xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นสุดข้อสงสัย 40 ปี ตอนขึ้นสกัด Tu-95 "พี่หมีใหญ่" เหตุใด F-4 "แฟนทอม" สหรัฐบินหงายท้อง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<br><FONT color=#00003>เอฟ-4 แฟนทอม บินหงายท้องอยู่ใกล้ๆ พี่หมีใหญ่ Tu-95 เป็นภาพปริศนามานานกว่า 40 ปี สัปดาห์ที่แล้วบุคคลที่เป็นผู้ถ่ายภาพนี้ ได้ออกเปิดตัวครั้งแรก และ ไขข้อข้องใจให้ผู้คนทั่วโลก -- เป็นเหตุการณ์สนุกๆ ระหว่างนักบินสหรัฐกับนักบินโซเวียต ในช่วงปี่ที่เริ่มเป็นมิตรกันมากขึ้น. -- Robert M Sihler.</b>

MGRออนไลน์ -- ภาพเครื่องบิน F-4 แฟนทอม (Phantom II) ลำหนึ่งที่บินหงายท้อง อยู่ใกล้ๆ กับเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์แบบ Tu-95 "Bear" ของสหภาพโซเวียตเมื่อหลายทศวรรษก่อน ได้เป็นปริศนามาชั่วกาลเวลา นับตั้งแต่มีการเผยแพร่ภาพ "แฟนทอมบินหงายท้อง" เป็นครั้งแรก โดยนิตยสารทางการทหารของสหรัฐ ในช่วงหลังสงครามเวียดนาม เมื่อสัก 40 ปีที่แล้ว -- ผู้ที่เติบโตขึ้นมาในช่วงนั้น หลายคนคงจะเคยเห็น มาแล้ว -- แต่ก็ยังไม่เคยมีคำอธิบาย

จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วความกังขาทุกอย่างจึงหมดไป เมื่อเจ้าของภาพ ซึ่งเป็นอดีตนักบินผู้ช่วย บนแฟนทอมอีกลำหนึ่ง และ ผู้ถ่ายภาพ ได้ออกเปิดเผยว่า -- ภาพปริศนานั้น เกิดจากการเล่นกันฉันท์มิตร ระหว่างนักบินสหรัฐ กับ นักบินโซเวียต ตามคำขอของฝ่ายหลัง

เรื่องนี้เริ่มต้นจากการที่มีคนนำภาพนี้ ออกเผยแพร่ทางทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา -- จนถึงขณะนี้ภาพทวิตเตอร์ภาพนั้น มียอดแชร์เกือบ 4 แสนครั้ง -- และ เว็บไซต์เอวิเอชั่นนิสต์ ซึ่งเป็นเว็บข่าวเกี่ยวกับการบิน ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ได้นำไปเผยแพร่ต่อ โดยยังไม่มีใครอธิบายได้ว่า เหตุการณ์นี้คืออะไร และ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ทุกฝ่ายทราบดีว่า ในภาพนี้เป็นการบังคับให้เครื่องบินหมุนรอบตัวด้วยความเร็ว ขณะบินด้วยความเร็ว เป็นสิ่งที่เหล่านักบินขับไล่ ในยุคนั้นเรียกว่า Barrel Rolls (กลิ้งถัง?) และ ในยุคหนึ่งเคยเป็นท่ายอดนิยม สำหรับแสดงการบินผาดแผลง -- แต่โดยเนื้อแท้แล้ว นี่เป็นหนึ่งในยุทธวิธี ที่นักบินนิยมใช้หลบเลี่ยง หลบหลีก ขณะทำ "ด็อกไฟต์" กับเครื่องบินฝ่ายข้าศึกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักบินแฟนทอมทำนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างการพันตูใดๆ กับฝ่ายใด หากเกิดจากความร่วมมือจาก นักบินกองทัพอากาศสหรัฐ กับนักบิน TU-95 ของกองทัพอากาศโซเวียต -- เป็นการ "จัดให้" ตามคำเรียกร้องขอ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่หาได้ยากยิ่ง ระหว่างสองฝ่ายที่ตรงข้ามกัน ทั้งบนเวทีการเมืองการทหาร ในระดับโลก -- ก็จึงกลายเป็นเรื่องสนุกๆ ที่ตกค้างมากจากยุคสงครามเย็น

เว็บไซต์เอวิเอชั่นนิสต์ ได้รับการติดต่อจากชายคนหนึ่งที่ชื่อ โรเบิร์ต เอ็ม ซีเลอร์ (Robert M Sihler) ซึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด พร้อมทั้งให้รูปภาพเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ในเหตุการณ์เดียวกัน ที่เจ้าตัวถ่ายเองกับมือ และ ยังคงเก็บไว้ -- นายซีเลอร์เกษียนจากกองทัพอากาศนานมาแล้ว ขณะดำรงยศนาวาอากาศโท

ซีเลอร์กล่าวว่า จำไม่ได้แน่ชัด เหตุเกิดตอนปลายปี 2516 หรือ ต้นปี 2517 กันแน่ -- แต่กองทัพอากาศนาโต้ในยุคโน้น ส่ง F-4 จำนวน 2 ลำ บินขึ้นเพื่อ "นำร่อง" Tu-95 ออกไปจากบริเวณใกล้เขตน่านฟ้าประเทศไอซ์แลนด์ ทางตอนเหนือสุดของมหาสมุทรแอตแลนติก -- นั่นเป็นยุคที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ และ สหภาพโซเวียต เริ่มผ่อนคลายลง (หลังมีการเจรจาและ มีทำสนธิสัญญาลด/ควบคุมอาวุธนิวเคลียร์หลายฉบับ -- บก.)

"กล่าวได้ว่า พวกเราทำการบินหมุนรอบตัวแบบนี้ ตามการร้องขอของลูกเรือฝ่ายโซเวียต พวกเขาถ่ายภาพพวกเราด้วยเหมือนกัน สงครามเย็นเริ่มผ่อนคลาย และ ทัศนคติต่อกันระหว่างสองฝ่าย ได้พัฒนาดีขึ้น" ซีเลอร์กล่าว
.

เมื่อถามว่า -- การทำ Barrel Rolls แบบนี้ ทำยากไหม หรือแฝงด้วยอันตรายอย่างไรหรือไม่ เจ้าตัวตอบอย่างจริงใจว่า "ไม่เลย ตอนนั้นพวกโซเวียตส่งสัญญาณมือ ขอร้องให้พวกเรา -- แสดง -- ให้พวกเขาดู การบินหมุนรอบตัวไม่มีอันตรายใดๆ เลย"

นั่นคือ เรื่องราวที่เคยเป็นความลี้ลับมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนามในเวียดนาม ซึ่งเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ F-4 แฟนทอม 2 เคยเข้าไปมีบทบาทอย่างสูง

ในสงครามเวียดนาม มีแฟนทอมถูกยิงตกไปหลายสิบลำ ขณะออกปฏิบัติการทิ้งระเบิด สนับสนุนหน่วยราบ -- หลายลำถูกยิงตกด้วย อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากดาศยาน หรือ SAM รุ่นต่างๆ แต่ก็ยังมีแฟนทอมอีกจำนวนมาก ถูก Mig-17 หรือ Mig-19 ของเวียดนามเหนือ ไล่ยิงตกอย่างง่ายดาย เพราะไม่มีทางต่อสู้ เนื่องจาก แฟนทอมรุ่นแรกๆ ไม่ได้ติดตั้งปืนใหญ่อากาศไปด้วย ทั้งเพื่อลดน้ำหนักให้เครื่องบินทิ้งระเบิดมีความคล่องตัว ทั้งเชื่อว่าโอกาสที่จะได้ทำ "ด็อกไฟต์" กับ เวียดนามเหนือนั้น แทบจะไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะสหรัฐเป็นฝ่ายครองน่านฟ้า

กองทัพสหรัฐในเวียดนามครั้งโน้น อาจจะลืมนึกไปว่า มิกของโซเวียตนั้น คล่องตัวสูงกว่าแฟนทอมมาก..

อย่างไรก็ตาม การพันตูระหว่างเครื่องบินรบสหรัฐ กับ "พี่หมีใหญ่" (Big Bear) อย่างที่หลายคนเรียกนั้น ยังคงดำเนินต่อมาตลอด 4-5 ทศวรรษ จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเคยมีอยู่หลายครั้ง กองกำลังป้องกันทางอากาศของญี่ปุ่นส่ง F-4 ของตน ขึ้น "นำร่อง" ออกไปจากเขตน่านน้ำและน่านฟ้า และ อีกหลายครั้งเช่นกันที่ส่ง F-15 ขึ้นปฏิบัติการแทน

ปัจจุบันสหรัฐ ได้ปลดประจำการแฟนทอมหมดทุกลำแล้ว และ F-18 "ฮอร์เน็ต" (Hornet/Super Hornet) ได้ทำหน้าที่ขึ้น "นำร่อง" แทน ทุกครั้งที่พี่หมีใหญ่บินโฉบเข้าใกล้เรือบรรทุกเครื่องบิน ในทะเลแปซิฟิก และ ในย่านแปซิฟิกตะวันตก และ หลายครั้งที่กองทัพอากาศ ส่ง F-22 "แรพเตอร์" (Raptor) ขึ้นตะเพิด ขณะบินโฉบเข้าใกล้ฐานทัพ -- ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ทั้งสองฝ่าย จนเป็นเรื่องปรกติ
.

วิดีโอเหตุการณ์วันที่ 10 ธ.ค.2560 Tu-95MS บินจากฐานทัพอากาศบิอัก (Biak) ในอินโดนีเซีย หลังเสร็จสิ้นการเยือนประเทศนี้ และ กลับถึงบ้านที่ฐานทัพอากาศในเขตอามูร์ (Amur) อย่างปลอดภัย โดยเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศเพียงครั้งเดียว เหนือทะเลโอคอสค์ (Okhotsk) กระทรวงกลาโหมรัสเซียแจ้งว่า พี่หมีใหญ่ปฏิบัติตามกฎสากลทุกประการ "ไม่มีการล่วงล้ำน่านฟ้าประเทศที่สาม" -- Russia's Ministry of Defence.

กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานตูโปเลฟ (Tupolev) ของโซเวียต เป็นผู้ออกแบบ Tu-95 และ ผลิตออกมากว่า 500 ลำ ในหลายเวอร์ชั่น ระหว่างปี 2495-2536 จึงเป็นเครื่องบินรบ ที่มีการพัฒนาต่อเนื่องยาวนานตลอด 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา จนกระทั่งเลิกผลิต -- แต่รัสเซียในยุคประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ฟื้นสายการผลิต Tu-95 อีกครั้ง และ เข็นลำแรกออกจากโรงงานได้สำเร็จในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นรุ่นใหม่ที่ทันยุคทันสมัย

แม้ว่าในยุคหลัง จะมี Tu-160 "หงส์ขาว" (White Swan) หรือ "แบล็กแจ็ค" (Blackjack) ตามที่ฝ่ายนาโต้เรียก กับ Tu-22M "แบ็คไฟร์" (Backfire) เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ ความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่แล้วก็ตาม ก็ยังมี "พี่หมี" อีกหลายสิบลำ" เหลืออยู่ในกองทัพอากาศ ทั้งหมดเป็นล็อตที่ผลิตในช่วง 30-20 ปีย้อนหลัง และ กำลังอยู่ระหว่างการอัปเกรด ติดตั้งระบบเอวิโอนิกส์ ระบบควบคุมอาวุธใหม่ทั้งหมด

Tu-95M รุ่นที่ผ่านการอัปเกรด เคยออกปฏิบัติการโจมตี กลุ่มก่อการร้ายไอซิสในซีเรีย ร่วมกับ Tu-160 กับ Tu-22M ให้เห็นมาหลายครั้ง -- พิสูจน์ความเป็นเครื่องบินรบยุคใหม่ ทั้งทิ้งระเบิด และ โจมตีเป้าหมาย ด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีชนิดร่อนหลายรุ่น

พี่หมีใหญ่เป็นเครื่องบินติดเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อพขนาดใหญ่ 4 เครื่อง มีใบพัดรวม 8 ใบ ใบพัดของเครื่องยนต์แต่ละเครื่อง อยู่ซ้อนกันและหมุนสวนทางกัน ทำให้เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีเสียงดังที่สุด เนื่องจากใบพัดหมุนเร็วกว่าความเร็วของเสียง -- และ ด้วยความเร็วสูงสุด 925 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เป็นเครื่องบินเทอร์โบพร็อพ บินเร็วที่สุดในโลก

ขนาดเล็กกว่า B-52 ที่เป็นคู่แข่งร่วมยุคเดียวกันของฝ่ายสหรัฐ อยู่เล็กน้อย รัศมีทำการก็ใกล้กว่า แต่บรรทุกสรรพาวุธได้มากกว่า ราว 5 ตัน Tu-95 จึงเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ ที่บรรทุกอาวุธได้มากที่สุดในโลก ทั้งลูกระเบิดและอาวุธปล่อยนำวิถีรุ่นใหม่ๆ เช่นที่เคยนำออกใช้ให้เห็น เป็นครั้งแรกในซีเรีย .
.

<br><FONT color=#00003>F-4 Phanthom ยังคงเป็นกำลังหลัก ในการขึ้นสกัด พี่หมีใหญ่ ตลอดมา จนกระทั่งถูกปลด ออกไปทั้ง หมด หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง. </b>
<br><FONT color=#00003>F/A-18 จากเรือบรรทุกเครื่องบินนิมิตซ์ (USS Nimitz, CVN68) บินขึ้นสกัด Tu-95 ที่บินเข้าใกล้รัศมีของเรือ ขณะแล่นอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น วันที่ 2 ก.พ.2548 -- วันนี้ ฮอร์เน็ต/ซูเปอร์ฮอร์เน็ต แม้กระทั่ง F-22 แร็พเตอร์ (Raptor) ได้ทำหน้าที่แทน F-4 Phantom แต่นักบินไม่ได้รับอนุญาตให้บินหงายท้อง เช่นเมื่อ 40 กว่าปีก่อนอีกแล้ว. -- US Navy Photo. </b>


กำลังโหลดความคิดเห็น