xs
xsm
sm
md
lg

พม่า-บังกลาเทศตั้งกลุ่มทำงาน เริ่มส่งโรฮิงญาลี้ภัยกลับประเทศเดือน ม.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่าและบังกลาเทศสัมผัสมือกันหลังลงนามข้อกำหนดว่าด้วยการส่งตัวผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศ ที่กรุงธากา เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. -- Agence France-Presse/Sam Jahan.

เอเอฟพี/เอพี - พม่า และบังกลาเทศยืนยันความมุ่งมั่นที่จะเริ่มกระบวนการส่งตัวผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศตั้งแต่เดือน ม.ค.นี้ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางกลับ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่า และบังกลาเทศได้พบหารือ และลงนามข้อตกลงที่กรุงธากา โดยตั้งกลุ่มทำงานร่วมกันเพื่อกำกับดูแลการส่งชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หลบหนีความรุนแรงจากพม่ากลับประเทศ

แต่ความวิตกยังขยายตัวว่าชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จะปลอดภัยหรือไม่หากเดินทางกลับไปรัฐยะไข่ หลังจากองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ระบุว่า มีชาวโรฮิงญาเกือบ 7,000 คน ถูกฆ่าในระยะเวลา 1 เดือน ในช่วงของความรุนแรง

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาราว 655,000 คน อพยพหลบหนีข้ามแดนมายังบังกลาเทศตั้งแต่เดือน ส.ค. จากสิ่งที่สหรัฐฯ และสหประชาชาติ ระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กล่าวว่า เขาไม่ได้รับการรับรองว่าผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศจะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่เพื่อสังเกตการณ์การเดินทางกลับของชาวโรฮิงญา

“เราไม่พบว่ามีความสนใจ หรือความต้องการที่จะเชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานขอเราเข้าไปมีส่วนร่วม เราสงสัยในเรื่องนี้” เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน กล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุเมื่อวันจันทร์ (18) อ้างการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ว่า กองทัพพม่ายังคงเผาหมู่บ้านชาวโรฮิงญาในช่วงที่มีการลงนามข้อตกลงส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศ โดยกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ข้อตกลงส่งตัวกลับเป็นเพียงการแสดงประชาสัมพันธ์ และได้กล่าวเตือนว่า โรฮิงญาจะไม่ปลอดภัยในรัฐยะไข่ หากยังปราศจากการรับประกันสิทธิเท่าเทียม และการคุ้มครอง

ข้อมูลที่เอเอฟพีรวบรวมได้จากโรฮิงญาพลัดถิ่นในบังกลาเทศ พบว่า มีผู้ลี้ภัยไม่กี่คนที่ต้องการเดินทางกลับ

“เราจะไม่กลับไปประเทศของเราจนกว่าจะได้สิทธิของเรา เราต้องการเป็นพลเมืองอย่างสมบูรณ์และกลับไปอยู่ในที่ดิน และทรัพย์สินของเรา เราต้องการความยุติธรรมสำหรับคนของเราที่ถูกสังหาร ถูกทรมาน และข่มขืน” ผู้ลี้ภัยโรฮิงญารายหนึ่งจากค่ายในบังกลาเทศ กล่าว

องค์กรการกุศลอ็อกแฟม (Oxfam) ของอังกฤษ ระบุในรายงานฉบับใหม่ ว่า โรฮิงญาจำนวนมากหวาดกลัวที่จะกลับประเทศ และยังไม่ต้องการตัดสินใจจนกว่าจะได้การรับรองความปลอดภัย

อองซานซูจี ผู้นำพม่า กล่าวว่า ปฏิบัติการความมั่นคงต่อผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาได้ยุติลงตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. และในการตอบสนองต่อแรงกดดันของต่างชาติ รัฐบาลพม่าได้ลงนามข้อตกลงกับบังกลาเทศที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยมุสลิมกลับภายใน 2 เดือน โดยข้อตกลงให้คำมั่นว่า เป็นการเดินทางกลับอย่างปลอดภัย และด้วยความสมัครใจของผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ซึ่งไม่เพียงแค่ผู้ลี้ภัยกลุ่มล่าสุด 655,000 คน แต่ยังรวมถึงผู้ที่อพยพจากความรุนแรงก่อนหน้าในเดือน ต.ค.2559 ด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น