยังพม่า จากกำหนดเดิมที่จะเริ่มในวันอังคาร (23) เนื่องจากกระบวนการรวบรวม และตรวจสอบรายชื่อผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งกลับมาไม่สมบูรณ์ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบังกลาเทศ

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงในค่ายต่างๆ ที่มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่หลายแสนคน และบางส่วนคัดค้านการส่งตัวกลับพม่าเพราะขาดการรับประกันด้านความปลอดภัย

พม่าเห็นพ้องก่อนหน้านี้ว่า จะรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญายังศูนย์รับเข้า 2 แห่ง และค่ายชั่วคราวที่ตั้งขึ้นใกล้พรมแดนบังกลาเทศ ในกระบวนการที่ใช้เวลาเป็น 2 ปี ซึ่งจะเริ่มต้นในวันอังคารนี้ และเจ้าหน้าที่ระบุว่า การส่งกลับผู้ลี้ภัยจะเป็นไปด้วยความสมัครใจ

แต่ อาบุล คาลาม เจ้าหน้าที่ในคณะกรรมการฟื้นฟูและบรรเทาทุกข์ผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ กล่าวว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับจะต้องล่าช้าออกไป แต่ไม่ได้ระบุวันที่ที่แน่ชัดที่จะเริ่มต้นกระบวนการดังกล่าวขึ้นใหม่

“รายชื่อผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งกลับมายังไม่เรียบร้อย การตรวจสอบของพวกเขา และการสร้างค่ายยังไม่เสร็จสมบูรณ์” อาบุล คาลาม กล่าว

ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 655,500 คน หลบหนีไปบังกลาเทศหลังการปราบปรามของทหารพม่าในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ ที่ตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาที่เกิดขึ้นกับกองกำลังรักษาความมั่นคงเมื่อวันที่ 25 ส.ค. สหประชาชาติ ระบุว่า ปฏิบัติการของทหารเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์โรฮิงญา ซึ่งพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

แต่ฝ่ายพม่าระบุว่า พร้อมที่จะรับโรฮิงญากลับประเทศ

“เราพร้อมที่จะรับพวกเขาเมื่อพวกเขากลับมา ในส่วนของเราการเตรียมการนั้นพร้อมแล้ว” โก โก นาย เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสวัสดิการสังคม บรรเทาทุกข์ และการตั้งถิ่นฐานของพม่า กล่าวต่อรอยเตอร์ผ่านทางโทรศัพท์

แต่เจ้าหน้าที่รายนี้ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่าบังกลาเทศได้แจ้งพม่าเกี่ยวกับการเลื่อนกระบวนการหรือไม่

ที่ค่ายผู้ลี้ภัยปาลองกาลีใกล้แม่น้ำนาฟ ที่เป็นแนวเขตแดนกั้นกลางระหว่างสองประเทศ กลุ่มแกนนำโรฮิงญาได้รวมตัวกันในช่วงเช้าวันนี้ (22) พร้อมกับเครื่องขยายเสียง และป้ายที่ระบุรายการข้อเรียกร้องสำหรับการเดินทางกลับพม่าของพวกเขา

รายการเหล่านั้นประกอบด้วยการรับประกันความปลอดภัย การให้สิทธิการเป็นพลเมือง และการยอมรับโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของพม่า นอกจากนั้น ยังร้องขอให้บ้านเรือน มัสยิด และโรงเรียนที่ถูกเผาทำลาย หรือได้รับความเสียหายจากปฏิบัติการของทหารถูกสร้างขึ้นใหม่

ทหารบังกลาเทศมาถึงยังที่ชุมนุม และเข้าสลายฝูงชนที่รวมตัวกันราว 300 คน โดยพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า พวกเขาเห็นทหารจับตัวแกนนำโรฮิงญาคนหนึ่งที่ถือป้ายประท้วง ด้านโฆษกกองทัพบังกลาเทศระบุว่า ยังไม่ได้รับรายงานใดๆ เกี่ยวกับการประท้วงจากค่ายผู้ลี้ภัยในเช้าวันนี้ แต่กำลังพยายามที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น