เอเอฟพี - กองทัพพม่ายังคงเผาหมู่บ้านชาวโรฮิงญาหลายสิบแห่งในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังลงนามข้อตกลงส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับบังกลาเทศ ความเคลื่อนไหวที่ชี้ให้เห็นว่า ข้อตกลงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่การประชาสัมพันธ์ ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าววันนี้ (18)
กลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม โดยระบุว่า สิ่งปลูกสร้างในหมู่บ้าน 40 แห่ง ถูกทำลายในช่วงเดือน ต.ค. และเดือน พ.ย. ทำให้จำนวนหมู่บ้านทั้งหมดที่ถูกเผาทำลายเพียงบางส่วน หรือทั้งหมู่บ้านนั้นเพิ่มเป็น 354 แห่ง นับตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. เป็นต้นมา
ในช่วงสัปดาห์เดียวกันกับที่พม่า และบังกลาเทศกำลังลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อเริ่มส่งผู้ลี้ภัยจากบังกลาเทศภายใน 2 เดือน เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ยังมีสิ่งปลูกสร้างหลายสิบแห่งถูกเผาทำลาย รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุ
“การทำลายหมู่บ้านชาวโรฮิงญาของกองทัพพม่าในช่วงการลงนามข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับบังกลาเทศแสดงให้เห็นว่า ความมุ่งมั่นที่จะส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับอย่างปลอดภัยนั้นเป็นเพียงการแสดงการประชาสัมพันธ์” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ภูมิภาคเอเชีย กล่าว
การโจมตีอย่างรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาในวันที่ 25 ส.ค. ส่งผลให้เกิดการปราบปรามตอบโต้ของทหารต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่
ชาวโรฮิงญามากกว่า 655,000 คน หลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศนับแต่นั้น พร้อมกับเรื่องราวน่าตกใจเกี่ยวกับการข่มขืน การสังหาร และการวางเพลิง
สหรัฐฯ และสหประชาชาติอธิบายกระบวนการที่เกิดขึ้นว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ขณะที่ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ระบุว่า ปฏิบัติการของทหารมีองค์ประกอบของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
“พม่ากำลังเล่นเกมที่ดูถูกเหยียดหยามอย่างที่สุด ขณะที่อองซานซูจี และคณะของเธอลงนามข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับที่ไม่มีการรับประกันอย่างแท้จริงถึงการคุ้มครองผู้เดินทางกลับ แต่ในพื้นที่ กองกำลังรักษาความมั่นคงกลับยังคงเผาหมู่บ้านที่ชาวโรฮิงญาต้องการกลับไปอยู่อาศัย” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ภูมิภาคเอเชีย กล่าว
กลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ระบุว่า พวกเขาจะคว่ำบาตรค่ายพักใหม่หากทางการพม่าตั้งขึ้นในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่
เมื่อสัปดาห์ก่อน องค์การแพทย์ไร้พรมแดน เผยผลสำรวจ พบว่า มีชาวโรฮิงญาเกือบ 7,000 คน ถูกฆ่าในเหตุการณ์ความรุนแรงรัฐยะไข่ แต่ทหารพม่าให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตในหลักร้อย และปฏิเสธว่ามุ่งโจมตีพลเรือน หรือกระทำทารุณ ขณะที่ซูจี กล่าวว่า ปฏิบัติการความมั่นคงหยุดไปตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.
พม่ากล่าวโทษการวางเพลิงหมู่บ้านว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้าย
“ผมไม่แน่ใจเกี่ยวกับจำนวนหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ” ซอ เต โฆษกรัฐบาล กล่าว โดยไม่ได้แสดงความเห็นต่อรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์.